พระสุเมธาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ราชวรวิหาร / เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญ

   วันนี้ขอเสนอ ชีวประวัติของพระเถราจารย์รามัญรูปสำคัญของคณะสงฆ์รามัญนิกายสยามวงศ์ อดีตพระสังฆราชาแห่งคณะสงฆ์รามัญนิกาย พระมอญรูปนี้ก็คือ..

 “พระสุเมธาจารย์ บริหารธรรมขันธ์ รามัญสังฆคณาธิบดี(ศรี)

เปรียญ ๔ ประโยครามัญ”

อดีตเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญ

อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ราชวรวิหาร (แภ่ยตองปุ) พระนคร

     พระสุเมธาจารย์ฯ(ศรี ป.๔ รามัญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม พระนคร ท่านมีนามเดิมว่า ศรี ชาติกำเนิดท่านเป็นบุตรของใครนั้น สืบความมิได้ ทราบเพียงว่า ท่านเป็นชาวมอญบ้านบางพูด แขวงปากเกร็ด เมืองนนทบุรี ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม ร.ศ. ๕๔ จ.ศ. ๑๑๙๗  ตรงกับวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๗๘ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี

    ในวัยเยาว์ ขณะที่อายุท่านได้ ๑๐ ปี ท่านได้ไปเล่าเรียนอักษรสมัยภาษามอญอยู่ในสำนักของพระอาจารย์นัน วัดศาลทอง ต่อมาจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้มาเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักวัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาส) เกาะเกร็ด ต่อมาท่านได้ติดตามพระอาจารย์นันท์ มาอยู่ที่วัดชนะสงคราม พระนคร จนกระทั่งท่านมีอายุครบเกณฑ์บวช จึงได้เดินทางกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิด และได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางพูด เมืองนนทบุรี เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ โดยมี พระปลัด เจ้าอธิการวัดบางพูด เป็นพระอุปัชฌาย์

    โดยหลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระสงฆ์แล้วนั้น ท่านได้เดินทางกลับไปเล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อยังวัดชนะสงคราม พระนคร ตามเดิม กระทั่งท่านได้เข้าแปลบาลีรามัญ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) พระนคร จนท่านสอบไล่ได้เปรียญ ๔ ประโยครามัญ ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูราชปริต ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ ในการกระทำพระราชพิธีเศกน้ำทรงพระพักต์พระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมมหาราชวัง และต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล(วัดลิงขบ) ได้ว่างลง ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรมงคล(วัดลิงขบ) สืบแทน กระทั่งในช่วงปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามได้ว่างลง เมื่อราวปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐ ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ที่ พระอุดมญาณ แล้วโปรดเกล้าฯอาราธนาให้มาครอง วัดชนะสงคราม พระนคร สืบต่อไป

   ในช่วงที่ท่านเจ้าคุณฯศรี มาเป็นเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามนั้น ท่านได้พัฒนาวัดชนะสงครามต่อจากสมภารองค์ก่อนมาตามลำดับ ท่านได้ทำหน้าที่ของสมภารเจ้าวัด ปกครองอันเตวาสิกในสัทธิวิหาริกของท่านได้เป็นอย่างดี ไม่มีอะไรด่างพล้อย ท่านได้รับภาระธุระในการส่งพระสงฆ์มอญเข้าไปเจริญพระปริตในวังอยู่สม่ำเสมอ และท่านยังได้ส่งเสริมการศึกษาให้กับพระภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมบาลีรามัญด้วย กระทั่งในรัชสมัยของพระปิยมหาราช ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ปีใดไม่แน่ชัด ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ที่ “พระสุเมธาจารย์ บริหารธรรมขันธ์ รามัญสังฆคณาธิบดี” และโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญนิกาย หรือที่เราเข้าใจกันง่ายๆก็คือ “พระสังฆราชฝ่ายรามัญ” นั่นเอง

   ท่านได้ปกครองคณะสงฆ์รามัญนิกาย ด้วยความเรียบร้อยสืบมา ต่อมาในปีใดไม่แน่ชัด พระสุเมธาจารย์(ศรี ป.๔ รามัญ) ต้องความผิด ฐานด้วยเหตุที่ท่านลงทัณฑกรรม พระปลัด วัดปรมัยยิกาวาส เกินความผิด เกิดเป็นข้ออธิกรณ์ขึ้น กระทั่งศาลพิจารณาเห็นว่าท่านผิดจริง จึงสั่งลดสมณศักดิ์เหลือที่ พระอุดมญาณ ตามเดิม และปลดท่านจากตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญนิกาย ด้วย แต่ด้วยท่านเป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพของคณะสงฆ์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ และท่านยังได้มีคุณูปการต่อกิจการคณะสงฆ์รามัญเป็นอย่างมาก กระทั่งถึงปีชวด ร.ศ.๑๐๗  พ.ศ. ๒๔๓๑ ท่านเจ้าคุณฯ ศรี ป.๔ รามัญ จึงได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์คืน ที่ “พระสุเมธาจารย์ บริหารธรรมขันธ์ รามัญสังฆคณาธิบดี” ตามเดิม และยังโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญนิกาย อีกตามเดิมด้วยเช่นกัน

   พระสุเมธาจารย์ฯ(ศรี ป.๔ รามัญ) ท่านได้อาพาธและได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันศุกร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด ร.ศ. ๑๓๑ จ.ศ. ๑๒๗๔ ตรงกับวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ซึ่งตรงกับรัชสมัยใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ สิริรวมอายุของท่านได้ ๗๗ ปี พรรษา ๕๖

 

**************************

 

เรียบเรียงโดย :  ขุนแผน แดนรามัญ
ขอขอบพระคุณแหล่งที่มาของข้อมูล
            – ข้อมูลประวัติจาก หนังสือ ประวัติการพระราชทานสถาปนาเลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๕๓๔
            – ข้อมูลภาพจาก หนังสือ ประวัติการพระราชทานสถาปนาเลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๕๓๔

Leave a Reply