วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 จากกรณีของนายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลา ที่ได้นำทีมเข้าไปในวัดป่าดงสว่างธรรม จ.ยโสธร หลังได้รับร้องเรียนอ้างว่า หลวงปู่แสง พระเกจิดัง อายุเกือบ 100 ปี มีพฤติกรรมลวนลามผู้หญิงรักษาโรค จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ถึงพฤติกรรมและคำพูดไม่เหมาะสมของหมอปลานั้น ล่าสุด ไพรวัลย์ วรรณบุตร หรืออดีตพระมหาไพรวัลย์ ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงหมอปลา โดยได้ระบุว่า
“ถึงพี่หมอปลาครับ ผมจะขอพูดถึงพี่หมอปลานะครับ พูดในฐานะของกัลยาณมิตร ของน้องชายที่นับถือกัน ในเคสของหลวงปู่แสงที่เกิดขึ้น ผมมองว่า พี่หมอปลาไม่ได้ทำอะไรซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดบาปทั้งหมดนะครับ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ถูกต้องทั้งหมด จนไม่มีข้อต้องตำหนิเช่นกัน อันนี้ผมอยากให้เราแยกแยะนะครับ ทั้งคนที่ชื่นชอบและไม่ได้ชื่นชอบพี่หมอปลา การที่พี่หมอปลาเข้าไปตรวจสอบกรณีของหลวงปู่แสง มันมีทั้งคุณและก็มีทั้งโทษ มีทั้งส่วนที่ถูกและส่วนที่ผิด ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พูดถึงส่วนที่ถูกนะครับ คืออย่างน้อยต่อเรื่องนี้ พี่หมอปลาก็ทำให้สังคมได้เห็นว่า มีเรื่องไม่ปกติหรือไม่ชอบมาพากลอะไรขึ้นกับหลวงปู่แสงบ้าง ทำให้สังคมโดยเฉพาะก็คนที่นับถือหลวงปู่ ได้รู้อย่างแน่ชัดว่า ตอนนี้หลวงปู่มีอาการอาพาธอะไร และควรจะได้รับการอุปฐากดูแลแบบไหน นี่ไม่รวมถึงความไม่เอาไหนและใช้ไม่ได้ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดหลวงปู่อีกนะครับ เป็นเรื่องที่น่ากลัวว่า หากเรื่องนี้ไม่เป็นที่วิจารณ์ในวงกว้าง หลวงปู่จะต้องตกเป็นเครื่องมือ หรือที่ครหาปรามาสของผู้ที่แสวงหาประโยชน์ ตลอดจนถึงผู้ที่ไม่เข้าใจในข้อเท็จจริงอีกนานเพียงใด
ในส่วนที่ผิด ซึ่งเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงไม่ได้นะครับ เลี่ยงที่จะไม่รับผิดชอบไม่ได้ คือผมอยากจะเตือนพี่หมอปลาในฐานะของน้องชายนะครับว่า ความมุทะลุดุดันบางครั้งก็เป็นคุณ แต่หลายครั้งก็เป็นโทษ การทำอะไร โดยปราศจากการยับยั้งหรือสงวนท่าที บางครั้งแทนที่จะให้ผลดีมันกลับให้ผลเสีย คนรอบข้างพี่หมอปลามีเยอะนะครับ แต่หลายคนไม่ใช่กัลยาณมิตร หลายคนเป็นบ่างช่างยุ และชอบสนับสนุนให้พี่หมอปลาทำอะไร โดยขาดความไตร่ตรองถี่ถ้วน หลายคนต้องการแค่คอนเท้นต์ ต้องการข่าว ต้องการยอดวิวเพื่อเรียกกระแสคนดู อันนี้ผมอยากเตือนให้พี่หมอปลาด้วยความรักนะครับ พี่หมอปลาพึงระวังกลุ่มคนเหล่านี้ให้ดี
