‘ธรรมกาย-อบต.คลองสาม’ ขับเคลื่อน’วัดฯ สร้างสุข วิถี 5ส’

คณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ร่วมมือวัดพระธรรมกาย อบต.คลองสาม และชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนโครงการวัดฯ สร้างสุข มุ่งสร้างสัปปายะด้วยวิถี 5ส แบบมีส่วนร่วม เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมศีลธรรม ตามมติ มส. และคณะสงฆ์ปทุมธานี

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ศูนย์สื่อมวลชน วัดพระธรรมกาย ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (สร้างสัปปายะด้วยวิถี 5ส) ตามมติมหาเถรสมาคม และคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี ระหว่าง พระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย, ผศ. (พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสาม, นายสถาพร มาทรัพย์ กำนันตำบลคลองสาม, นายชัยชนะ จันทร์ทรานนท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลคลองสาม, นายวีระ วงษ์มั่งมี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลคลองสาม และนายองอาจ ธรรมนิทา ผู้แทนคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินงานโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข (สร้างสัปปายะด้วยวิถี 5ส) โดยพัฒนาพื้นที่วัดให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม, การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ, การพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้, การพัฒนาพื้นที่จิตใจและปัญญาเชิงพุทธ และสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างวัดกับชุมชน ทำให้วัดมีความมั่นคง ชุมชนมีความเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป

สำหรับโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข นั้น มีฝ่ายสาธารณูปการ ของมหาเถรสมาคม ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ มีสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ (สสส.), กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, บริษัทเอกชน และองค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ร่วมดำเนินการฯ

โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบและนำแนวคิดของ 5ส ซึ่งประกอบไปด้วย สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย ลงสู่บริบทของวัด 2) เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพ การเรียนรู้ และจิตใจ 3) เพื่อให้การขยายผลแนวคิดของ 5ส หลักสัปปายะ และหลักความความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ประชาชน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง 4) เพื่อพัฒนาจัดระบบฐานข้อมูลความรู้ในการพัฒนาวัดเพื่อส่งเสริมสุขภาวะด้านจิตวิญญาณ และเพื่อเป็นเครื่องมือในการออกแบบและปรับปรุงกายภาพของวัดให้เป็นสัปปายะสถาน และการพัฒนาสู่วิถีแห่งอารยชน 5) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมไทยรวมถึงกลุ่มวิชาชีพ ตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม การมีจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน 6) เพื่อส่งเสริมให้วัดมีผังแม่บทและแผนการพัฒนา สู่ความเป็นสัปปายะและพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมคุณภาพทางจิตวิญญาณให้กับสังคมไทย

Leave a Reply