โรคซึมเศร้า!! ในหมู่พระสงฆ์ และคำเสนอแนะ

วันที่ 4 กันยายน 2565  เว๊ปไซต์ข่าว The MATTER ได้เสนอผลสำรวจความซึมเศร้าในหมู่พระสงฆ์ ซึ่งมีบทสัมภาษณ์พระภิกษุ 2 รูปที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ หนึ่งคือผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหลังเข้ามาบวชแล้ว อีกส่วนรูป คือผู้มีอาการเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนแล้ว จึงค่อยเข้าสู่บวช

“THEBUDDH” พิจารณาแล้วเห็นว่า มีประโยชน์ต่อคณะสงฆ์เป็นอย่างมากที่จะเข้าใจกับสภาวะความเป็นโรคซึมเศร้า รวมทั้งการอยู่ร่วมกับบุคคลเสี่ยงเหล่านี้ และทั้งข้อเสนอถึงคณะสงฆ์ด้วย

The MATTER ลงรายละเอียดไว้ ดังนี้

ถ้าพุทธศาสนาคือรากไม้ที่หยั่งลึก โรคซึมเศร้าก็คือโรคร้ายที่กำลังระบายอยู่ในเนื้อดินของสังคมไทย แล้วเป็นไปได้ไหมที่โรคร้ายจะกัดกินไปถึงรากไม้

ขณะที่บทสนทนาสังคมกำลังพูดถึงเรื่องการนำศาสนาออกจากระบบการปกครอง หรือเดินหน้าสู่รัฐฆราวาส ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธศาสนาคือองค์กรหนึ่งที่ใหญ่โตและสำคัญในสังคมไทย ยังคงทำหน้าที่เป็นสถานศึกษาให้ผู้ยากไร้ เป็นสถานบำบัดจิตใจให้ผู้เลื่อมใส และเป็นเนื้อน้ำที่สร้างตัวตนให้กับคนที่ยังยืนยันในหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ขณะเดียวกัน ในโลกที่กำลังหมุนไปอย่างรวดเร็ว โรคซึมเศร้าได้กลายเป็นโรคร้ายอันดับต้นๆ ที่เกาะกุมจิตใจคนทั้งโลก โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเดือนกรกฏาคมปี 2565 ชี้ว่า ทั่วประเทศไทยมีผู้ป่วยซึมเศร้าทั้งหมด 1.2 ล้านราย (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคาดว่าอาจมีถึง 1.5 ล้านราย) คิดเป็น 2.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป แล้วสำหรับพระภิกษุไทย 205,513 รูปมีกี่รูปที่กำลังเผชิญกับโรคร้ายนี้อยู่ เพราะถ้าย้อนกลับไปดูตามข่าว เหมือนว่าโรคร้ายนี้ได้กัดกินรากไม้ที่หยั่งลึกนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่ากรณีพระหนุ่มตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงจากภาวะซึมเศร้า หรือเจ้าอาวาสที่ตัดสินใจคล้ายกัน

The MATTER ลองพูดคุยกับพระสงฆ์ 2 รูปที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหานี้ รูปหนึ่งเป็นพระหนุ่มที่เข้ารับการรักษาตัวโรคซึมเศร้า อีกรูปเป็นเจ้าอาวาสที่เปิดสถานดูแลผู้ที่ใช้พุทธศาสนาเป็นร่มเงาแก้ปัญหาทางจิตใจ ร่วมไปกับงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ในไทย ซึ่งพูดได้ว่ามีน้อยชิ้นมากเหลือเกิน

อะไรคือสาเหตุความซึมเศร้าในหมู่พระสงฆ์ พวกเขาเผชิญกับภาวะกัดกร่อนจิตใจอย่างไร และสภาพสังคมสงฆ์ตอนนี้ตระหนักถึงปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน

ผ้าเหลืองและภาวะซึมเศร้า

ตั้งแต่ตื่นจนนอน มันเป็นกิจวัตรเหมือนเดิมทุกวัน ตื่น ฉันข้าว เรียนหนังสือ ฉันเพล ชีวิตมันวนลูปอยู่แล้วแบบนี้ครับ

