วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา วิทยากรต้นแบบสันติภาพ พระวิปัสสนาจารย์แห่งประเทศไทยรุ่นที่ 30 และเลขานุึการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ตามที่รับนิมนต์เป็นวิทยากรกระบวนการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์รุ่นที่ 49 จำนวน 110 รูป ณ ศูนย์วิปัสสนาจารย์เคลื่อนที่แห่งประเทศไทยณ ศูนย์วิปัสสนาเคลื่อนที่แห่งประเทศไทย วัดสุวรรณประสิทธิ์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เป็นหลักสูตรระยะยาว 3 เดือน
ประกอบด้วย การพัฒนาด้านวิปัสสนากรรมฐาน 1 เดือน ด้านทฤษฎีในพระไตรปิฎก 1 เดือน และด้านทักษะการปฏิบัติการสื่อสารธรรมเป็นวิทยากรต้นแบบ นักเทศน์ นักบรรยาย นักปาฐกถาธรรม 1 เดือน
ในฐานะศิษย์เก่ารุ่นที่ 30 ผ่านมา 19 ปี ได้เตรียมมาเติมเต็มเครื่องมือให้พระวิปัสสนาจารย์เพื่อนำต่อยอดในการสื่อสารธรรมในยุคปัจจุบันต่อไป โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี อุบาสก อุบาสิกาจากทั่วประเทศ ภายใต้โครงการพระวิปัสสนาจารย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ วิทยากรต้นแบบ : การสื่อสารธรรมะอย่างไรให้โดนใจคนยุคดิจิทัล
พร้อมกันนี้ยังได้นำวิทยากรต้นแบบสันติภาพที่ผ่านการอบรมรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 6 ลงพื้นที่ภาคสนามฝึกปฏิบัติเป็นวิทยากรต้นแบบสันติภาพ หนทางเดียวที่ทำให้ทฤษฎีสำเร็จคือลงมือทำเท่านั้น ถือว่าเป็นการวิจัยเชิงพัฒนา ให้รูปแบบมีความมาตรฐานมากยิ่งขึ้น
พระปราโมทย์ กล่าวต่อว่า วิทยากรต้นแบบสันติภาพได้สะท้อนการเรียนรู้การออกแบบกิจกรรมเพื่อการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป มีความใจกว้างเพื่อการพัฒนาในความเป็นวิทยากรต้นแบบสันติภาพ ยกระดับเป็นวิทยากรสร้างมากกว่าวิทยากรเสพเท่านั้น ทุกสิ่งที่เราลงมือทำงานสักหนึ่งชิ้นย่อมมีผู้คนเคยเฝ้ามองแบบให้กำลังใจ แบบความห่วงใยเสมอ ซึ่งจะมี 2 มิติเสมอ คือ ชื่น กับ แช่ง ทุกครั้งที่เราเจอคำชื่นจะต้องไม่พองโตหลงไปว่าเราดีที่สุด และทุกครั้งที่เจอคำแช่งเราต้องไม่แฟบเช่นกัน นั่นคือบทเรียนที่สอนเรา เป็นการฝึกเรียนรู้โลกธรรมอย่างดีเมื่อเราลงมือทำอะไรบางอย่าง เราจึงต้องฝึกทำงานที่ทรงพลัง บางคนมองผลงาน บางคนมองภายนอก สุดแล้วแต่ใครจะมองอย่างไร ? แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำ จงทำให้ดีที่สุด ทำไม่ดีจงอย่าทำ แม้จะทำดีที่สุดแล้ว มีกัลยาณมิตรบอกว่าจะต้องปรับปรุงเพิ่มเติม เรายินดีเสมอเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด
การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจจะเป็นดั่งทฤษฏีขนนก #เบาบางแต่รุนแรง โดยเฉพาะการสื่อสารที่กระทบความรู้สึกทำให้เกิดความรู้สึกลบ ในยามนี้จึงควรสร้างการสื่อสารความรู้สึกบวก #Positive_Feeling พลังแห่งความรู้สึกเป็นบวกเป็นเครื่องมือเยียวยาที่ดีที่สุด จึงต้องระวังการสื่อสารที่ขาดสติจะนำมาซึ่งความเสียหายให้กับตนเองและบุคคลอื่น เหมือนเรื่องราวของการซุบซิบมันเป็นแค่ความเห็นไม่ได้ไปทำร้ายใครแต่มันเลวร้ายกว่าการขโมย