กรณีของหลวงปู่แสงนี่ชัดเลยนะครับ หลายคำพูดของคณะที่ติดตามพี่หมอปลาไปซึ่งปรากฎในคลิป เป็นคำหยาบโลนมาก เป็นคำเสียดสี ดูหมิ่น ทั้งท่าทางกิริยาอาการ ก็ขาดความเคารพยำเกรง ไม่ว่าจะทั้งต่อสถานที่ ซึ่งเป็นศาสนสถาน หรือพระซึ่งถูกกล่าวหาโดยที่ความจริงยังไม่ปรากฏ ผมปรารถนาที่จะเห็นความสุขุมคัมภีรภาพ ตลอดจนถึงความรัดกุมในการทำงานของพี่หมอปลาพร้อมทั้งสื่อที่ลงพื้นที่ในแต่ละเคสมากกว่านี้นะครับ อันนี้เป็นบทเรียนเลยนะครับ ผมถือว่าคนเรา ทำดีร้อยครั้ง ผิดพลาด 1 ครั้ง มันเป็นเรื่องปกติสามัญมาก แต่เมื่อผิดแล้วก็ยอมรับแก้ไข ไม่ดึงดัน แสดงสัมมาคารวะอดโทษ พระพุทธเจ้ายกย่องคนประเภทนี้ว่าเป็นบัณฑิตครับ และส่วนตัว ผมก็เชื่อว่า พี่หมอปลาเป็นบัณฑิต เป็นคนซื่อตรง ทั้งยังปรารถนาดีต่อพระศาสนาคนหนึ่ง ขอให้พี่หมอปลาเอากรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ เป็นบทเรียน เป็นเครื่องเพิ่มพูนสติปัญญาของตัวเองนะครับ”
ขณะเดียวกันในสื่อออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อความของผู้ใช้นามว่า “ปุณณ์สมบัติ” แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้ข้อเรื่องว่า พระเริ่มสู้กลับหมอปลาแล้วความว่า
เหตุการณ์ในแวดวงพุทธศาสนาช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสร้างความบอบซ้ำให้กับพระพุทธศาสนาและสร้างความเจ็บปวด สลดใจอย่างยิ่งต่อชาวพุทธทำให้ทั้งใจเสียและใจเสีย บางคนก็บอกว่า จะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่เกิด มาเกิดเอาตอนใกล้จะถึงช่วงฉลองวันเกิดพระพุทธเจ้าในสัปดาห์พิเศษนี้ ซึ่งก่อให้ผลการกระทบโดยตรง บางคนพยากรณ์ว่าเหตุการณ์ลักษณะอย่างนี้ก็คงจะมีอย่างต่อเนื่องอันเกิดจากเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่ที่ครึกโครมและเป็นกระแสมากสุดน่าจะเป็นเหตุการณ์การบุกจู่โจมเพื่อพิพากษาความผิดของคณะหมอปลาต่อหลวงปู่แสง พระภิกษุในวัยชราแถมเป็นอัลไซเมอร์ทำให้เห็น
ประการแรก การตั้งศาลเตี้ยพิพากษาของหมอปลาและคณะซึ่งมีอุปกรณ์พร้อมมือคือ smart phone ในการถ่ายทอดสด เพื่อสร้างมูลค่าทางการเงินอันมาจากยอดวิวและการเพิ่มขึ้นของ FC จำนวนมหาศาล โดยอ้างว่าเป็นการจัดการเสี้ยนหนามศาสนา แน่นอนนี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรก แต่เป็นผลงานที่สืบต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ก่อน ซึ่งนำมาซึ่งความพอใจและสะใจของ FC จำนวนไม่น้อยและแน่นอนยอดวิวก็เพิ่มขึ้นด้วยในฐานะมี “แสง” เพิ่มขึ้น ตามประสาคนหิวแสง อันเป็นการฟันธงและย่ามใจในการตั้งศาลเตี้ยพิพากษา แน่นอนสังคมส่วนใหญ่ตอนนี้มักให้ความสำคัญกับ “แสง” เพราะมันเป็นช่องทางหนึ่งในการระบายอารมณ์ที่เกิดจากพิษเศรษฐกิจและความพังพินาศทางสังคม การทำอะไร อย่างไรก็ได้ให้มีอารมณ์ร่วมเกิด “แสง” กระแสในตัว โดยไม่ต้องคำนึงความถูกต้องและขั้นตอน รวมถึงการละเมิดสิทธิคนอื่น คู่ต่อกรที่อ่อนแอและเปราะบางที่สุดคือ “พระสงฆ์” ชี้หน้าด่า กระทืบอาสน์สงฆ์ ยืนค้ำหัว ปรามาสสบถด้วยถ้อยคำหยาบคายต่อพระชราคราวปู่ ในขณะที่ท่านไม่รู้สาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำโดยอาการ คนเหล่านัั้นกลับโห่ฮา มนุษย์เพศแม่สองตัวกลับโหมอารมณ์ตน สร้างความสาแก่ใจแก่ FC หน้าชื่นมื่นปั่นวิว จิตของคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร แม้คนด้วยกันก็ไม่กระทำต่อ เบื้องหน้าคือพระ นอกจากเป็นพระคือพระผู้เฒ่าคราวปู่ ไม่สงสารก็ควรให้เกียรติน่าจะควร
ประการที่ 2 หากมีความผิดจริงตามสมมติฐาน เรื่องราวก็ควรจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัย หาใช่พิพากษาเองฤาฆราวาสตัดเสื้อให้พระใส่จนคุ้นชิน กระบวนการนี้อาจจะช้าหน่อยไม่ทันใจ FC แต่มันจะดีตรงความรอบคอบและฟังความ เรียกว่า วิธีชำระอธิกรณ์ ซึ่งมีหลายรูปแบบเช่น สัมมุขาวินัย เรียกมาทราบข้อกล่าวหา จะแก้ต่างอย่างไรก็ว่ากันไปเช่นเดียวกับระบบของศาลซึ่งดำเนินการโดยพระผู้ปกครองตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค มันอาจช้าและไม่ทันใจแต่มันดีต่อใจของผู้ถูกกล่าวหา ได้ฟังความรอบข้าง ได้ทำให้เห็นคนเป็นคนมากขึ้น
ประการที่ 3 ปู่แสงซึ่งเป็นพระวัยชรา ย้ำว่าชราภาพมากอีกทั้งมีโรคประจำตัวเป็นอัลไซเมอร์ผ่านวิธีการฝึกตามวิถีพระกรรมฐาน สร้างมูลค่าตนเองด้วย “ศีล สมาธิ” มาเป็นเวลานาน พระกรรมฐานสายนี้จะให้ความสำคัญและมี “ช่องว่าง” ในการปฏิสัมพันธ์กับ “สีกา” เป็นพิเศษ ในการต้อนรับผู้คนไม่เคยเห็นวัดไหนต้อนรับผู้คนในกุฏิส่วนตัว จึงมีพื้นที่เช่น หอฉันหรือศาลาที่มีพื้นที่เป็นสัดส่วนและจะเป็นเก้าอี้หรือพื้นสูงกว่าเป็นอาสน์สงฆ์ พร้อมเขียนกำกับไว้เสมอว่า “ห้ามสุภาพสตรีขึ้นบนอาสน์สงฆ์” การมีพื้นที่เฉพาะอย่างนี้เป็นการตอกย้ำความระมัดระวังตัวได้เป็นอย่างดี ในกรณีนี้ดูจากมุมกล้อง สุภาพสตรีท่านนี้เข้าถึงตัวของหลวงปู่แสงอย่างใกล้ชิดได้อย่างไร แล้วทำไมพระอุปัฏฐากจึงอนุญาตให้คนเหล่านั้นขึ้นไปบนอาสน์สงฆ์และประชิดตัวหลวงปู่แสงได้ขนาดนั้น และหากแม้นท่านมีทีท่าจะลวนลาม จับต้องทำไมจึงไม่แสดงอาการแข็งขืนและถอยออกมาหรือจงใจให้ได้ภาพอย่างนั้น
ประการที่ 4 จากมุมกล้องอดคิดไม่ได้ว่าพระสงฆ์คือ “เหยื่อ” ของแรงจงใจไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม และถ่ายจากใครก็ตาม ในการถ่ายและบุกเข้าประชิดตัวอย่างนี้เป็นไปได้ว่ามีการวางแผนไว้เบื้องต้นก่อนคำถามคือมีอะไรและมีอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องทำอย่างนั้น หากว่าเพื่อเป็นการสัมผัสเนื้อตัว ถ่ายโอนพลังจิตรักษาโรคภัยในร่างกายตามความเชื่อแบบปาฏิหาริย์ พระอุปัฏฐากหรือผู้ชายที่อยู่ใกล้ก็ควรจะรู้ว่าควรหรือไม่ควรจะเข้าใกล้ขนาดนั้น ในกรณีเช่นนี้หลวงพ่อคูณหรือหลวงพ่ออื่น ๆ ท่านก็เมตตาทำให้มากสุดเพียงแค่เอาไม้เคาะหัวเท่านั้นจะไม่สัมผัสโดยตรง
