อาลัยแด่พระครูประโชติรัตนานุรักษ์: พระผู้เสียสละจนวาระสุดท้าย

เมื่อค่ำคืนราว ๒​ ทุ่มเศษ เสียงไลน์ดังขึ้น ผู้เขียนหันไปหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู ก็เห็นภาพพระภิกษุรูปหนึ่ง ยืนสงบนิ่ง เป็นภาพที่เห็นชินตาปรากฏขึ้น พร้อมข้อความด้านล่างรายงานการมรณภาพของพระ ๓ รูป บาดเจ็บ ๒​ รูป วัดรัตนานุภาพ จ.นราธิวาส จากการกราดยิงของคนร้าย ในข้อเขียนไม่ได้ระบุชื่อพระที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ ก่อนจะตามมาด้วยข้อความถามหารายละเอียดว่าใครเสียชีวิต แล้วรูปที่ส่งต่อกันมานั้นหมายถึงอะไรได้อ่านข้อความต่อมา “ท่านเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต”  รีบเช็คข้อมูลทางผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆโดยหวังว่าข้อมูลที่ได้รับนี้จะผิดพลาด แต่ทุกคนยืนยันตรงกันว่า “ท่านพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (พ่อท่านหว่าง) เป็นหนึ่งในพระที่เสียชีวิตจริง” ณ เวลานั้นหัวใจเหมือนหยุดนิ่งไปชั่วขณะ หัวสมองมึนงง รู้สึกได้ถึงหน้าร้อนผ่าวขึ้นทั้งที่อากาศรอบกายหนาวเย็น เป็นอีกหนึ่งข่าวที่เลวร้ายที่สุดที่สั่นสะเทือนความรู้สึกในฐานะชาวพุทธและคนร่วมงานกันในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

อยากจะเขียนบอกเล่าบางอย่างไว้ในที่ไหนสักที่ เพื่อย้ำเตือนความทรงจำให้คนไทยได้รับรู้ว่า เราได้สูญเสียใครไป!!!

 

ท่านพระครูฯ หรือที่ชาวใต้มักเรียกพระว่า “พ่อท่าน” จนเรียกติดปากว่า “พ่อท่านหว่าง” ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ เจ้าคุณอำเภอสุไหงปาดี ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ตอนที่รู้จักกับท่านคือตอนที่ผู้เขียนได้ไปร่วมกันทำงานในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ในฐานะพระวิทยากรจากกรุงเทพมหานครร่วมกับพระในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนและเยาวชนชาวพุทธ

ด้วยการทำงานทำให้ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน สิ่งที่จำได้อย่างดี คือท่านพระครูเคยบอกว่า “ท่านมหา ผมว่าจะเดินทางไปช่วยเหลือชาวพุทธที่กำลังลำบากอยู่ที่กรุงเทพตอนนี้” ผู้เขียนคิดในใจว่า “ขนาดที่วัดท่าน (วัดรัตนานุภาพ) อยู่ในพื้นที่ก็ลำบากอยู่แล้ว ท่านยังคิดจะไปช่วยคนอื่นก่อนอีกหรือ” แต่ความคิดของท่านในวันนั้นทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า “เราควรเห็นใจกันและกัน ใครลำบากหรือทุกข์อยู่ที่ไหน เราไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่ทิ้งกัน ใจและช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้” ดังจะเห็นได้จากช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อเราเผชิญหน้ากับภัยพิบัติต่างๆจะพบว่าทุกคนต่างหันมาช่วยกัน เช่น น้ำท่วมภาคใต้มีชาวพุทธและชาวไทยจากภาคต่างๆ มาช่วยเหลือ หรือน้ำท่วมภาคอีสานก็มีชาวพุทธและชาวจากภาคใต้ไปช่วยเหลือ หรือแม้แต่แผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล ก็มีชาวพุทธไทยและชาวโลกร่วมกันช่วยเหลือ เป็นต้น ถ้าเราเลือกแต่จะมองปัญหาตัวเองโดยไม่สนใจใครอื่น ภาพแบบนี้คงไม่เกิด เช่นเดียวกัน ถ้าพ่อท่านหว่างเลือกจะไม่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสก็ได้ แต่เพราะท่านไม่ทิ้งคนที่ทุกข์ และไม่นิ่งเฉยต่อความลำบาก ท่านจึงไม่หนีไปไหน และพร้อมจะช่วยเหลือคนที่ทุกข์นั้นอย่างไม่กลัวเกรงสิ่งใด “ผมไม่หนี ถ้าไม่ตาย ไม่ขอเลือกทำความดี”คำที่ท่านพูดบ่อย

 