พระมหาณคเรศ  สุทฺธิวาที หรือ หลวงพี่ณคเรส ซึ่งขณะนี้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งย่านฝั่งธน ไปพบจิตแพทย์ครั้งแรกเมื่อปี 2560 หลังจากมีอาการนอนไม่หลับ มีภาพเรื่องราวในอดีตแล่นไปมา ซึ่งเมื่อเขาไปพบก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า และรักษาตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่อาการดีขึ้นมากและแทบไม่ได้รับยาแล้ว

เขาเริ่มบวชครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี ด้วยเหตุผลก็เช่นเดียวกับเด็กหลายคนในต่างจังหวัด คือเพื่อโอกาสในชีวิตและการศึกษา ซึ่งถ้านับมาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 13 พรรษาแล้วที่เขาอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ และมีระเบียบชีวิตวนเวียนแบบเดิมเช่นทุกวัน

ระยะเวลาในการบวชตรงกับข้อมูลในงานวิจัย‘ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเกิดโรคซึมเศร้าในพระสงฆ์ ที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสงฆ์’ ของ พญ.จุฑามาศ โกสียะกุล และ อันธิฌา สายบุญศรี ซึ่งเก็บข้อมูลภิกษุที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าระหว่างปี 2549-2553 และพบว่า กลุ่มที่มีจำนวนพรรษาระหว่าง 11-15 พรรษาเป็นกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามากที่สุด

นอกจากกิจวัตรประจำวันที่ซ้ำเดิม เขายังให้ข้อมูลว่าตัวเขาเครียดจากการเรียนภาษาบาลี ซึ่งหลวงพี่ณคเรศเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองว่า ตัวเขาเผชิญภาวะหมดไฟหลังเรียนภาษาบาลีมาหลายระดับ เขารู้สึกเบื่อและไม่อยากเรียน แต่มันก็สัมพันธ์กับการสอบเลื่อนระดับในวงการสงฆ์

นอกจากนี้ สภาพสังคมสงฆ์ที่เขาเผชิญยังทำให้เขารู้สึกว่า “มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันอยู่ตลอดเวลา” เขากล่าวว่า “เจอมาสารพัดครับ คนที่รู้จักกัน พออยากทำตำแหน่งก็เอาเรื่องที่ไม่ดีของกันและกันมาเปิดโปง ยื่นเรื่องไปที่สำนักพุทธ เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เราก็รู้สึกว่าทำไมเล่นกันแรงจัง เหมือนไม่อยากให้มีจุดยืนในสังคมสงฆ์แล้ว”

อีกสาเหตุหนึ่งที่หลวงพี่ณคเรศให้ข้อมูลตรงกับงานวิจัยข้างต้นคือ การมีตัวตนของพระในวัดและชุมชน ซึ่งข้อนี้สัมพันธ์กับการได้รับเชิญให้ออกกิจนิมนต์ และได้รับเงินปัจจัยเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน

การเป็นที่รู้จักหรือมีตัวตนในวัดและชุมชน ทำให้ความเป็นอยู่ของพระเณรแตกต่างกัน ถ้าเป็นที่รู้จักก็จะได้งานบ่อย และก็จะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมากมาย แต่ถ้าไม่มีตัวตนเลย เขาก็จะไม่โดนนิมนต์ ไม่ได้รับการยอมรับและเกิดผลกระทบทางด้านความคิดต่อตัวเอง

ทางด้าน พระครูบรรพตสิทธิคุณ ศูนย์ฟื้นฟูพระภิกษุอาพาธทางจิต วัดป่าภูเมืองแล่นช้าง จังหวัดสุรินทร์ ให้ข้อมูลแตกต่างกันออกไป เพราะทางวัดตั้งศูนย์ขึ้นมาเพื่อรองรับผู้ที่มีปัญหาทางจิตและต้องการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาสภาพจิตใจ กล่าวคือคนที่มาบวชที่วัดแห่งนี้ล้วนมีอาการทางจิตมาก่อนอยู่แล้ว ไม่ว่าจากยาเสพติด, ครอบครัว หรือกรรมพันธุ์และการเลี้ยงดู

