มหาจุฬาฯร่วมเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติ ประจำปี 2565

เริ่มแล้วมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 หรือ Thailand Research Expo 2022 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อแสดงถึงศักยภาพของงานวิจัยที่เป็นกลไกสำคัญในการช่วยแก้ไขและพัฒนาประเทศ ถือเป็นเวทีระดับชาติที่จะนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์และพัฒนาประเทศทั้งในเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ที่คัดสรรผลงานวิจัยและนวัตกรรม กว่า 700 ผลงาน ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และคนรุ่นใหม่ได้ใกล้ชิดกับผลงานวิจัยที่ใช้ได้จริง จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 ระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ ชั้น 22 และ 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ในการนี้พระสุธีรัตนบัณฑิต,รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มอบหมายให้พระครูสังฆรักษ์จักรกฤษ์ ภูริปญฺโญ,ผศ.ดร, พระคมสัน เจริญวงศ์,ผศ., พระมหาเกรียงศักดิ์ อินฺทปญฺโญ,ดร.,และ ผศ.ดร.เอนก ใยอินทร์ เป็นคณะทีมงานผู้แทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติ ประจำปี 2565 ดังกล่าว

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ (อว.) เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG” พร้อมมอบโล่ประกาศนียบัตรคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ระดับชาติ (NECAST) ประกาศนียบัตรห้องปฏิบัติการที่ผ่านมาตรฐานฯ (มอก. 2677-2558) ประกาศนียบัตรหน่วยงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล (CoreTrustSeal) ในการจัดการข้อมูลในคลังสารสนเทศดิจิทัล

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวปาฐกถาว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG เพราะเป็นเรื่องที่จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกสากลว่าประเทศไทยพัฒนาแล้วเป็นประเทศที่รักธรรมชาติและรักษ์โลก

รมว.อว. กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้ อว. เป็นกระทรวงหลักในการขับเคลื่อน BCG โดยมีตนเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อน และ ผอ. สวทช. เป็นเลขาฯ กรรมการ และโดยที่เศรษฐกิจ BCG จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจเห็นความสำคัญของเรื่องนี้แค่ไหน อว.จึงได้ลงนามความตกลงร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ทำวิจัยร่วมกัน เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ธุรกิจระดับชั้นนำของโลก และเป็นธุรกิจอาหารที่ใหญ่ระดับสองของโลก หันมาให้ความสนใจต่อนักวิจัยไทย รวม 4 ด้าน ได้แก่ เรื่องเนื้อเทียม (Alternative meat) แบตเตอรี่อีวี อายุวัฒนะ (Longevity) และสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งการที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์หันมาสนใจผลงานนักวิจัยไทย เพราะนักวิจัยไทยมีคุณภาพและถือว่ามีราคาไม่แพง ประกอบกับมีการพูดคุยกันมาระยะหนึ่งแล้ว และอีกไม่นานจะเริ่มลงมือทำตามโจทย์ที่ธุรกิจใหญ่มากอยากให้ทำ และทาง อว.ขอประกาศว่าเรายินดีที่จะร่วมมือกับบริษัททุกระดับในไทยไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ รวมถึงสตาร์ทอัพ

และจากการที่ อว. ได้มอบหมายให้ธัชชา (โครงการขับเคลื่อนและพัฒนางานวิจัยเพื่อสังคม) ทำวิจัยเรื่องสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการย้อนประวัติศาสตร์ไทยลงไปอีก 2,000-3,000 ปีทำให้เป็นโอกาสดี เพราะจากการเดินทางไปเยี่ยมชมบริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการหารือที่เราจะนำลูกปัดในยุคบ้านเชียงไปจัดแสดงบ้าง เราอยากส่งเสริมเกียรติภูมิของประเทศไทยนำของสำคัญของไทยไปเปิดพื้นที่ที่บริติชมิวเซียม โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นรูปธรรมไม่เกินหนึ่งปี ทำให้จากนี้บริติชมิวเซียมจะมีอารยธรรมไทยย้อนไปถึงสุวรรณภูมิได้จัดแสดงในระดับโลกตลอดปี สิ่งที่ตนคิดเป็นเรื่องก้าวกระโดด แต่อยากให้นักวิจัยคิดแบบทางลัด หรือ Shortcut หรือ Bypass บ้าง และอยากให้คิดว่าเราทำได้และกล้าทำ ขอให้เห็นการวิจัยเป็นโอกาสอย่าเป็นปัญหา อยากให้วิจัยเพื่อชาติบ้านเมือง นำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกับเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ” เป็นปีที่ 17 โดยนำเสนอผลงานนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาวิชราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงนิทรรศการ การนำเสนอข้อมูลและผลงานจากเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ โดยรวมนิทรรศการศาสตร์และศิลป์งานวิจัย และ นิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม นิทรรศการการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา นิทรรศการนำเสนอบทความผลงานวิจัย Thailand Research Expo & Symposium 2022 ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 5 ธีมในการนำเสนอผลงาน ที่ประกอบด้วย

