สกู๊ปพิเศษ :การขับเคลื่อนโคก หนอง นา : ประชาชนคิดอย่างไร ??

           ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเป็นอยู่ของประชาชนในทุกมิติ ทุกระดับชั้น อีกทั้งประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วม รวมแม้กระทั้งผลจากการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดความผันผวนต่อผลผลิตภาคเกษตร เพิ่มความเสื่อมโทรมให้ระบบนิเวศต่าง ๆ และเพิ่มปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม  ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบระยะยาวต่อความมั่นคงทางอาหารและน้ำทั้งในระดับครัวเรือนจนถึงระดับประเทศ

           ทางออกของประเทศไทยให้รอดพื้นจากวิกฤตและให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 และนโยบาย สืบสาน รักษา ต่อยอด และพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

           กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน ซึ่งได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้ดำเนินงานโครงการ โคก หนอง นา โมเมล เพื่อแก้ไขปัญหาและดำเนินการปัญหาและหาทางออกดังกล่าวข้างต้น

          สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน บอกว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” วงเงิน จำนวน 4,787,916,400 บาท ในพื้นที่เป้าหมาย 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของและบริหารจัดกาจัดการโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชน ให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข” ประยุกต์สู่การปฏิบัติรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล อันเป็นการส่งเสริม ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยดำเนินการ 7 กิจกรรม            ผลการดำเนินงาน ณ ปัจจุบันได้เบิกจ่ายไปแล้ว จำนวน 2,020.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.20โดยจำแนกเป็นรายกิจกรรม ดังนี้

           กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา  โมเดล วงเงิน 240.6322 ล้านบาท เป้าหมาย 357 รุ่น จำนวน 35,015 คน  คงเหลือ 30 รุ่น จำนวน 4,512 คน เบิกจ่ายแล้ว 210.4766 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85.90 เนื่องจากติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงต้องเลื่อนการฝึกอบรมออกไป โดยจะมีการอบรมในจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี สุรินทร์ และกระบี่ จำนวน 1,731 คน ทั้งนี้มีกำหนดอบรมให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2564

          กิจกรรมที่ 2 สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (CLM) และพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (HLM) วงเงิน 2,359.3270 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,288.2923 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54.60

          กิจกรรมที่ 3 สร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน วงเงิน 992.3040 ล้านบาท เป้าหมาย 9,188 คน โดยได้จ้างงานแล้ว 9,168 คน ในอัตราเดือนละ 9,000 บาท เบิกจ่ายแล้ว 496.840ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.26

          กิจกรรมที่4 กระตุ้นการบริโภครายครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับครัวเรือน (HLM)  วงเงิน 496.8400 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 28.563ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.75 สำหรับกิจกรรมนี้ ได้มีผู้ร่วมเอามื้อสามัคคีแล้ว จำนวน 1,113 แปลง จำนวน 22,260 คน

          กิจกรรมที่ 5 บูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล วงเงิน 577.8930 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 8.870ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.53ในส่วนของกิจกรรมที่ จะดำเนินการหลังจากที่ได้ดำเนินการขุดปรับรูปแบบแปลงแล้ว

         กิจกรรมที่ 6 พัฒนาการสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูปและการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย วงเงิน 4.8898 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1.2209 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.97

         กิจกรรมที่ 7    พัฒนาระบบ Digital รองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรม และฐานข้อมูล วงเงิน 116.0304 บ้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 58.7404 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.63 สำหรับกิจกรรมนี้ มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA.  เบิกจ่ายแทนกัน ซึ่งจะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการดำเนินการตามโครงการมีผลดี ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการทั้งก่อนและหลังดำเนินการ สามารถใช้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณได้ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม

          สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกเหนือจากจะมีหน่วยงานอิสระ เช่น ป.ป.ช. สตง. คณะอนุกรรมาธิการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณขอสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่สำคัญคือพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการที่จะคอยติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นการดำเนินในพื้นที่ดินของตนเอง จึงเป็นหลักประกันได้ว่าจะมีการดำเนินการด้วยความโปร่งใส  ที่สำคัญงบประมาณในการดำเนินการนั้นกรมการพัฒนาชุมชนได้มอบอำนาจให้จังหวัด อำเภอ เป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ทุกจังหวัด ทุกอำเภอแทนการจัดซื้อจัดจ้างจากส่วนกลาง

          “การดำเนินการตามโครงการการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา แม้จะยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จแต่ก็ปรากฏผลดีเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการอย่างยิ่ง และพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ โคก หนอง นา ให้กับผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้และประยุกต์ใช้ในวงกว้างต่อไป และขอยืนยันว่าผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 25,179 ครัวเรือน เป็นพี่น้องประชาชนทั้งหมด  ไม่มีโครงการในค่ายทหารหรือหน่วยราชการแต่อย่างใด ”

