“พระเมธีวชิโรดม”แนะยุคโควิดโรคาวิวัฒน์ ผู้นำต้องมีสติขั้นสูงให้เท่าทันกับไอทีขั้นสูง

“พระเมธีวชิโรดม” สนทนาธรรมกับ “สุทธิชัย หยุ่น” หัวข้อ “ธรรมะท่ามกลางวิกฤตโควิด” ผ่านสื่อออนไลน์ แนะมนุษย์ควรมีสติขั้นสูงถึงจะเท่าทันกับเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมต้องระวังยีนความเห็นแก่ตัว รวมถึงต้องจงลดโครงการในชีวิตให้น้อยที่สุดแต่โฟกัสชีวิตให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า มีโอกาสนั่งฟังไลฟ์สดของ พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) โดยได้สนทนากับ “สุทธิชัย หยุ่น” ภายใต้หัวข้อ “ธรรมะท่ามกลางวิกฤตโควิด” ผ่านสื่อออนไลน์ ความโดยสรุปว่า ปัจจุบันเข้าอยู่ในยุคของโลกาวิวัฒน์โลกที่มีการเชื่อมกันอย่างรวดเร็ว จึงนำไปสู่โรคาวิวัฒน์ มีการพัฒนาการอย่างรวดเร็ว อาศัยความเจริญของโลกในการแพร่เชื้อโรค สิ่งที่ทำให้มนุษย์พัฒนาขึ้นมาจึงเป็นจุดแข็งและจุดอ่อน เพียงทวิตครั้งเดียวนำไปสู่ความขัดแย้งของคนในประเทศยิ่งใหญ่ของโลกอย่างอเมริกา จึงต้องมีสติตลอดเวลา ยิ่งมนุษย์มีเทคโนโลยีขั้นสูงย่อมมีสติขั้นสูงเช่นกัน เรียกว่ามีเทคโนโลยีขั้นสูงแต่ระวังภูมิปัญญาขั้นต่ำ เทคโนโลยีขั้นสูงต้องอยู่ในบุคคลผู้มีสติขั้นสูงเช่นกัน

แม้จะยิงจรวจขีปนาวุธยังต้องใช้สติ หมายถึง มีบุคคลหลายคนในตัดสินใจ แต่เฟชบุ๊ค ทวิตเตอร์ ตัดสินใจเพียงคนเดียวอาจเป็นการตัดสินใจที่ขาดสติ สติเพียงบุคคลยังไม่เพียงพอแต่ต้องยกระดับการมีสติในรถดับประชาชาติ บ่มเพาะสติของคนในสังคมให้มีการตื่นรู้ของคนในสังคม สติเพียงบุคคลยังไม่พอจะต้องตื่นรู้คนของสังคม ให้สติเข้าไปสู่คนทุกวงการ ผู้นำจึงต้องมีที่ปรึกษาทางจริยธรรมเพื่อเตือนสติในการตัดสินใจ

ท่ามกลางวิกฤตของโควิดทำให้เราตระหนักเรื่องมรณสติ ซึ่งบอกว่าชีวิตเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวไม่ควรประมาณในการดำเนินชีวิต จงลดโครงการในชีวิตให้น้อยที่สุด ความตายเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อจึงควรลดความโลภโกรธหลง จงนึกว่าชีวิตเป็นสิ่งชั่วคราว โลกของเราอยู่ภายใต้ของกฎของไตรลักษณ์ อดีตอเมริกาเป็นประเทศชั้นนำ แต่ในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่แล้วในการเป็นผู้นำโลก เรามองผ่านของอนิจจังระบบชั้นนำของโลก ที่ผ่านมาเรามองอนิจจังระดับปัจเจกบุคคล แต่ปัจจุบันเรามองอนิจจังระดับโลก โควิดจึงมาปราบอัตตาของมหาอำนาจโลก อัตตาทำให้ทำร้ายตนเองมองแค่ประเด็นของเสรีภาพแต่ทำให้คนติดโควิดจำนวนมาก ทำให้ผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลกยอมลดอัตตาตัวตนลง

ส่วนสังคมไทยในการพบโควิดรอบแรกได้มีการฝึกสติโดยทั่วหน้า ไม่ประมาทกันทั่วหน้า เป็นการปฎิบัติธรรมโดยทั่วหน้า ปฏิบัติตามกติกาได้ผลดีมากเราชนะ นำไปสู่ความประมาท พอมารอบสองทำให้เราต้องได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เข้าไปเล่นในบ่อน มีความเห็นแก่ตัว ส่งผลต่อการติดโควิดส่งผลต่อผู้คนในสังคม ส่งผลให้เกิด ยีนเห็นแก่ตัว (Gene)ทำให้คนในสังคมเดือดร้อน ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า อาสวกิเลส นั่นเอง ประกอบด้วย “ยีนโลภะ ยีนมานะ ยีนทิฐิ : อยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ” ทุกอย่างกระทบกันจากจังหวัดชลบุรีกระทบถึงจังหวัดเชียงรายนิ่งสนิท

เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ชีวิตเราสัมพันธ์กับชีวิตอื่นเสมอ เรียกว่า อิทัปปัจจยตา สรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน โควิดเข้ามาทำให้เราเรียนรู้ธรรมะอย่างดียิ่ง ประกอบด้วย 1)ได้เห็นความไม่เที่ยงของประเทศมหาอำนาจและของโลก 2)ได้เห็นการเจริญมรณสติร่วมกัน ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ความตายอยู่รอบตัวเรา 3)ได้เห็นว่าผู้นำต้องมีสติ เทคโนโลยีชั้นสูงอาจจะเป็นเครื่องมือในการสร้างขัดแย้งในบ้านเมือง 4)ได้เห็นว่าสรรพสิ่งล้วนอิงอาศัยกัน ชีวิตเราย่อมส่งผลต่อชีวิตคนอื่นในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง เราจงตระหนักรู้ว่าเราต้องดูแลตนเองคนอื่นได้รับการป้องกัน เราป้องกันตนเองตนอื่นย่อมได้รับการป้องกัน เมื่อเราประมาทคนอื่นจะได้รับอันตราย

พระปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ทำให้สอดรับกับเรื่องของนักกายกรรมระหว่างศิษย์กับครู กล่าวว่า ขอให้เธอดูแลครู ครูจะดูแลเธอ แต่ลูกศิษย์กล่าวว่า ครูไม่ต้องดูแลผม ผมไม่ต้องดูแลครู ต่างคนต่างดูแลตนเอง ยึดมั่นในฐานของตนเอง รับผิดชอบตนเอง ถ้าเรามีสติทุกคนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองเช่นกัน แต่ถ้าคนหนึ่งคนขาดสติจะทำให้คนทั้งสังคมได้รับอันตราย โควิดจึงสอนเราว่าให้มีสติ เวลาเห็นคนเจริญสติจึงอนุโมทนา เราจึงต้องดูแลตนเองให้ดีที่สุด สติไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่สติเป็นเรื่องของสังคม การรับผิดชอบต่อสังคมในสถานการณ์โควิดคือการเจริญสติ เราจะหวังเพียงวัคซีนป้องกันโควิดอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะมีการทดลองกับคนแต่ผู้คนตายเป็นจำนวนมากในต่างประเทศ เพราะไม่มีการทดลองวัคซีนว่าใช้ได้จริงหรือไม่ นอกจากจะเจอโควิดบางประเทศยังเจอสถานการณ์การเมืองที่แบ่งขั้วเกิดความขัดแย้ง เราจึงต้องเจริญสติอย่างเร่งด่วน เราจึงต้องอยู่ในท่ามกลางของบุคคลที่มีสติ สติต้องใช้ทุกวงการ ทุกวงการต้องการสติ โควิดมาทำให้เราตระหนักเพื่อการรับมือที่ถูกต้อง

สัจจธรรมสากลจึงเกิดขึ้นกับทุกคน โควิดไม่เลือกชั้นวรรณะใดๆ สากลแปลว่า ทั่วถึง ทั้งหมด ความเป็นสากลของสัจจธรรมคือ เราป่วย เราแก่ เราตาย เราเจ็บ เราพลัดพราก สัจจธรรมจึงไม่มี 2 มาตรฐานใดๆ ทุกคนได้รับทั่วถึง โควิดคือครูที่สอนธรรมะที่ดีที่ในโลก โควิดกระทบทุกคนในทุกวงการ เราจะจัดการกับโควิดได้หรือไม่ เราต้องการ์ดไม่ตก ปัจจุบันจึงเป็นศตวรรษของไวรัส บวกกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศระดับโลก โควิดมาครั้งนี้จึงมาเขียนเส้นใต้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริง จงอย่าประมาท พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สติจำเป็นในทุกสถานการณ์ จงมีสติในทุกอิริยาบถสติจึงเป็นอ๊อกซิเจนของชีวิตตลอดไป

ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันเราต้องฝึกสติขั้นสูง เพราะเรากำลังเจอระดับของอนิจจังระดับโลก รวมถึงบุคคลที่มียีนส์เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงส่วนรวม ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ในท่ามกลางวิกฤตโควิด สติบุคคลยังไม่เพียงพอต้องยกระดับตื่นรู้ของคนในสังคมให้มีสติมากยิ่งขึ้น จงลดโครงการในชีวิตให้น้อยที่สุดแต่โฟกัสชีวิตให้มากขึ้น อย่าตั้งชีวิตอยู่ในความไม่ประมาท