ชีวิตจริงเราไม่มียางลบ ถ้าเราทำผิดพลาด ทางออกมีแค่…. เราจะเผชิญปัญหา และพยายามแก้มันอย่างเต็มที่ เมื่อเราทำเต็มที่แล้ว เราควรยอมรับ แล้วก้าวข้ามผ่านมันไป สุดท้าย สิ่งที่เราควรมีในชีวิต คือ การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขบนความไม่สมบูรณ์แบบนั่นเอง แค่เพียงห้องเรียนไม่มียางลบ หรือ อุปกรณ์ลบคำผิด เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง
1) #คิดก่อนลงมือทำ ถ้าเรามียางลบ เราจะเขียน และวาดอย่างไม่ระมัดระวัง ถ้าเราไม่มีมัน เราจะตั้งใจ คิดก่อนทำ และพยายามระวังในการเขียนและวาดในแต่ละครั้งมากขึ้น
2) #แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและฝึกความยืดหยุ่น ถ้าเรามียางลบ เราจะไม่มีโอกาสฝึกแก้ปัญหา เพราะเราจะลบมันทิ้ง แทนที่จะคิดว่าเราจะวาดหรือเขียนปรับแก้เป็นอย่างไรแทน
3) #เรียนรู้ข้อผิดพลาดและไม่ทำมันผิดซ้ำ ถ้าเรามียางลบ เราจะลบข้อผิดพลาดของเราไป แล้วเราไม่ได้กลับมาทบทวนข้อผิดพลาดของเราในอนาคต เช่น ถ้าเราเขียนผิด แล้วเราลบมัน เมื่อมองกลับมา เราจะไม่รู้ว่า เรามักผิดพลาดที่คำไหน หรือ วาดตรงไหน แต่ถ้าเราทิ้งร่องรอยเอาไว้ เราจะได้กลับมาทบทวนมันในอนาคต
4) #ยอมรับในข้อผิดพลาดและก้าวต่อไป เพื่อให้เรายอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง จุดเล็กที่ทำผิดพลาดบนกระดาษ เราต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาด แล้วมองภาพรวมมากกว่าจะจับจ้องแค่ข้อผิดพลาดนั้น
5) #ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับสิ่งที่เรามีสิ่งที่เราเป็นและปัจจุบันที่เราอยู่
ห้องนี้ไม่มียางลบจึงฝึกให้เรามีสติทุกลมหายใจ เราอย่ามัวแต่เอาเวลามานั่งประจานคนอื่น แต่เราจงเอาเวลามานั่งประจำสร้างสรรค์ผลงานให้ดีที่สุด เพราะถ้าพูดดีเกี่ยวกับคนอื่นไม่ได้จงอย่าพูดอะไรเลยดีกว่า ซึ่งจงระวังคำพูดมันเป็นดั่งเช่นเศษกระดาษที่ปลิวไป จงมองให้ลึกว่า ทุกพฤติกรรมของผู้คนย่อมมีเหตุผลเสมอ และความรู้สึกเสมอ จงอย่าเป็นตัดสินโดยไม่รู้ไม่เข้าใจในบริบทของสิ่งนั้นๆ จงใช้ตำแหน่งที่มีสร้างสรรค์ผลงาน
พระปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น ชีวิตจริงอาจจะไม่มียางลบ จงกล้ารับคำสะท้อนอย่างไม่กระเทือนเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เพราะผู้ที่ยิ่งใหญ่ล้วนผ่านกระบวนการสะท้อนกลับเชิงสร้างสรรค์จากกัลยาณมิตร ถือว่าชี้ขุมทรัพย์ เป็นเสน่ห์ของรูปแบบการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสันติภาพผ่านภาวนามยปัญญาคือ ลงมือทำอย่างสร้างสรรค์ จึงขออนุโมทนากับประธานรุ่นที่ 3 และวิทยากรต้นแบบสันติภาพรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 6
Leave a Reply