1.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 3.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) 4.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และ5.งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงการพัฒนาพื้นที่ และการจัดประชุมสัมมนาออนไลน์กว่า 150 หัวข้อ

นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดให้มีการมอบสุดยอดผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Platinum Award ซึ่งจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน เป็นทศวรรษของรางวัลอันทรงเกียรติ อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ จึงจัดให้มีนิทรรศการชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมเวที Hilight Stage และ Mini Stage เป็นเวทีหลักที่ใช้เทคนิคการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน/องค์กร/พาณิชย์ ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย โดยการกำหนดประเด็นเฉพาะและมีพิธีกรมืออาชีพเป็นผู้ดำเนินการ โดยการนำเสนอในรูปแบบของการถอดบทเรียนความสำเร็จ การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิค และวิธีการในการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์แก่ชุมชน หรือประชาชนผู้สนใจ และกิจกรรมในภาคการประชุมยังมีหัวข้อที่หลากหลายทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ภาคนิทรรศการ มีการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 700 ผลงาน ที่ประกอบด้วย โรงเรือนอัจฉริยะควบคุมสภาวะอากาศอัตโนมัติสำหรับการผลิตสตรอว์เบอร์รี่ ของกรมวิชาการเกษตร ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีสารสกัดสเต็มเซลล์จากพืชสมุนไพรที่กักเก็บรูปแบบไมโคร ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี การผลิตโคเนื้อคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรจังหวัดพะเยา ของมหาวิทยาลัยพะเยา เทคนิคการประเมินความไม่แน่นอนในการวัดสำหรับการสอบเทียบเครื่องวัดระยะด้วยเลเซอร์ชั้นสูง ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ผลิตภัณฑ์เยลลี่กัมมีเฉาก๊วย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร การพัฒนาตลาดดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเลย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดเลย เครื่องจักรมีชีวิต ผู้พิชิตขยะอินทรีย์ ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผลของการบำบัดด้วยการแก้ปัญหาต่อภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยติดสารแอมเฟตามีน ของกรมสุขภาพจิต การพัฒนาเกมบนโมบายแอปพลิเคชันสำหรับการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและการสื่อสารในเด็กออทิสติก ของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โมเดลการฟื้นฟูป่า มิติสู่ความยั่งยืน ของกรมป่าไม้ อุปกรณ์แจ้งเตือนไฟฟ้าดับอัตโนมัติ ของการไฟฟ้านครหลวง พื้นที่บริหารจัดการน้ำต้นแบบโดยชุมชนของอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน ของกรมชลประทาน รถบังคับขนส่งเวชภัณฑ์ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคงตะวันออก การประเมินประสิทธิศักย์ของการใช้หน้ากากแบบต่าง ๆ ในการป้องกันละอองน้ำลายจากปากและจมูกออกสู่สิ่งแวดล้อม ของกรมควบคุมโรค การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการวิจัยและพัฒนาหน้ากากผ้าเพื่อทดแทนหน้ากากทางการแพทย์ ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) นวัตกรรมเวชภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากมะแขว่นและน้ำมันหอมระเหยมะแขว่น ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การยกระดับการผลิตโคเนื้อโคขุนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิจัย สารชีวภัณฑ์ วว. ยกระดับผลผลิตการเกษตร พัฒนาเชิงพื้นที่ด้วย วทน. ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การออกแบบลายผ้ามัดย้อมและพัฒนแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก เพื่อสร้างอัตลักษณ์กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นต้น

ภาคการประชุม มีการเปิดเวทีภาคการประชุม ในหัวข้อที่น่าสนใจ กว่า 150 หัวข้อ ที่ประกอบด้วย การประชุมขนาดใหญ่ 1,000 คน การประชุมขนาดกลาง 500 คน และการประชุมกลุ่มเฉพาะเรื่อง 50 คน

ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th แบบ Online ภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 579 1370-9 ต่อ 515, 517, 518, 519 และ 524 ติดตามข้อมูลข่าวการจัดงานได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

Leave a Reply