มมร.เชิญเป็นเจ้าภาพถวาย “ภัตตาหารเพล” พร้อมชวนบริจาคเข้ากองทุนการศึกษา “สมเด็จพระสังฆราช”

วันที่ 11 กันยายน 2565  มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยชวนร่วมเป็นเจ้าภาพโครงการ “โภชเน มตฺตญฺญุตา” ถวายภัตตาหารเพลแด่พระนักศึกษา-บุคลากร ประมาณ 100 รูป   ณ หอฉันสันโดษ ภายในมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยทุกวันในเวลา 10.30 น. สำหรับผู้ประสงค์จะรับเป็นเจ้าภาพวันละ ๆ 10,000 บาท หรือจะบริจาคตามกำลังศรัทธาหรือจะร่วมนำภัตตาหารมาถวายก็ได้

สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกจะเดินทางมาสามารถบริจาคผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยชื่อบัญชี “มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย เลขบัญชี 459-0-72839-7 เพื่อโครงการโภชเน มตฺตญฺญุตา”

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยขอเชิญร่วมบริจาคผ่านกองทุนการศึกษาและภัตตาหาร สำหรับผู้บริจาคทั้ง 3 กองทอนนี้สามารถนำใบอนุโมทนาไปลดหย่อนภาษีได้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ พระมหาสุบิน ปญฺญาวโร โทร.06-475-5426

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ของประเทศไทย ที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระดำริจัดตั้ง “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นภายในวัดบวรนิเวศวิหาร โดยวิธีจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ มีลักษณะแตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลีตามประเพณีแบบเดิม ในขณะเดียวกัน ก็นำเอาวิธีวัดผลแบบข้อเขียนมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยด้วย

หลังจากที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงก่อตั้งสถาบันการศึกษานี้ขึ้นแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสให้พระองค์ทรงช่วยปรับปรุงโรงเรียนสอนภาษาบาลี ชื่อ “มหาธาตุวิทยาลัย” ภายในวัดมหาธาตุ ขึ้นเป็น “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”เพื่อจัดการให้ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ได้มีสถาบันการศึกษาชั้นสูงในลักษณะเดียวกัน ควบคู่ไปกับมหามกุฏราชวิทยาลัย

จนกระทั่ง ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้พยายามรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ จนประสบผลสำเร็จ เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ให้การอุปถัมภ์ โดยได้ทำการประกาศรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2488 ตามมาด้วย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งประกาศรื้อฟื้นกิจการในปี พ.ศ. 2490

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้แถลงว่า สาเหตุที่ต้องมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เพราะคณะสงฆ์จำเป็นต้องผลิตบุคลากรที่รู้ทันวิชาการสมัยใหม่ มิฉะนั้น คณะสงฆ์จะไม่สามารถสั่งสอนแนะนำชาวบ้านได้และการสื่อสารกันก็จะเกิดความไม่เข้าใจ เพราะชาวบ้านศึกษาด้านคดีโลก ส่วนพระสงฆ์ศึกษาด้านคดีธรรม ท่านจึงต่อสู้เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด มหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็ได้รับการรื้อฟื้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในปี พ.ศ. 2540 ในสมัย นายสุขวิช รังสิตพล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอให้รัฐสภาตรา ตามความในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 อันเป็นผลพวงมาจากการทุ่มเทและความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งของท่านฯ อย่างแท้จริง เหตุผลนี้ ทำให้คนรุ่นหลังกล่าวยกย่อง “อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ” ว่าเป็น บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ ณ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมี พระเทพวัชรเมธี (สมคิด จินฺตามโย) ดำรงตำแหน่งเป็น “อธิการบดี” 

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเปิดสอนแบ่งออกเป็น 5 คณะ ดังนี้ คณะศาสนาและปรัชญา ,คณะมนุษยศาสตร์ (เดิมชื่อ คณะศิลปศาสตร์), คณะสังคมศาสตร์ ,คณะศึกษาศาสตร์ และ บัณฑิตวิทยาลัย

วิทยาเขต 7 แห่ง คือ   วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดนครปฐม, วิทยาเขตอีสาน จังหวัดขอนแก่น วิทยาเขตล้านนา จังหวัดเชียงใหม่,วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช จังหวัดนครศรีธรรมราช,วิทยาเขตร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ดและ วิทยาเขตศรีล้านช้าง จังหวัดเลย

วิทยาลัย 3 แห่ง คือ   มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา (รับเฉพาะนักศึกษาหญิงและแม่ชีโดยเฉพาะ),วิทยาลัยศาสนศาสตร์ยโสธร จังหวัดยโสธร และ วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

Leave a Reply