            หากจะว่าไปแล้ว โครงการ โคก หนอง นา เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนของกรมการพัฒนาชุมชน ที่จะต้องเรียนรู้ปรับตัว “วิ่งเข้าหาชาวบ้าน” มากกว่า นั่งอยู่ภายในออฟฟิต และต้องเรียนรู้รายละเอียดตั้งแต่เริ่มแรกเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การออกแบบโคก หนอง นา  และการซื้ออุปกรณ์ ดูต้นไม้ เมล็ดผัก เป็นแล้ว

            “เป็นตัวเชื่อม” ระหว่างชาวบ้านและช่างในท้องถิ่น ช่างขุดบ่อ และรวมทั้ง นาน ๆ  อาจมี คน ของ สตง,คนของ ป.ป.ช. มาเยี่ยมเยียนมาถามถึงทุกข์สุขบ้าง

             แต่ทำอย่างไรได้กระทรวงมหาดไทย เขามีสโลแกนว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เมื่อ “แม่ทัพ” อย่าง “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ทุ่มเทกับสิ่งที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลอย่างสุดกำลังแบบพลีชีพ คนของกรมการพัฒนาชุมชนจึงขับเคลื่อนแบบสุดกำลังเฉกเช่นเดียวกัน

           กระแสฟรีเวอร์ของโคก หนอง นา  จึงเกิดขึ้น ทำให้มีหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง พระสงฆ์ ภาคเอกชน หลายแห่งใช้ชื่อว่า โคก หนอง นา ทำภายในหน่วยงานของตนเอง ใช้งบประมาณของตนเอง ไม่เว้นแม่กระทั้ง พระสงฆ์, ทหาร,หรือแม้กระทั้งนักธุรกิจ

           ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อ ปาณิสรา  นามโคตร  “คนเลี้ยงหอย”   แห่งบ้านสุ่งช้าง ต.คันไร่ อ.สิรินธร  จ.อุบลราชธานี เมื่อเราไปถึงเธอกำลังรับโทรศัพท์สายลูกค้า ปาณิสรา ค่อนข้างตื่นเต้นเมื่อเจอทีมงานแต่การพูดคุยของเธอยิ้มแย้มแจ่มใสบ่งบอกถึงความสุขแบบ “วิถีคนชนบทไทย” โดยแท้ ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มตลอดเวลา เธอลงสมัครกับกรมการพัฒนาชุมชนไว้ 3 ไร่ ตอนนี้ขุดบ่อเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว เธอพาไปดูแปลงผักพริก กล้วย ของเธอในแปลงที่ขุด และชี้ไปที่บ่อน้ำและคลองใส้ไก่ว่า

           พี่ดูดี ๆ  ในบ่อ คลองใส้ไก่มีหอยเต็มไปหมดเลย มีปลานิล ปลาตะเพียนก็เยอะ บ่อนี้เพิ่งขุดเสร็จ หนูอยากได้มานานแล้ว แต่เราไม่มีเงินที่จะขุดบ่อ โชคดีมีคลองใส้ไก่ด้วย ต้องขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ช่วยต่อยอดความฝันของหนูได้

           เดิมพื้นที่ตรงนี้ก็ทำนา เดี๋ยวแล้ง เดี๋ยวท่วม ราคาก็ไม่แน่นอน เคยปลูกมะลิ ก็ไปไม่รอด มีวันหนึ่งด้านหลังที่ดินแปลงนี้มีห้วยเล็ก ๆ  หนูไปเก็บหอยขาย แล้วราคามันได้ดี ขายแม่ค้าส้มตำ ก็เลยคิดว่าอยากมีบ่อ มีสระน้ำ ตอนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้แต่คิด แต่ไม่มีเงิน ตอนที่กรมพัฒนาชุมชนประกาศให้คนอยากทำโคก หนอง นา ทราบข่าวรีบไปอำเภอเลย รอมานาน

           ตอนนี้หนูมีรายได้ตกเดือนละประมาณ 25,000 ถึง 30,000 แต่เพิ่งเริ่มทำนะขายผักบ้าง พันธุ์บ้าง  แต่ส่วนใหญ่ขายหอย มีหอยเชอรี่ กิโลกรัมละ 20 บาท หอยจุ๊บกิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนหอยนากิโลกรัมละ 120 บาท  คนแถวนี้มารับซื้อทุกวันทั้งชาวบ้านและแม่ค้าส้มตำ  และหนูขายพันธุ์หอยด้วย   ปลา หอยตามทุ่งนา ลำห้วย แถวนี้หาไม่ได้แล้ว  เพราะคนทำนาใช้แต่สารเคมี หนูเน้นขายออนไลน์ ออเดอร์มีทุกวัน ส่งขายทั่วประเทศ