“คนที่มาบวชที่แห่งนี้เห็นว่าวัดแห่งนี้สามารถดูแลลูกเขาได้ หรือศาสนาเป็นที่พึ่งให้เขาได้ บวชแล้วทำให้เขาดีขึ้น” พระครูบรรพตสิทธิคุณยอมรับว่าศาสนาอย่างเดียวไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่การมาอยู่ที่วัดนี้ทำให้ “เขาได้รับยา ได้พักผ่อน และได้ที่พึ่งทางใจได้ไหว้พระสวดมนต์ ทำให้เขาผ่อนคลาย”

พระครูบรรพตสิทธิคุณให้ความเห็นเรื่องที่มาของภาวะซึมเศร้าในหมู่พระสงฆ์ต่อว่า การงานของพระสงฆ์โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ วนเวียนอยู่กับความสูญเสีย “ลองคิดว่าพระอยู่กับอะไร โยมตายก็ต้องไปสวดศาลานั้นศาลานี้ แค่สุดสัปดาห์ต้องออกกี่งานๆ” โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา

เรื่องเล่าจากปากพระทั้งสองรูปสะท้อนภาพที่แตกต่างกันของภาวะซึมเศร้ากับพระสงฆ์ หนึ่งคือผู้ที่มีอาการหลังเข้าสู่พุทธศาสนา และสองคือผู้ที่มีอาการอยู่แล้วค่อยเข้าสู่พุทธศาสนา

พระสงฆ์และกำแพงของโรคซึมเศร้า

ถ้าหากเทียบบัญญัติไตรยางค์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้างเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 2.4% ต้องมีพระสงฆ์อย่างน้อย 4,932 รูปที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลที่เปิดเผยว่าขณะนี้มีพระสงฆ์ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจำนวนเท่าไหร่

หลวงพี่ณคเรศและพระครูบรรพตสิทธิคุณให้ความเห็นตรงกันว่ามี 2 สาเหตุที่เป็นกำแพงระหว่างพระสงฆ์กับการรักษาโรคซึมเศร้า

ข้อแรก ความรู้ความเข้าใจโรคซึมเศร้า ทั้งคู่ประเมินจากประสบการณ์ตรงกันว่ามีพระสงฆ์หลายรูปที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น จึงไม่ได้เข้ารับการรักษาตัว หลวงพี่ณคเรศเล่าถึงช่วงที่แชร์เรื่องโรคซึมเศร้าให้พระสงฆ์รูปอื่นฟังว่า

ในฐานะคนที่เคยเป็นโรคซึมเศร้า อาตมาคิดว่าเป็นกันเยอะนะแต่ไม่รู้ตัวเอง บางทีเขามาปรึกษาเราว่ารู้สึกท้อ เหนื่อยในชีวิต และเรามาเทียบเคียงกันอาการตัวเองก็มีหลายคนนะ แต่พอบอกว่าท่านอาจจะมีภาวะซึมเศร้านะ เขาจะเกิดอาการแอนตีบอกว่าเขาไม่ได้บ้านะ

ข้อสองคือ รายได้ หลวงพี่ณคเรศได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้แล้วว่า การได้รับการยอมรับสัมพันธ์กับการได้รับเชิญไปกิจนิมนต์ และถ้าไม่ได้รับเชิญย่อมมีปัญหาเรื่องปัจจัยที่จะไปพบแพทย์

ขณะที่ทางด้าน พระครูบรรพตสิทธิคุณเล่าเช่นกันว่า เรื่องเงินเป็นปัญหาใหญ่ในการรักษาพระสงฆ์ที่มีอาการทางจิต มีครั้งหนึ่งที่เขาเชิญให้จิตแพทย์จากโรงพยาบาลหนึ่งเข้ามาภายในวัด แต่เมื่อเผชิญกับค่าใช้จ่ายระดับเกือบแสนบาท ทำให้จำต้องยุติวิธีนั้นไป

