อธิบดี พช. เยี่ยมชมต้นแบบความสำเร็จแปลง “โคก หนอง นา พช.” ด้วยพลัง “บวร”

วันที่ 9 ก.ย. 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ,รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายสหชัย แจ่มประสิทธิ์กุล นายอำเภอศรีเทพ นางธนพร ศรีบุญเรือง พัฒนาการอำเภอศรีเทพ เข้ากราบนมัสการ พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. เจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ และลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ณ พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life :CLM) ระดับตำบล ขนาด 15 ไร่ ณ บริเวณวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ โดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งรับชมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี อำเภอเมือง อำเภอหล่มเก่า อำเภอน้ำหนาว อำเภอชนแดน อำเภอวังโป่ง ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting และในภาคบ่ายได้เยี่ยมชมนิทรรศการผ้าไทยใส่ให้สนุก นิทรรศการของดีเพชรบูรณ์ รับชมการนำเสนอวิดิทัศน์ เรื่อง “เสียงกู่จากครูเก่ง” และพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับดีเลิศ ตามโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ 2564  ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ณ ห้องประชุมอาคารธรรมสภา วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” เป็นโครงการที่น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ตามพระบรมราโชบาย “สืบสาน รักษา และ ต่อยอด” โดยยึดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และคำขวัญพระราชทาน “พัฒนาคือสร้างสรรค์” มาส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติจนเป็นวิถี เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มคนยากจน เป็นหนทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการน้อมนำแนวทางหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา นั้น สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ในหลาย ๆ มิติทั้งความเป็นอยู่ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน ผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน สร้างโอกาสในการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพสู่การจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อชุมชนต่อไปในอนาคต

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง “งานเสร็จ เป็นรูปธรรม นามธรรมอิ่มเอิบ สบายใจ” โคกหนองนากับความสุขสดใส “We are farmers together” และ เรารักธรรมชาติ เราสร้างสรรค์ในงานเกษตร โคกหนองนาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ และความสดใสทั้งกายและใจ “Happy Farmers” เป็นกำลังใจให้พสกนิกรชาวไทย ได้มีพลังใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ครอบครัวมีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งถ้าทุกคนเรียนรู้และทำความเข้าใจ จะพบว่าภาพฝีพระหัตถ์ได้แฝงไปด้วยองค์ความรู้มากมาย ดังเช่น หลักการทำงานควรทำเป็นขั้นตอน ซึ่งถ้าเราจะต้องมีการขุดแปลงโคกหนองนาอีกในภายภาคหน้า สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องหน้าดิน ที่ดินที่เป็นนาก็ให้เอาหน้าดินมาอยู่ด้านบน รวมทั้งการรวมทั้งการขุดหนอง คลองไส้ไก่ก็เช่นกัน เพราะหน้าดินนั้นมีจุลินทรีย์ ธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์จะทำให้พืชผลที่ปลูกนั้นได้รับสารอาหาร ทำให้มีความเจริญงอกงาม ก่อให้เกิดความสุขภายในครอบครัว เมื่อครอบครัวมีความสุข มีความอบอุ่น มีความรักความสามัคคีกันก็จะส่งผลให้ชุมชนและประเทศมีความสงบสุข นอกจากการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ก็ขอฝากให้ทางหน่วยงานนำภาพวาดฝีพระหัตถ์ มาเผยแพร่ให้คนที่เข้าร่วมโครงการ และคนที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้ให้เข้าใจในเรื่องของภาพฝีพระหัตถ์และความหมายของภาพด้วย

นางสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิต “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 1,517 แปลง เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตำบล จำนวน 4 แห่ง และระดับครัวเรือน จำนวน 1,513 แห่ง ในการขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ต้นแบบของหน่วยดำเนินการทั้ง 11 อำเภอ ได้มีการสร้างคน สร้างเครือข่าย ขยายผล ตามหลัก บวร (บ้าน วัด ราชการ) บูรณาการขับเคลื่อนภายใต้ “โครงการเพชรบูรณ์พอเพียง” โดยการสร้างความมั่นคง 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) ความมั่นคงด้านอาหาร 2) ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย 3) ความมั่นคงด้านรายได้ 4) ความมั่นคงด้านสุขภาพ 5) ความมั่นคงด้านสังคม มุ่งเป้าหมายให้ประชาชนคนเพชรบูรณ์ “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนดี ชีวีพร้อม น้อมพัฒนา” และสำหรับพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life :CLM) ขนาด 15 ไร่ ณ วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ จะเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ระดับตำบล ตามหลัก “บวร” แห่งแรกของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้มีการขุดปรับรูปแบบแปลงตามแบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน และเตรียมการสร้างฐานการเรียนรู้ จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ 1) ฐานเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ 2) ฐานเรียนรู้คนหัวเห็ด 3) ฐานเรียนรู้คนเอาถ่าน 4) ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี 5) ฐานเรียนรู้คนติดดิน 6) ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ 7) ฐานเรียนรู้คนมีไฟ 8) ฐานเรียนรู้คนรักษ์น้ำ 9) ฐานเรียนรู้หัวคันนาทองคำ โดยในวันนี้มีการจำลองฐานการเรียนรู้ จำนวน 2 ฐาน เป็นการเอามื้อปฐมฤกษ์ ได้แก่ ฐานเรียนรู้คนติดดิน ฐานเรียนรู้หัวคันนาทองคำซึ่งในการดำเนินกิจกรรมได้มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้พื้นที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิต “โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน”ของจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อนำไปสู่การดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาความยากจนทุกช่วงวัย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

Leave a Reply