วันที่ ๑๗ มิ.ย. ๖๔ ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎกระทรวง ว่าด้วยการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดพ.ศ. ๒๕๖๔ แทน มีทั้งหมด ๑๒ ข้อ ดังนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๔๐ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “สิ่งปลูกสร้าง” หมายความว่า โรงเรือน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่บุคคลอาจเข้าอยู่อาศัยหรือใช้สอยได้ หรือใช้เป็นที่เก็บสินค้า ใช้ประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมหรือการบริการรวมตลอดทั้งบรรดาทรัพย์อันเป็นส่วนควบหรือติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น
ข้อ ๓ การได้ทรัพย์สินมาเป็นศาสนสมบัติของวัด ให้วัดลงทะเบียนทรัพย์สินนั้นไว้เป็นหลักฐานและเมื่อต้องจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จำหน่ายออกจากทะเบียน โดยระบุเหตุแห่งการจำหน่ายไว้ด้วย การได้มาซึ่งที่ดินหรือสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อได้จดทะเบียนการได้มาตามกฎหมายแล้ว
ให้วัดในเขตกรุงเทพมหานครส่งหลักฐานการได้มาเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่นให้ส่งไปเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนั้น
ข้อ ๔ การกันที่วัดไว้สำหรับเป็นที่จัดประโยชน์จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม
ข้อ ๕ การให้เช่าที่วัดที่กันไว้สำหรับเป็นที่จัดประโยชน์ ที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือสิ่งปลูกสร้างให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้ง ทำทะเบียนทรัพย์สินที่จัดประโยชน์ ทะเบียนผู้เช่าหรือผู้อาศัยไว้ให้ถูกต้อง และให้วัดเก็บรักษาทะเบียนและหนังสือสัญญาเช่าไว้เป็นหลักฐานหรือจะฝากไว้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสำหรับวัดในเขตกรุงเทพมหานครหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสำหรับวัดในเขตจังหวัดอื่นก็ได้
การให้เช่าตามวรรคหนึ่ง หากมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปี จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม
ข้อ ๖ การให้เช่าที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เพื่อเป็นทางเข้าออกไม่ว่าจะมีกำหนดระยะเวลากี่ปีก็ตาม จะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมโดยให้วัดจัดทำเป็นสัญญาภาระจำยอม
ข้อ ๗ การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกินหนึ่งแสนบาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคารในนามของวัด หรือวิธีการอื่นใดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด การดูแลรักษาและจัดการเงินการกุศลที่มีผู้บริจาค ให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริจาค
ข้อ ๘ ให้เจ้าอาวาสจัดให้ไวยาวัจกรหรือผู้จัดประโยชน์ของวัดซึ่งเจ้าอาวาสแต่งตั้งทำบัญชีรับจ่ายเงินของวัด และเมื่อสิ้นปีปฏิทินให้ทำบัญชีเงินรับจ่ายและคงเหลือ ทั้งนี้ ให้เจ้าอาวาสตรวจตราดูแล ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและถูกต้อง
ข้อ ๙ ในกรณีที่วัด เจ้าอาวาส ไวยาวัจกร หรือผู้จัดประโยชน์ของวัดถูกฟ้อง หรือ ถูกหมายเรียกเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในเรื่องที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เจ้าอาวาสวัดในเขตกรุงเทพมหานครแจ้งต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือเจ้าอาวาสวัดในเขตจังหวัดอื่นให้แจ้งต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนั้น ภายในห้าวันนับแต่วันรับหมาย
ข้อ ๑๐ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนดแบบทะเบียน บัญชี แบบสัญญาและแบบพิมพ์อื่น ๆ และวิธีการลงทะเบียน จำหน่ายทะเบียน และการทำบัญชี รวมทั้งให้คำแนะนำการปฏิบัติแก่วัดเกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎกระทรวงนี้ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดให้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับใช้ในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงนี้ด้วย
ข้อ ๑๑ การจัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อไป จนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
ข้อ ๑๒ ในระหว่างที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังมิได้กำหนดแบบทะเบียน บัญชีแบบสัญญา และแบบพิมพ์อื่น ๆ ให้ใช้แบบทะเบียน บัญชี แบบสัญญา และแบบพิมพ์อื่น ๆที่ออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. ๒๕๐๕ ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีแบบทะเบียน บัญชี แบบสัญญา และแบบพิมพ์อื่น ๆ ตามกฎกระทรวงนี้
หมายเหตุ..เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่การดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511 )ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับกาลปัจจุบัน ประกอบกับมีการโอนภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์จากกรมการศาสนาไปเป็นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติสมควรกำหนดการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดเสียใหม่ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
Leave a Reply