The MATTER ยังเคยพูดคุยกับ นายแพทย์ ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ข้อมูลว่า ประเทศไทยยังนับว่ามีจิตแพทย์ไม่เพียงพอ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่ใช่สาขาที่ได้รับความนิยมนัก และด้วยการเรียนเองก็ใช้เวลารวมแล้วเกือบ 10 ปี ทำให้การผลิตบุคลากรเพื่อเติมในสาขานี้ไม่ง่ายนัก และอีกสาเหตุหนึ่งที่พบในไทยคือ จิตแพทย์กระจุกตัวอยู่ตามเมืองหลวง ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องของโครงสร้างทางสาธารณสุขในไทย

 ข้อเสนอถึงวงการสงฆ์

ก่อนอื่นส่วนตัวผู้เขียนชื่นชมกรมสุขภาพจิตและทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับภาวะซึมเศร้า ทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยมีความตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ในมุมของพระครูบรรพตสิทธิคุณมองว่า วงการสงฆ์ยังตื่นตัวเรื่องนี้น้อยเกินไป และพระผู้หลักผู้ใหญ่ควรศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะผู้คนสังคมไทยยังพึ่งพระพุทธศาสนาและใช้การบวชเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้ชีวิตอยู่

“ต้องรู้เรื่องโรคซึมเศร้าเลยนะ โดยเฉพาะพระผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะลูกศิษย์ที่บวชเข้ามาอาจจะผิดหวังในชีวิตมาก่อน เราควรรู้ว่าเท่าทันอารมณ์พวกเขา เขาคาดหวังอะไรจากการบวช ต้องใส่ใจพวกเขาเลยแหละ” พระครูบรรพตสิทธิคุณแสดงควาเห็น

ทางด้านหลวงพี่ณคเรศเสนอว่า ทางวัดควรจัดให้มีจิตแพทย์และนักจิตบำบัดเข้ามาในวัดเป็นระยะ คล้ายเป็นสวัสดิการของวัด เพื่อทำให้การเข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น และเพื่อสร้างความตื่นตัวในโรคนี้ในหมู่พระสงฆ์

“ควรจะมีนักจิตแพทย์และนักจิตบำบัดเข้ามาตรวจประจำ เป็นแพคเกจเลย เพราะบางคนอาจจะยังไม่รู้หรือยังไม่ยอมรับเรื่องนี้” หลวงพี่ณคเรศเสนอ

 ก่อนวางสายจากกัน เราถามหนึ่งคำถามที่อยากรู้ส่วนตัวแก่หลวงพี่ณคเรศว่า “ถ้าการบวชทำให้หลวงพี่มีภาวะซึมเศร้า ทำไมหลวงพี่ไม่สึกออกมา?”

“ถ้าตามตรง เราบวชมานานจนได้รับการยอมรับและมีตัวตนในวงการนี้แล้ว ถ้าสึกเราก็ต้องไปนับหนึ่งใหม่ และวุฒิการศึกษาที่ได้รับมาในผ้าเหลืองเท่ากับศูนย์เปล่าเลย มันน่าเสียดาย ทำให้ไม่กล้าสึก ทำให้ยังอยู่ในวงการสงฆ์อยู่” หลวงพี่ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่าผ้าเหลืองคือน้ำเนื้อตัวตน หรือพูดได้ว่าอัตลักษณ์ของตัวเขา

“แล้วคิดจะสึกไหม?” เราถามต่อ

“คิดเหมือนกันว่าจะสึก แต่ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ น่าจะอีกหลายปีครับ” หลวงพี่ตอบกลับมาอย่างตรงไปตรงมาอีกครั้ง

ถ้าผู้อ่านเห็นเหมือนกันว่าพระสงฆ์คือมนุษย์คนหนึ่ง และพระก็คืออาชีพหนึ่งที่อยู่ในองค์กรทางศาสนาเพื่อหาเลี้ยงปากท้องตัวเอง เราน่าจะเห็นตรงกันว่าพระก็ป่วยได้ และพวกเขาควรได้รับความสนใจ ความรู้ และสิทธิในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขตามหลักสิทธิมนุษยชนเหมือนปุถุชนเช่นเรา..

 

ที่มา : https://thematter.com

Leave a Reply