ประการที่ 5 เหตุการณ์นี้พระอุปัฏฐากเป็นจำเลยสังคมมากที่สุด ดูจะขลาดเขลาเบาปัญญาในฐานะผู้ดูและปกป้องดูแลหลวงปู่ อาจจะเลยเถิดไปถึงการสร้างภาพว่าเป็นผู้วิเศษรักษาโรคได้ นี่นั่นโน่นที่เนื่องด้วยกายหลวงปู่แปลงร่างกลายเป็นแก้วไปนั่น กินเยี่ยวแล้วจะรักษาโรคได้เป็นต้น อันเป็นสารตั้งต้นทำให้เกิดความเชื่ออย่างนี้ และความเชื่อว่าเป็นผู้วิเศษนี้เองได้สร้างความเห็นผิดแก่ผู้คนและนำมาซึ่งเหตุการณ์ ยิ่งในวันหมอปลาพิพากษากลับกินอวดอ้าง ภาพกลับเลวร้ายและซ้ำเติมความเขลาไปอีก
ประการที่ 6 ทฤษฎีความเลยเถิดและย่ามใจของหมอปลาได้ชี้ให้เห็นหลายอย่าง เช่น โพลถามอารมณ์คนว่าถ้ามีปัญหาคณะสงฆ์คิดถึงใคร ผลปรากฏว่า หมอปลาอยู่ในอันดับแรก ที่ไม่ติดซาร์ตเลยคือ องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ และภาพเช่นนี้เป็นการวนซ้ำในลูบเดิม ปัญหาจำนวนมากของคณะสงฆ์ที่ถูกเพิกเฉยละเลย ที่สำคัญพระสงฆ์ระดับล่างไม่เคยมีพื้นที่ในการพูดคุย ไม่มีพื้นที่ในการรับฟังและไม่เคยเปิดรับฟังตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้น หมักหมมและซุกไว้ใต้พรมเกินกว่าที่จะเยียวยา มหาเถรสมาคมมีหน้าที่ออกคำสั่งแต่การกำกับดูแลติดตามไม่เคยเกิดขึ้นจริงเนื่องจากเป็นระบบ One Way ไม่เคยรับรู้ปัญหาหรือไม่อยากรับรู้ปัญหา จำไม่ต้องพูดระบบชนชั้นในคณะสงฆ์
ประการที่ 7 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนอารมณ์ของผู้คน ที่ขาดความเข้าใจในปัญหาและการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจึงใช้อารมณ์นำและตัดสิน การฟ้องร้องนี้อาจมีมาก่อนหน้าหรือเปล่าแต่ไม่มีการตอบรับและเคลียร์ปัญหา ผู้เสียหาย จริง ๆ ควรเป็นพระที่เสียหาย เพราะเธอเองพยายามเข้าประชิดตัวพระ หมอปลาจึงมองว่า อย่างไรเสียก็ได้ประโยชน์ทั้งฝ่ายตนด้วยการเพิ่ม “ยอดวิว” เติม “แสง” ส่วนผู้ที่อ้างว่าตนเสียหายนั่นจะได้อะไรรู้อยู่แก่ใจในกระบวนการ
ประการที่ 8 สังคมไทยเป็นสังคมวิกลจริตและไม่เติบโตทางวุฒิภาวะ เจ็บป่วยไม่สบาย สุขภาพไม่ดีแทนที่จะหาหมอ หาพยาบาลกลับไปหาพระ ทำให้พระอุปโลกน์ตนเป็นหมอเป็นแพทย์ ทำให้มีช่องว่างมีพื้นที่ทางปาฏิหาริย์และใช้เป็นช่องทางผิดคำสอนทางศาสนา มีคนไม่สุขภาพไม่ดีไปหาหลวงพ่อคูณ หลวงพ่อคูณมาบอกว่า แล้วทำไมเอ็งไม่ไปหาหมอ ท่านเองก็เพิ่งไปหาหมอมา เราอยู่ในยุควิทยาศาสตร์ใช้วัสดุอุปกรณ์เครื่องผ่านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แต่ความเชื่อยังเป็นไสยศาสตร์
ประการสุดท้าย พระวัดป่ามีทัศนคติต่อการศึกษาพระปริยัติหรือพระไตรปิฎกในเชิงลบ ไม่รู้ว่าแนวความคิดนี้เกิดในช่วงเวลาไหน เพราะในช่วงต้นหลวงปู่มั่นนั้นยังให้ความสำคัญเรื่องนี้และศึกษาปริยัติอย่างแตกฉานด้วยซ้ำ การไม่ให้ความสำคัญด้านปริยัติเป็นผลทำให้ขาดความสมดุลทางความคิดที่จะเชื่อมโยงกับการปฏิบัติที่สำคัญก็คือการขาดองค์ความรู้ที่เป็นคำสอนและคำสั่งของพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดการตีความเข้าข้างตนหรือทำตามมติของอาจารย์ที่ทำปฏิบัติมา ซึ่งเป็นสิ่งกัดเซาะความน่าเชื่อถือของพระกรรมฐานอย่างยิ่ง
Leave a Reply