บันทึกความจำช่วยน้ำท่วมรัฐมอญ “เผชิญชายถือปืนขอค้นกลางป่า” (1)

          ผมเคยโพสไว้ในเฟชบุ๊คส่วนตัวว่า จะเล่าเรื่องไปช่วยน้ำท่วมรัฐมอญ ประเทศเมียนมาผ่านคอลัมนิสต์ “ริ้วผ้าเหลือง” ทางนสพ.เดลินิวส์ออนไลน์  และเวปไซต์ “thebuddh.com” จนแล้วจนรอด ยังหาเวลาว่างไม่ได้ เพื่อเขียนแบบละเอียดผ่านเวปไซต์ thebuddh.com จนปล่อยให้เรื่องมันแทบกลายเป็นความจำอันเลือนลาง จนวันนี้วันที่ 9 เดือน 9 ปี 19 มีเวลาเป็นส่วนตัวจึงมีเวลาเขียน  เหตุผลที่อยากจะเล่าเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และเล่าเรื่องสภาพบ้านเมืองของประชาชนในรัฐมอญให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า บ้านเขา เมืองเขา อยู่กันในสภาพเช่นใด สถาบันสงฆ์มีอิทธิพลต่อวิถีชาวบ้านมากน้อยแค่ไหน

การเกิดน้ำท่วม ดินถล่ม ในรัฐมอญ ประเทศเมียนม ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากนั้น เกิดขึ้นก่อนในประเทศหลายประมาณเดือนกว่า ๆ  ผมในฐานะเป็นคนไทยเชื้อสายมอญและเป็นเลขาธิการมูลนิธิ ซึ่งเป็นองค์กรศูนย์กลางมอญเมืองไทย  ร่วมทั้งเป็นเลขาธิการสมาคมการค้าไทย -เมียนมา  ได้ทำงานเชื่อมโยงระหว่างองค์กรสองประเทศ เกือบทุกระดับ ทั้งในระดับคณะสงฆ์ คือ พยายามเชื่อมโยงระหว่างคณะสงฆ์รามัญนิกาย มหาวิทยาลัยรามัญญรัฎฐะ กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แม้กระทั้ง การไปถวายผ้าไตรกับพระภิกษุสงฆ์ผู้สอบบาลีจำนวน 300 ไตร เมื่อปีที่ผ่านมา และเราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มาหลายปีแล้ว ระหว่างประชาชนกับประชาชนทางมูลนิธิรามัญรักษ์ก็มีการเชื่อมโยงอาทิเช่น การไปมอบทุนการศึกษา แจกอุปกรณ์การศึกษา แจกข้าวสารอาหารแห้งตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา ซึ่งกิจกรรมนี้กระทำมาแล้ว 5 ปี การไปช่วยเหลือน้ำท่วมในรัฐมอญคราวนี้ก็มีลักษณะและเป้าหมายเดียวเฉกเช่นเดียวกัน  ส่วนในระดับนักธุรกิจก็มีการเชื่อมโยงผ่านสมาคมการค้าไทย -เมียนมา กับสมาคมนักธุรกิจมอญในรัฐมอญ มีการเซ็นทำ MOU ร่วมกัน ทั้งหมดทั้งมวลคือ สิ่งที่ผมและมอญในประเทศไทยและมอญในประเทศพม่า กระทำร่วมกัน โดยอาศัยองค์กรเป็นกลไกในการเชื่อมและขับเคลื่อน

            น้ำท่วมรัฐมอญคราวนี้ ก่อให้เกิดความสูญเสียไม่เฉพาะประชาชนชาวมอญเท่านั้น ประชาชนชาวพม่า กะเหรี่ยง ก็สูญเสียเช่นกัน บางพื้นที่มีประชาชนต่างศาสนาเช่น คนมุสลิม ด้วย

            ในวันที่ 25 สิงหาคม ผมและคณะนัดหมายกันไว้ เวลา 13.00 น. รวมพลกันที่ตึก IBSC มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แต่เนื่องจากคณะมาจากหลายจังหวัดกว่าจะได้ออกสตาร์ทจริง ๆ ประมาณ 15.00 น. โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติเป็นประธานมอบเงินส่วนหนึ่งพร้อมกับนักศึกษาโครงการสันติศึกษา ร่วมส่งคณะเรามีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสประมาณ 40 กว่าชีวิต เป้าหมายคือ แม่สอด จังหวัดตาก การเดินทางในคราวนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิรามัญรักษ์ทั้งเรื่องวีซ่า ค่าเดินทาง ที่พักและอาหาร ส่วนเรื่องรถขนส่ง การอำนวยความสะดวกอื่น ๆ  ที่ขาดเหลือมีสมาคมการค้าไทย -เมียนมา เป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น

            คณะเราเดินทางถึงแม่สอดประมาณ 23.00 น. เดิมผู้ประสานงานของสมาคมการค้าไทย -เมียนมา จองไว้โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่เมื่อไปถึงทางเจ้าหน้าที่โรงแรมแจ้งว่าพระภิกษุสงฆ์ไม่อนุญาตให้เข้าพักได้ เนื่องจากเป็นกฎระเบียบของโรงแรม พวกเราติดขัดเล็กน้อย ต้องไปหาโรงแรมอีกแห่ง หากจำไม่ผิดชื่อโรงแรมPS เมื่อไปถึงโรงแรมเราแจ้งว่ามีพระภิกษุร่วมด้วย ทางโรงแรมแจ้งว่าพระภิกษุพักได้ และอยู่ในกลุ่มคนชรา คนตั้งครรภ์คือพักฟรี  เมื่อจองห้องพักเรียบร้อย นายกสมาคมการค้าไทย -เมียนมา คุณสุวรณิสา แน่งน้อย ซึ่งเป็นคนดูแลทีมงานทั้งหมด ได้พาพวกเราซึ่งเป็นฆราวาสไปทานข้าวต้ม กว่าจะกลับถึงห้องเกือบตีหนึ่ง และนัดหมายกันไว้ 07.00 น. ออกเดินทางเข้าไปอย่างฝั่งพม่า

