“ปลัดมท.” เผยผ้าครามไทยสู่เวทีโลก “ดอนกอยโมเดล” โชว์เคสงานประชุม APEC2022

“ปลัดมท.” เผยผ้าครามไทยสู่เวทีโลก “ดอนกอยโมเดล” โชว์เคสงานประชุม APEC2022 สะท้อนแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 12.30 น. ที่บริเวณ foyer ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนน รัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปลัด มท.) ตรวจเยี่ยมนิทรรศการ “ดอนกอยโมเดล” ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC2022) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 โดยคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ได้คัดเลือกให้ “ดอนกอยโมเดล” เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยที่จะได้นำเสนอการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาวัฒนธรรมด้านเครื่องแต่งกายของคนไทยสู่เวทีโลก สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อันเป็นโครงการที่กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มทอผ้าบ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

“เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อต้อนรับผู้นำและรัฐมนตรีเอเปค จากสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย โดยไทยเป็นหนึ่งใน 12 เขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งการประชุมเอเปค จะมีคณะผู้แทนเขตเศรษฐกิจเอเปค และสื่อมวลชนต่างชาติที่เดินทางมากรุงเทพฯ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้รับเกียรติให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอการดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากผ่านการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ นั่นคือ “ผ้าไทย” ผ่านนิทรรศการและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า “ดอนกอยโมเดล” ซึ่งพี่น้องกลุ่มช่างทอผ้าต่างมีความรู้สึกตื่นเต้นและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความเป็นไทยและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สู่เวทีโลก” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ดอนกอยโมเดล” ถือเป็นความสำเร็จของการส่งเสริมพัฒนาชาวบ้านผู้ประกอบการทอผ้าให้ได้มีทักษะในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด จนส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในวันนี้ได้ ด้วยพระมหากรุณาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่หากเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2513 พระองค์ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามจังหวัดต่าง ๆ โดยทรงทอดพระเนตรเห็นผู้มาเฝ้ารับเสด็จมีความเดือดร้อนทุกข์ยากจากสถานการณ์อุทกภัยและผลผลิตทางการเกษตรทุกตกต่ำ จึงทรงครุ่นคิดว่าจะทำยังไงให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กระทั่งในปี 2515 พระองค์ทรงพบว่าประชาชนมีฝีไม้ลายมือในการทอผ้าได้อย่างวิจิตร งดงาม สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยจากบรรพบุรุษ พระองค์จึงทรงใช้หัตถกรรม หัตถศิลป์ดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยการทรงจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ และทรงมีพระดำรัส “ขาดทุนคือกำไร : Our loss is Our gain” กำไรในที่นี้ คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยได้ทรงค้นพบสิ่งที่เป็นคุณูปการต่อประเทศชาติ นั่นคือ “อัจฉริยภาพของฝีมือคนไทย” ที่เป็นมืออันมหัศจรรย์ ทำอาหารก็อร่อย ทำงานหัตถศิลป์หัตถกรรมก็วิจิตรบรรจง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำว่า นับเป็นความโชคดีและเป็นเดชะบุญของพวกเราชาวไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเข้ามาสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยทรงพระราชทานองค์ความรู้ตามหลักวิชาการด้านศิลปกรรม โดยไม่ละทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมเก่าก่อน ด้วยการพัฒนาต่อยอดสี ลวดลาย เทคนิค เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ผ้าเป็นที่สนใจ เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนไทยทุกเพศทุกวัยรวมถึง Global ไปถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการทรงปลุกเร้ากระตุ้นให้ผู้ทอผ้าได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยทรงนำวิชาศิลปะแฟชั่นตะวันตก นำผ้าไทยไปสู่ตลาดโลกที่ไร้พรมแดน และการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงประยุกต์เป็นข้าวของเครื่องใช้และเสื้อผ้าที่ทันสมัย ซึ่งที่ “บ้านดอนกอย อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร” หากย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563) ภาพที่พวกเราทุกคนจดจำกันได้ดี คือ ภาพที่พระองค์ได้เสด็จลงไปเยี่ยมชาวบ้านถึงใต้ถุนบ้านเก่า ๆ พื้นที่เต็มไปด้วยดินแดง มีหยากไย่อยู่ข้างฝาบ้าน ไปเห็นกี่ทอผ้า ลงไปคลุกคลี ไปพระราชทานคำแนะนำถึงชุมชน โดยทรงโน้มน้าวจิตใจให้กลุ่มทอผ้าได้ลองทำ ด้วยวิธีการ Learning by doing พัฒนาจากผ้าครามสีเข้ม กลายเป็น 6 เฉดสี กลายเป็นสี earth tone ที่มีลวดลายหลากหลาย พัฒนา Packaging ทำให้พี่น้องกลุ่มทอผ้าต่างสำนึกในพระมหากรุณา และเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้งทรงทาบทามให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าและดีไซเนอร์ชื่อดังระดับประเทศ เช่น โจ ธนันท์รัฐ หมู อาซาว่า อู๋ วิชระวิชญ์ จ๋อม เธียร์เตอร์ มาเป็นวิทยากร มาเป็นโค้ช ในการให้คำแนะนำพี่น้องประชาชน กระทั่งส่งผลทันตา คือ ผ้าของดอนกอยขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถล่มทลาย ออเดอร์ผลิตไม่ทัน และกลุ่มทอผ้าบ้านดอยกอย จากเดิมมีรายได้คนละ 700 บาทต่อเดือน ในปัจจุบันมีรายได้ 7,000-10,000 บาทต่อคนต่อเดือน ส่งผลทำให้ลูก ๆ หลาน ๆ เกิดกำลังใจในการสืบสานภูมิปัญญา นับว่าเป็นพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระองค์ในการ “พัฒนาคน” เหมือนกับการเจียระไนเพชร เพื่อให้คนไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีผู้สืบสาน รักษา ภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ต่อไป

“ดอนกอยโมเดล” ในวันนี้ ทำให้ปลายน้ำของวงจรชีวิตของคนที่มีความขยันหมั่นเพียรอุตสาหะ ผลิตชิ้นงานขึ้นมาได้มีโอกาสแพร่กระจายให้คนทั่วโลกได้มีโอกาสชื่นชมและสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ เป็นการตอกย้ำถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงสืบสานคุณค่าแห่งมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมไทยไปสู่การตลาดที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ยังประโยชน์ให้คุณภาพชีวิตน้องพี่น้องประชาชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ภายในบูธดอนกอยโมเดล นอกจากการจัดแสดงภูมิปัญญาและฝีมือของช่างทอผ้าแล้ว ยังมีกิจกรรมแสดงและสาธิต ได้แก่ กิจกรรมย้อมสีธรรมชาติ ย้อมคราม กิจกรรมค้นฮูก กิจกรรมกวักหมี่ กิจกรรมอิ้วฝ้าย/ดีด กิจกรรมมัดหมี่ กิจกรรมคันหมี่ กิจกรรมกวัดฝ้าย กิจกรรมเข็นฝ้าย กิจกรรมทอผ้า และกิจกรรมแสดงเส้นไหมย้อมจากสีธรรมชาติ รวมทั้งมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมคราม ทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผ้าพันคอ กระเป๋า และสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่ทำจากผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและแขกที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก และคาดว่าการออกบูธในครั้งนี้ จะสร้างรายได้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มทอผ้า ทั้งยังเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์ภูมิปัญญาผ้าไทยที่มีความทันสมัย มีความเป็นแฟชั่นนิยมไปสู่สายตาคนทั่วทั้งโลกต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply