เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 12.30น. ได้มีการประชุมคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลตลาดโพธิ์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ คณะสงฆ์ภาค ๑๑ ณ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ วัดชัยมงคล ตำบลตลาดโพธิ์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์
มีคณะทำงานจากภาคีเครือข่ายคณะสงฆ์ตำบล เจ้าอาวาสวัด สถานศึกษา ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลตลาดโพธิ์ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลตลาดโพธิ์ ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน(อสม.)คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากวิทยาลัยบุรีรัมย์ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพงศ์ธัช กุรัตน์ธรรมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งสุริยา หอมวัน และ รตอ. อธิโชค พุทธปิยบูชา
ผู้สังเกตการณ์จากโครงการปริญญาโท นิสิตหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต รุ่นที่ 1 (รปม.)มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ เข้าประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในขับเคลื่อนนโยบายสาธรณะสู่การปฏิบัติผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ : กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลตลาดโพธิ์
โดยในที่ประชุม พระอธิการสมพร อนาลโย อาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต(ค.บ.) วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ เจ้าอาวาสวัดชัยมงคล รองเจ้าคณะตำบลตลาดโพธิ์-บุโพธิ์ ประธานคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เป็นประธานที่ประชุม ท่านได้ปรารภว่า…เนื่องด้วยในปัจจุบันปัญหาเนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย
มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทั้งชาวไทยและแรงงานต่างชาติและยังพบว่าตัวเชื้อแพร่กระจายได้ไว นอกจากนี้ประเทศไทยยังพบโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COMID-19)หลายสายสายพันธุ์แพร่กระจายมากขึ้น โดยยังไม่อาจสามารถคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตว่าจะมีแนวโน้มว่าเชื้อจะหมดไปจากประเทศเมื่อไหร่ จากสาเหตุเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ทวีความรุนแรงจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติ
ด้านสาธารณสุข โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อโรคได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่สูงมาก ประกอบกับเชื้อโรคได้กลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์และสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและเป็นสถานการณ์ยังอยู่ในระดับที่รุนแรงจนไม่อาจวางใจได้
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้วัด/พระสงฆ์และประชาชน ในระดับพื้นที่ มีความรู้ ความเข้าใจ ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) สามารถป้องกันโรคด้วยตนเองและสามารถให้การดูแล แนะนําประชาชนในชุมชนได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความตระหนักให้แก่วัด/พระสงฆ์ ประชาชนในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยอาศัยมาตรการ ด้านการเผยแพร่ชุดความรู้ ชีวิตวิถีใหม่ ไปวัด เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
พระบดินทร์ ธมฺมธีโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล นิสิตปฏิบัติศาสนกิจ วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการ โครงการในพื้นที่ กล่าวว่า….การดำเนินการและการจัดประชุมในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยมีความมุ่งมั่นสนองงานกิจการคณะสงฆ์ทั้งด้านการปกครอง การเผยแผ่ และการสาธารณสงเคราะห์ เพื่อระดมพลังบวร(บ้าน-วัด-ราชการ/โรงเรียน) ซึ่งเป็นสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีการวิเคราะห์สื่อเผยแพร่ชุดความรู้ เช่น ชีวิตวิถีใหม่ ไปวัด
คำแนะสำหรับผู้รับผู้รับผิดชอบศาสนสถาน คำแนะนำอันเป็นข้อวัตรปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณร คำแนะนำด้านอนามัย สิ่งแวดล้อม ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบพิธีทางศาสนา ผู้ร่วมศาสนพิธี แนวปฏิบัติการจัดพิธีศพในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)คำแนะนำมาตรการปฏิบัติตน พลเมืองตื่นรู้ สู้ภัยโควิด 19 การฟื้นฟูจิตใจ ที่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สสส. สปสช.สช. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ได้จัดทำขึ้น เพื่อนำมาบูรณาการความร่วมมือ การเผยแพร่ชุดความรู้ สู่วัด/พระสงฆ์และประชาชน ในพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ ชีวิตวิถีใหม่ ไปวัด อันเป็นการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมิใช่แต่เพียงป้องกันโรคติดต่อเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) เท่านั้น รวมถึงโรคระบาดหรือโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ คงทรัพย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ กรรมการและเลขานุการเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธจังหวัดบุรีรัมย์ วิทยากรและผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า….โดยที่วิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นชาวพุทธ มีวิถีชีวิตผูกพันกับวัดและได้สืบทอดกันมาโดยบรรพบุรุษ ด้วยหลักความเชื่อและศรัทธาที่ก่อให้เกิดทัศนคติและค่านิยมสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพราะวัดเป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญ เป็นศูนย์รวมจิตใจในการกระทำคุณงามความดีและเป็นศาสนสถานอันยังประโยชน์ให้เกิดแก่สังคมและมวลมนุษยชาติ การสร้างวัดมีมาแต่โบราณกาลเมื่อประชาชนมีจิตศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ได้เคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่ใด ก็มักจะสร้างวัดขึ้นแล้วนิมนต์พระสงฆ์ไปพำนัก เพื่อได้บำเพ็ญบุญกุศลประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนพิธีและประเพณีที่เป็นวิถีชีวิตสืบต่อกันมา ซึ่งในอดีตวัดเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ใช้เป็นสถานศึกษาอบรมให้มีความรู้ทั้งอักษรไทยและในด้านวิชาชีพตำราแพทย์แผนไทยรวมทั้งศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ เป็นสถานที่ทำบุญบำเพ็ญกุศล เป็นศูนย์กลางการบริหารและการปกครอง เป็นที่พึ่งทางจิตใจของประชาชน
ดังนั้น วัดจึงเป็นสถานที่ที่สำคัญยิ่งในการสืบทอดพระพุทธศาสนาตลอดมา จึงถือได้ว่า“วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนคู่กับสังคมไทยมานับแต่โบราณ ตราบจนถึงวันนี้ วัดไม่เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณร แต่ยังเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนด้วย พระสงฆ์ถือเป็นต้นแบบที่ประชาชนนับถือ และวัดเป็นที่รองรับความสิ้นหวังหมดกำลังใจ มีพระสงฆ์ช่วยสร้างการรับรู้และทำให้ประชาชนมีสติได้ด้วย ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว…พระสงฆ์ได้นำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์มาใช้ประกาศให้วัดเป็นพื้นที่ที่พระสงฆ์จะดูแลพระสงฆ์ด้วยกันเองตามธรรมวินัย ซึ่งพระต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค
นอกจากนี้พระสงฆ์ยังให้ข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติตัว โดยเฉพาะการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distance) แก่ประชาชน ขณะที่ญาติโยมก็อุปถัมภ์ดูแลพระสงฆ์ตามหลักธรรมวินัยด้วยเช่นกัน “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) คงจะมีต่อไปอีกระยะหนึ่งซึ่งยาวนานพอสมควร การขับเคลื่อนความร่วมมือด้วยพลังบวร(บ้าน-วัด-ราชการ/โรงเรียน) จะช่วยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาวได้ โดยมีวัดที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะอนุเคราะห์ประชาชนผู้ประสบความยากลำบาก ดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่ที่ดำรงอยู่นับแต่อดีตกาล”ซึ่งโดยภาพรวมคณะสงฆ์ทั่วประเทศได้สนองพระดำริสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม รวมทั้งนโยบายรัฐบาลในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) มีการปฏิบัติตามมาตรการมติมหาเถรสมาคมและประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด มีการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากด้วยเช่นกัน “การแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมเป็นอย่างมาก พระสงฆ์และประชาชนตระหนักในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น วัดมีการจัดระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ประชาชนห่วงใยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของชีวิตนอกเหนือจากการประกอบสัมมาชีพโดยปกติ”
การประชุมในวันนี้ จึงเป็นการเสริมพลัง บวร สร้างพลเมืองตื่นรู้ สู้ภัยโควิด-19 แบบมีการมีส่วนร่วมโดยบูรณาการและสอดคล้องกับหลักพุทธธรรมว่าด้วยหลักการเพิ่ม- ลด- งดและปรับ เพื่อนำมาสร้างมาตรฐานทางสังคมในระดับชุมชน ซึ่งมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยพระสงฆ์ ได้มีบทบาทในการนำองค์ความรู้มาเผยแพร่ มาสร้างความเข้าใจ มีการเฝ้าระวังเกิดความตระหนัก สามารถป้องกันโรคระบาดโดยเริ่มจากตนเองและร่วมป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COMD-19) พร้อมทั้งสามารถให้การดูแลแนะนําประชาชนในชุมชนได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพผ่านสื่อเผยแพร่ชุดความรู้ ชีวิตวิถีใหม่ ไปวัด ให้กับ พระสงฆ์และประชาชนในเขตพื้นที่บริการกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลตลาดโพธิ์-องค์การบริหารส่วนตำบลตลาดโพธิ์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สืบต่อไป
Leave a Reply