           ปณิสรา บอกต่ออีกว่า “พี่คิดดู ตอนนี้กรมพัฒนาชุมชน เขาขุดบ่อให้ประชาชนทั่วประเทศเป็นหมื่น ๆ  บ่อ คนทำโคก หนอง นา มากมาย  หนูเป็นคนแรกที่ทำหอยแบบนี้ ขายแม่พันธุ์ด้วย ซึ่งหอยที่พี่เห็นใส่ไว้ในตะกร้านั่นคือ ส่งขาย ธรรมชาติของหอยหากเลี้ยงประมาณ 4 เดือนก็เก็บได้ ส่วนในตระกล้าเขาจำศีลเขาอยู่ได้ 2-3 เดือนเลย    หนูคาดหวังว่าเราเป็นคนแรกที่ขายหอย ยุคนี้ทำโคก หนองนา เยอะ ต่อไปหนูจะส่งพันธุ์หอยทั่วประเทศ…หนูฝากขอบคุณรัฐบาล และกรมการพัฒนาชุมชนด้วย ที่มอบโอกาสดี ๆ แบบนี้ให้กับประชาชน”

          หรือที่ “จังหวัดเพชรบูรณ์” เจอเด็กรุ่นใหม่คนหนึ่งชื่อ “กาฟิว”    ณัฎฐากร แก้วคง  เด็กหนุ่มไฟแรง ผู้ปฎิเสธอาชีพรับราชการหันมาสนใจทำโคก หนอง นา ภายใต้พื้นที่ 3 ไร่ของครอบครัว

         ตอนนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้ทำการขุดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีแปลงผัก แปลงนา และกำลังปรับปรุงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เจอ น้อง ๆ นักพัฒนาต้นแบบ 2 คนร่วมพาชมพื้นที่ด้วย

          “น้องสริตา” สริตา โพธิ์ทองคำ เพิ่งจบมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งจากกรุงเทพมหานคร สาขาคหกรรรม มาสมัครเป็นนักพัฒนาต้นแบบหรือ นพต. และอีกคนชื่อ “รัสมี  กัลยาประสิทธิ์” เป็นแม่บ้านมีภาระต้องส่งลูกเรียน โควิด ทำให้กระทบกับงานที่สร้างรายได้มาสมัครเป็นนักพัฒนาต้นแบบ ทำหน้าที่ช่วยงานด้านเอกสารและแนะนำให้ความรู้แก่เจ้าของแปลงผู้เข้าร่วมโคก หนองนา

          ส่วน “กาฟิว”  บอกว่า การทำโคก หนอง นา สำคัญสุดคือมันมีแหล่งอาหาร ยิ่งปัจจุบันมีโรคติดต่อแบบนี้ ยิ่งจำเป็นต่อครอบครัว คิดว่า ความสำคัญสุดของการใช้ชีวิตคนในยุคนี้คือ มักให้ความสำคัญกับเงินเป็นหลัก แต่สำหรับตัวเอง คิดว่าไม่ถูกทั้งหมด  ปัจจัย 4 อากาศบริสุทธิ์สำคัญที่สุด

         “การทำงานร่วมกับกรมพัฒนาชุมชนรู้สึกดีมาก พี่ ๆ เขาให้ความสนับสนุนเราเต็มที่ ผมเพิ่งจับงานแบบนี้ครั้งแรก ยังทำอะไรไม่ค่อยเป็น คน พช. เหมือนกับเป็นพี่เลี้ยงให้เรา และใจเราอยากทำแบบนี้อยู่แล้ว ยิ่ง พช.เขาเอางบมาช่วย งานเลยยิ่งออกมาดี  ตอนนี้ขุดไปแล้ว 2 บ่อ มีคลองใส้ไก่เรียบร้อย เป้าหมาย การทำโคก หนอง นา อย่างแรกสำหรับผมคือ เป็นแหล่งอาหาร แล้วก็คาดหวังเป็นสเต็ป ๆ ไป คือ ถ้าสมมติทำขึ้นมาได้แล้วไปรอด ก็อยากจะทำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ขึ้นไปอีกขั้นก็คือ เป็นแหล่งสถานที่ท่องเที่ยว มีโฮมสเตย์ อะไรประมาณนี้..”    