ในเฟสบุ๊คของพระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท หนึ่งในพระวิทยากรจากกรุงเทพมหานครที่ทำงานร่วมกับท่านพระครูฯ ในฐานะผู้ประสานงานในโครงการพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ได้เขียนเล่าความรู้สึกหลังจากได้ทราบข่าวว่า

“ท่านมหาตอนเด็กๆบ้านผม (พระครูประโชติรัตนานุรักษ์) อยู่แถวนี้แหละแม่น้ำสายนี้แหละผมกระโดดเล่นทุกวัน (แม่น้ำที่กั้นระหว่างเขตแดนไทยมาเลเซียด่านสุไหงโก-ลก)แถวนี้เป็นแหล่งทำมาหากินของผมผมเกิดที่นี่พ่อแม่ปู่ย่าตายายผมเป็นคนที่นี่นราธิวาสผมเรียนที่นี่รุ่นผมมีชาวพุทธสองคนทุกคนเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกันไม่ว่าจะศาสนาไหนผมภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งได้ไปเลี้ยงอาหารรุ่นน้องที่โรงเรียนไปเยี่ยมครูสอนไปเยี่ยมผู้อำนวยการเป็นความสุขที่หาอะไรมาเปรียบไม่ได้เพราะนี่คือบ้านเกิดของผมบ้านที่ผมรัก

ชีวิตผมเกิดมาชาติหนึ่งได้สร้างวัดด้วยตนเองถวายเป็นพุทธบูชา ผมมาอยู่ที่นี่ (บ้านโคกโก)ตั้งแต่ยังไม่มีอะไร ผมเริ่มสร้างศาลาหลังแรกคือ ศาลาการเปรียญ (ศาลาโรงธรรม) ใช้ชื่อว่า ธรรมานุภาพ แล้วก็สร้างศาลาโรงฉัน ใช้ชื่อว่าสังฆานุภาพสิ่งที่ผมจะสร้างเป็นสิ่งสุดท้ายคือพระอุโบสถ เป็น “พุทธานุภาพ” รวมทั้งหมดเข้าด้วยจึงเป็น วัดรัตนานุภาพ

แต่ก็น่าเสียดาย ท่านกำหนดงานปิดทองฝังลูกนิมิตในเดือน พฤษภาคม ศกนี้ตอนที่ท่านเดินทางมาดูลูกนิมิตรลูกเล็ก (๑,๒๕๐ ลูก)และพระประธานชั้นล่างของพระอุโบสถที่จังหวัดนคราาชสีมาก็ได้ร่วมเดินทางไปด้วยท่านบอกว่า “ท่านมหาผมไม่ได้หยิ่งนะ จะร่วมบุญลูกนิมิตรต้องลงไปทำเองที่วัดรัตนานุภาพนะแล้วท่านก็หัวเราะ”

ท่านเล่าให้ฟังว่า ในชีวิตผมไม่อยากได้ยินคำว่า มีวัดร้างในพื้นที่ที่ผมอยู่ เคยมีช่วงหนึ่งมีวัดหนึ่งชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง อยากทำบุญ อยากทำฟังธรรม แต่ไม่มีพระผมคุยกับชาวบ้านโคกโกว่า วันพระ ช่วงเช้าจะไปที่โน้นให้ชาวบ้านได้ทำบุญต้องเดินเท้าไปแต่ช่วงเย็นของอีกวัน ไปถึงก็ดึกตื่นเช้ามาชาวบ้านทำบุญเสร็จ ก็ต้องรีบเดินทางกลับมาให้ทันเพลที่วัดโคกโกเพราะชาวบ้านรออยู่

ท่านมหาลองนึกภาพดู มีวัดแต่ไม่มีพระอยู่เจ็บปวดใจนะ คนเฒ่าคนแก่มาวัด เห็นจีวรตากหน้าศาลาก็ยังอุ่นใจถ้าไม่มีพระสงฆ์ทำหน้าที่ นั่นหมายถึงลมหายใจของพระพุทธศาสนาหมดไปแล้ว

ท่านพูดย้ำให้ฟังตลอดว่า พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่รักสูงสุดของผมลมหายใจที่มีอยู่ขอถวายเป็นพุทธบูชาและขอทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ”

………..

  ท่านมีความเสียสละ ไม่ทนนิ่งเฉยจนวาระสุดท้าย

เรามาช่วยกันบอกต่อสิ่งดีๆที่เราได้รับรู้เกี่ยวกับท่านให้กระจายออกไปเพื่อคนดีได้รับรู้คงจะไม่นิ่งเฉย ให้ใครต้องทนทุกข์โดยไม่ช่วยเหลืออีกต่อไป

 

 

 

คอลัมน์ :        ตื่นข่าว

ผู้เขียน :          กิตติเมธี

Leave a Reply