วันนี้เวลา 14.00 น. ณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงเป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม
ในการนี้เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า จังหวัดต่าง ๆ ได้ส่งคำขออนุญาตตั้งวัด เพื่อให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการตามกฎกระทรวง การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัด การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา พ.ศ. 2559 ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2535 หมวด 2 เรื่องตั้งวัด ทั้งสิ้น 185 วัด
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เสนอรายงานขออนุญาตตั้งวัด โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองการตั้งชื่อวัดได้ประชุมพิจารณากลั่นกรองการตั้งชื่อวัด ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 รวมทั้งสิ้น 185 ราย เสร็จเรียบร้อยแล้ว รายละเอียดตามบัญชีรายงานขอตั้งวัดที่แนบถวายในที่ประชุม ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบการขออนุญาตตั้งวัด พร้อมทั้งเห็นชอบการตั้งชื่อวัดตามที่คณะกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองการตั้งชื่อวัด รวมทั้งสิ้น 185 วัด และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
จากการสอบถามของเลขาธิการมหาเถรสมาคมแจ้งว่า “ ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2562 นี้ มหาเถรสมาคมมีมติเห็นชอบการขออนุญาตตั้งวัด ทั้งสิ้น 4 ครั้ง รวมมีวัดที่ได้รับการพิจารณาและกลั่นกรองและมติเห็นชอบการขออนุญาตตั้งวัด จำนวนรวมทั้งสิ้น 560 วัด”
การตั้งวัด
การตั้งวัด เป็นกระบวนการเพื่อทำให้วัดที่ได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้น เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งในการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขั้นตอนและวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2507) ออกตามความใน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 หมวด 2 การตั้งวัด โดยวัดที่ขอตั้งเพื่อให้เป็นวัดที่ถูกต้อง จะต้องผ่านการได้รับการอนุญาตให้สร้างวัด แล้วจึงดำเนินการขออนุญาตตั้งวัด โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่เกี่ยวเนื่อง และสอดคล้องกับการขออนุญาตสร้างวัด ดังนี้
หลักเกณฑ์การขออนุญาตตั้งวัด
1. เรื่องที่ดิน วัดต้องตั้งอยู่ในที่ดินที่มีเนื้อที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันไม่น้อยกว่า 6 ไร่ โดยไม่มีทางสาธารณะ หรือลำคลองกั้นกลาง และต้องไม่เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์หรือที่หลวงหวงห้าม
2. กรณีเป็นที่ดินของเอกชนเจ้าของที่ดินจะต้องทำหนังสือสัญญายกที่ดินให้สร้างวัด และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้วัด เมื่อได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดแล้ว
3. หากเป็นที่ดินของทางราชการ จะต้องผ่านขั้นตอนการขอใช้ที่ดินของทางราชการเพื่อสร้างวัด จนได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อสร้างวัดจากส่วนราชการผู้ดูแลรักษาที่ดินนั้นๆ ก่อน
4. แผนผังแสดงอาคารเสนาสนะและสิ่งปลูกสร้าง ให้แสดงขนาดและตำแหน่งอาคารต่าง ๆ ที่ได้สร้างขึ้นแล้วและที่จะสร้างขึ้นในอนาคต ทุกรายการให้ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยขอบเขตของที่ดินในแผนผัง ต้องมีรูปและขนาด ตรงตามรูปแผนที่แนบท้ายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินที่ใช้สร้างวัด มีมาตราส่วนและเครื่องหมายทิศประกอบ เพื่อสะดวกในการตรวจสอบและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาวัดในโอกาสต่อไป
5. แผนที่ตั้งวัดให้แสดงจุดที่ตั้งวัด พร้อมกับระบุชื่อบ้าน ชื่อวัดที่อยู่ข้างเคียงโดยรอบเส้นทางคมนาคมติดต่อกับวัดที่ขออนุญาต กำหนดระยะทางและแสดงเครื่องหมายทิศไว้ด้วย โดยให้จัดทำเป็นแบบพิมพ์เขียว
6. วัดที่ขอตั้งต้องอยู่ห่างจากวัดอื่นที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร เว้นแต่มีเหตุจำเป็นก็ให้ชี้แจงเหตุผลประกอบ
*********************************
Leave a Reply