            หลังรับประทานอาหารเช้าเสร็จพวกเราออกจากโรงแรม แต่เกิดปัญหาเพราะคณะหนึ่งที่ประสานกันไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะตามไปด้วยมีคนประมาณ 4 -5 คน ไม่มีที่จอดรถและมีสิ่งของบริจาคติดมาด้วย พวกเราจึงต้องแยกทีมเพื่อประสานรถขนของและที่หาที่รับฝากรถ จึงไปอย่างบริษัทชิบปิ้งแห่งหนึ่ง ซึ่งทางนายกสมาคมการค้าไทย -เมียนมาใช้บริการประจำ เมื่อไปทำให้รู้ว่าของบริจาคอีก 2 คันหกล้อยังข้ามฝั่งไปไม่ได้ เนื่องจากศุลกากรพม่าไม่อนุญาต ส่วนอีกคณะหนึ่งของพวกเราที่เป็นคณะใหญ่มีพระทั้งพระสงฆ์และฆราวาสข้ามฝั่งไปแล้ว สุดท้ายรอเคลียร์เกือบครึ่งวันไม่จบ ผมและคณะข้ามไปฝั่งพม่า เพื่อดูแลอาหารการฉันของพระคุณเจ้า ส่วนของบริจาครอตามมาทีหลัง  หลังพระฉันเสร็จ พวกเรากินข้าวกันเรียบร้อย ของบริจาคด่านพม่าก็ยังไม่ให้เอาเข้ามา อ้างมาต้องทำเรื่องอย่างน้อย 7 วัน ดูแลมันติดขัดไปหมด จนนายกสมาคมการค้าไทย – เมียนมา ต้องใช้กำลังภายในคือยกหูไปทางผู้ใหญ่เนปิดอว์ให้ช่วย  แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติง่าย ๆ ประมาณ 14.00 น. คณะเราขอเข้าไปคุยที่ทำงานเจ้าหน้าที่ระดับสูง เจ้าหน้าที่อ้างว่ากำลังรับประทานอาหารอยู่ไม่สะดวก สุดท้ายกว่ารถจะข้ามแดนมาได้เวลาประมาณ  16.00 น. เกือบค่ำแล้ว  ตอนหลังทราบว่าเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรพม่าเข้มงวด เพราะมีพวกอาศัยจังหวะช่วยน้ำท่วมขนของแบบนี้ ขนไม้เถื่อนและยาเสพติดด้วย จึงต้องเข้มงวด

            คณะเรากว่ายกของบริจาค  2 คันหกล้อจากประเทศไทย ขนขึ้นรถหกล้อของพม่ากินเวลาไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง กว่าจะได้ออกจากเมียวดี เป้าหมายเมืองเมาะลำเลิงก็ประมาณ 18.30 น. คือ ค่ำแล้ว ท่ามกลางฝนตก ถนนลื่น และรถบรรทุกจนเรียงรายตลอดทาง โดยมีด่านตรวจเป็นระยะ ๆ  รถที่ผมนั่งเป็นรถส่วนบุคคล มีพระรูปหนึ่งนั่งอยู่ด้านหน้าข้างคนขับ ผมนั่งกลาง ด้านหลังผมมีนายกสมาคมการค้า-เมียนมา พร้อมเงินพม่าเป็นถุงปุ๋ยติดด้วย

            เมื่อออกจากเมืองเมียวดีได้ประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นภูเขา ถนนหนททางคดเคี้ยว ข้างทางเป็นเหวลึก มีอุบัติเหตุรถบรรทุกยางแตก ขวางถนนรถติดหลายกิโลเมตร รถไม่สามารถไปได้ ต้องจอดรออีกนาที ท่ามกลางฝนตกพรำๆ  อากาศเย็น ไม่มีไฟฟ้า มึดตลอดทาง ตลอดการเดินทางค่ำคืนนี้เจอรถติดยาวเหยียดหลายกิโลเมตร หลังลงจากเขาประมาณ 5 กม.มี 3 ทางแยกรถนำหน้าขบวนเราแยกไปทางซ้ายซึ่ง “อะโก” คนขับรถบอกว่า เป็นทางลัดและเป็นเขตปกครองของทหารกะเหรี่ยง รถเราวิ่งบนถนนลูกรัง นาน ๆ ครั้งจะมีรถผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุก มองออกไปข้างทางมีแต่สภาพน้ำท่วมและน้ำขัง ถนนลูกรังเหมือนบ่อพระจันทร์รถต้องหักหลบไปมาตลอดทาง  นานจะเจอด่านตรวจสักครั้ง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ส่งไฟฉายมา ทางอะโก ก็จะตระโกนบอกเป็นภาษาพม่าว่า “รถไปบริจาคช่วยน้ำท่วม” และแล้วสิ่งที่ทำให้ผมตกใจสุดขีดและกลัวจนนิ่ง ได้แต่ภาวนาพุทโธ คือ จู่ๆ มีชายสองคนพรวดออกมาจากข้างทางออกมาขวางรถ ชายคนหนึ่งถือไฟฉายอีกคนหนึ่งถือปืนพร้อมลั่นไก ขอตรวจค้นรถท่ามกลางความตกใจของคนขับและคนในรถ !! ว่าง ๆ  เดียวมาเขียนเล่าต่อครับว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้..

 

********************

Leave a Reply