         ที่ “จังหวัดกาญจนบุรี” ได้พบกับปราชญ์ชุมนุมระดับปรมาจารย์เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ชื่อ “แรม” แรม เชียงกา   ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เชี่ยวชาญเรื่องศาสตร์พระราชา เชี่ยวชาญเรื่อง โคก หนอง นา  มีการขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็งเรื่อง “ความพอเพียง” มิใช่ระดับครัวเรือน หมู่บ้านเท่านั้น  แต่ได้สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสู่ระดับตำบล แบบ “ตำบลพึ่งพาตนเอง” โดยผลิต ปลูก กิน และใช้ ในชุมชนตำบลตัวเอง ซื้อขายกันเองในตำบล พึ่งพาตนเองตามแนวศาสตร์ของพระราชา มีเงินหมุนเวียนปีหนึ่งเกือบ 200 ล้านบาท

        ได้พัฒนาพื้นที่ตนเอง ทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์ของพระราชา บนเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน ที่ประกอบไปด้วยอาคารแหล่งเรียนรู้ บ่อน้ำ บ้านโฮมสเตย์ คอกวัวและแปลงผัก ทุ่งนา

        โดยแบ่งสัดส่วนพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เหมือนกับการจัดการที่ดินตามศาสตร์ของพระราชาทั่วไป คือ หนึ่ง แหล่งน้ำ 30 เปอร์เซ็นต์ นาข้าว 30 เปอร์เซ็นต์ แปลงผักเกษตรอีก 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นบ้านเรือนและคอกวัว  ได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โคก หนอง นา ว่า

        จุดแข็ง โคกหนองนา สิ่งที่เห็นคือ หนึ่ง การเติมพลังองค์ความรู้ให้คนเข้าร่วมโครงการก่อน  อย่างน้อยคุณได้มีการอบรม ได้มีการเรียนรู้ คุณได้มีการแลกเปลี่ยนได้เข้าใจหลักทฤษฎีพระองค์ท่าน อันนี้คือสิ่งที่เป็นจุดแข็งทุกคนทีไม่เคยรู้เลย ก็ได้รู้แหละศาสตร์พระราชามันคืออะไร ทฤษฎีใหม่มันคืออะไร แล้วโคกหนองนาโมเดลมันคืออะไร แล้วธรรมชีวิตคืออะไร มันคือจุดแข็งที่ทุกคนได้ตลอด 4 คืน  5 วันที่มาอบรม อันนี้จุดแข็งตัวที่ 1  ส่วนจุดแข็งตัวที่ 2 ไม่รู้ว่าโครงการโคก หนอง นา นี่มันจะเดินไปได้ไกลหรือไม่ แต่ตั้งแต่เกิดมาจนผมอายุย่าง 54 ปีแล้ว มันไม่เคยมีงบประมาณที่สามารถให้ชาวบ้าน control อย่างนี้ได้ เมื่อก่อนต้องให้เป็นกลุ่มใช่ไหม ให้เป็นกองทุนใช่ไหม ให้เป็นวัสดุอุปกรณ์ใช่ไหม แต่ตรงนี้งบโคก หนอง นา มันให้คุณสามารถทำอะไรก็ได้  เป็นการใช้จ่ายงบประมาณออกมาอย่างชัดเจนให้สามารถโยนให้กับใครก็ได้กับคนที่มีที่ดินอันนี้คือจุดแข็ง สำหรับจุดแข็งที่ 3 ถ้าเกิดมันรอดได้มันผ่านไปได้ ผมเชื่อว่ามันเกิดความมั่นคงด้านอาหาร ถ้าเกิดเราย้อนกลับไปสักเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปเดินตระเวนพบปะกับคนหนองสาหร่าย ทุกที่เหมือนกันหมดคือ ราคาพืชผักมันถูก ผักชีถูก แตงกวาถูก ต้นหอมถูก ใบกระเพาถูก ก็ย้อนกลับมาดูสาเหตุที่มันถูกเพราะเรามีโครงการของพัฒนาชุมชน ที่บอกว่า 90 วันเราก็ปลูกผักสวนครัวกัน ผักก็มีทุกบ้านไม่มีคนซื้อ ตลาดก็เลยตัน  หากเกิดมีศูนย์เรียนรู้สัก 2-3 หมื่นแปลงทั่วประเทศ  จ้างคนตกงานและมีค่าตอบแทนอีก 9,000 บาท นี้จุดแข็ง ของโคก หนอง นา กรมพัฒนาชุมชน

       เมื่อถามจึงจุดอ่อน โคก หนอง นา แรม เชียงกา บอกว่า ถือว่าเป็นข้อเสนอแนะสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจ

          ตัวแรก ก็คือเราใช้แปลงโมเดลตัวเดียวกันทั้งประเทศ จะทำอะไรต้องใช้แปลงโมเดลเป็นหลัก อันนี้ทราบว่าตอนนี้กรมพัฒนาชุมชนท่านแกไขไปแล้ว

        ตัวที่ 2 คือการขุด มันถูกควบคุมด้วยพระราชบัญญัติ ตอนนี้ทราบว่า อนุโลมให้แล้ว เนื่องจากเดิม ถ้าเป็นเขตเทศบาลหรือ อบต.ขุดเกิน 4 เมตรไม่ได้  พอแก้แล้วก็มีปัญหาอีกว่า คนทำโคก หนอง นา ขุดเกิน 4 เมตรได้ แล้วคนไม่ได้ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ทำไมขุดไม่ได้ คนในท้องถิ่นก็อาจมีคำถามแบบนี้   นี่คือ ข้อเสนอแนะตัวที่สอง ที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันหาทางออก เพื่อพี่น้องประชาชน

         ตัวที่ 3 ต้องมีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง พาณิชย์ เข้ามาเกี่ยวข้องบ้างได้ไหม ถ้าเกิดของผม ปลูกผักอย่างเดียว ปลูกแค่ 1 ไร่มันก็กินพอใช้แล้ว  อีก 8 ไร่ การตลาดต้องมาแหละ การแปรรูปต้องเข้ามาแหละ อุตสาหกรรมต้องมา มันจะได้จบ อันนี้เป็นข้ออ่อนที่ผมคิดว่าหน่วยงานรัฐเขายังไม่ได้บูรณาการกัน..แรม เชียงกา ได้วิเคราะห์จุดแข็ง ข้อเสนอแนะ โครงการโคก หนอง นา

         สุดท้ายเป็นเสียง พระภิกษุสงฆ์ พระครูสุขุมวรรโณภาส”    ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณป่าดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า

           ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณป่าดงใหญ่วังอ้อแห่งนี้ขับเคลื่อน 3 เรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง การอบรมคุณธรรม จริยธรรม สอง การนำศาสตร์พระราชามาเขียนเป็นตำราลงบนแผ่นดิน และสาม ส่งเสริม รักษา ภูมิปัญญาท้องถิ่น เราทำมาตั้งแต่ปี 2546 แล้ว  ตรงศูนย์แห่งนี้มีพื้นที่ทำโคก หนอง นาประมาณ 20 ไร่ เริ่มต้นจากตัวเราก่อนนี่แหละ ระเบิดจากภายใน แล้วค่อย ๆ ขยายไปสู่ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัด

            “อาตมามองว่า งบเงินกู้ของกรมการพัฒนาชุมชน ถึงชุมชนจริง ๆ อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดคือ เกิดการจ้างงานในชุมชนหมู่บ้าน ,มีการซื้ออุปกรณ์ปัจจัยการผลิตทำให้เกิดมีเงินหมุนเวียน ในขณะที่เจ้าของแปลงเองก็ได้ปรับปรุงพื้นที่ตนเองในการ ปลูกผักสร้างความมั่นคงอาหารให้ครอบครัวและชุมชนได้

             ประโยชน์ระยะยาวคือ เกิดมีป่า  แก้ภัยแล้ง แก้น้ำท่วมได้ จังหวัดอุบลของเรา จะมีระบบนิเวศที่ดี เกิดมีวัฒนธรรมเกื้อกูล แบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ที่นี้อบรมคนเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา มาแล้ว 9 รุ่น เหลืออีก 7  รุ่น หลายแปลงขุดเสร็จแล้ว ไปเอามื้อสามัคคีกันแล้ว อาตมาว่า หากเราทำแบบนี้ต่อเนื่อง จังหวัดอุบลจะเป็นเมืองหลวงของแหล่งผลิตอาหารพืชผัก..”

            โครงการ โคก หนอง นา  เป็นของใหม่สำหรับกรมการพัฒนาชุมชน ที่มีรายละเอียดแตกต่างจากการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพอเพียงที่ผ่านมา แต่เป้าหมายเหมือนกัน คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ มีความมั่นคงทางด้านอาหาร  มีความสุข ในครัวเรือนให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข ตามเป้าหมายและอุดมการณ์ของกระทรวงมหาดไทยคือ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” รวมทั้งตามยุทธศาสตร์ชาติด้วย และหากมองลึกลงไปอีกการขับเคลื่อนโคก หนอง นา  เป็นภาพสะท้อนที่จะนำเอาวิถีชีวิตแบบเกื้อกูลที่สังคมไทยเคยมี กลับคืนมา รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ฟื้นฟูระบบนิเวศกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกด้วย!!..

 

Leave a Reply