โดยในช่วงเดือนตุลาคมปี 2563 ที่ผ่านมีโอกาสลงพื้นที่วิจัยนิสิตปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มีโอกาสแวะไปพักที่ไร่เชิญตะวัน ได้สนทนาธรรมกับท่านเจ้าคุณพระเมธีวชิโรดม ในฐานะครูอาจารย์และเป็นแรงบันดาลใจด้านการเขียนการสื่อสารธรรมที่ทันสถานการณ์ โดยเรื่องที่คุยส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับหนังสือ ประเด็น #พระสงฆ์ต้องยึดโยงกับสังคมถึงจะรอด และประเด็นเกี่ยวกับ คนที่อยู่ในยุทธภพไม่มีใครเป็นตัวของตนเอง อาจารย์เจ้าคุณย้ำว่า นาลันทาล้มสลายเพราะเราสนใจแต่คันถธุระ สนใจแต่ด้านปริยัติด้านวิชาการ ไม่ได้สนใจสังคมความอยู่รอดของคนในสังคม พระพุทธศาสนาจะต้องปรับตัวเป็นพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม โดยยกต้นแบบของมูลนิธิฉือจี้ ในการช่วยเหลือสังคมในระดับโลก

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. ในฐานะกัลยาณมิตรกันกับท่านอาจารย์เจ้าคุณ ว.วชิรเมธี สนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการทำงานด้านพระพุทธศาสนาและการทำงานด้านสันติศึกษา โดยพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาพระสงฆ์ด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ถือว่าเป็นพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบในการไกล่เกลี่ย ซึ่งจะมาจัดฝึกอบรมพระสงฆ์นักไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อทำงานเพื่อสังคม ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามในการทำงานเพื่อสังคม อาจารย์เจ้าคุณ กล่าวว่า หากหวังสันติให้ทิ้งอำนาจ คนที่อยู่ในยุทธภพไม่มีใครเป็นตัวของตนเอง จึงต้องมีอิสรภาพในการทำงาน โดยเศรษฐีคุยกันคุยเรื่องทองคำ ส่วนเหล่าบัณฑิตเจอกันคุยเรื่องหนังสือ โดยความหวังของพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. ในการทำงานมหาจุฬาฯ โดยมีความหวังพระสงฆ์รุ่นใหม่ในการทำงาน 3 รูป ประกอบด้วย พระเมธีวชิโรดม พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส พระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต แต่เจ้าคุณพระเมธีวชิโรดม เลือกเส้นทางการทำงานเพื่อสังคม โดยเดินทางตามแนวของท่านติชนัทฮัน ครูบาอาจารย์ ท่านติชนัทฮันถือว่าเป็นพระสงฆ์มหายานในการปรับโฉมหน้าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ทันสมัย เวลาค้นคว้าให้เดินตามแนวทางของหลวงพ่อประยุทธ์ ปยุตฺโต แต่เวลานำเสนอธรรมะสื่อสารธรรมะให้ใช้วิธีการของท่านองค์ดาไลลามะ และ ท่านติชนัทฮัน เป็นการนำเสนอที่เรียบง่าย จงมองโลกที่เชื่อมโยงกัน ในยุคปัจจุบันจะมองโลกสุดโต่งไม่ได้ ทางมหายานเวลาอธิบายทางสายกลางจะมีความงดงาม มองแบบอิทปัจจยตา

พระปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า โดยอาจารย์เจ้าคุณ ว.วชิรเมธี ถือว่าเป็นนักเขียน นักเผยแผ่ร่วมสมัยบูรณาการศาสตร์สมัยกับพุทธศาสนาได้ยอดเยี่ยม ทุกครั้งที่มีโอกาสได้สนทนารับฟังจะได้แรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิต อาจารย์เจ้าคุณย้ำว่า จงให้เวลากับงานที่เราทำ ต้องมั่นใจว่าสามารถควบคุมดูแลงานได้ สิ่งสำคัญในครั้งที่ศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระเมธีวชิรโรดม (ว.วชิรเมธี) ในการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพ ปัจจุบันพัฒนามาถึงรุ่นที่ 7 โดยฝึกอบรมพระสงฆ์และบุคคลทั่วไปจากทั่วประเทศ จึงขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาบารมีของครูอาจารย์ทั้งสองรูป 2 รูป คือ อาจารย์เจ้าคุณพระเมธีวชิโรดม ว.วชิรเมธี สนับสนุนทุนวิจัย และ อาจารย์พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส รศ.ดร. อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยในระดับปริญญาเอก ในโอกาสวันครูที่ผ่านมา 16 มกราคม 2564 จึงขอกราบคารวะครูอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง ขอให้ครูอาจารย์จงเจริญในธรรมตลอดไป

Leave a Reply