“ปลัดเก่ง” ถวายโฉนดที่ดินจำนวน 303 ไร่ แด่ “วัดดอยสะเก็ด” จ. เชียงใหม่ พร้อมย้ำคนมหาดไทยต้องเป็นข้าราชการที่ดีของ“ในหลวง”เป็นราชสีห์ผู้ภักดีต่อเเผ่นดิน

ปลัดมหาดไทยถกผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือย้ำต้องเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นราชสีห์ผู้ภักดีต่อเเผ่นดิน เดินหน้าปฏิบัติภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  เพื่อเดินสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อของสหประชาชาติ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามรับฟังการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ณ อาคารอเนกประสงค์ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมรัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองอธิบดี กรมที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง อุตรดิตถ์ อุทัยธานี เชียงราย ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ลำพูน สุโขทัย รวมไปถึง รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ , ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และ อาจารย์คณิต ธนูธรรมเจริญ ที่ปรึกษาเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวง/หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม โดยก่อนการประชุมปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ถวายโฉนดที่ดินวัด จำนวน 303 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา แด่พระราชโพธิวรคุณ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสะเก็ด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันเเนวแน่ ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป ประกอบกับ กระทรวงมหาดไทย ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ของสหประชาชาติ (UN) ด้วยเเนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทยกว่า 69 ล้านคน ร่วมกับสหประชาชาติ “โลกนี้เพื่อเรา”” ซึ่งในฐานะข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นราชสีห์ผู้ภักดีต่อเเผ่นดินและข้าราชการที่ดีของพี่น้องประชาชน มีความตั้งใจที่จะ Change for Good ด้วยอุดมการณ์ (Passion) ที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่มาของการประชุมในครั้งนี้

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยกำลังขับเคลื่อนโครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการปกครอง ได้กำหนดให้นายอำเภอเเละทีมงาน อำเภอละ 10 คน จาก 878 อำเภอทั่วประเทศ มาร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในระยะเวลา 4 คืน 5 วัน จำนวน 8 ห้วงเวลา ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 17 มีนาคม พ.ศ. 2566 เพื่อสร้างทีมงานในระดับพื้นที่ ทั้งทีมที่เป็นทางการ หรือทีมบุคลากรประจำพื้นที่ตามกฎหมาย เเละทีมจิตอาสา หรือทีมที่มาจาก 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ทั้งท้องที่เเละท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งจะเป็นกลไกที่สร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นเเละจะเป็นทีมที่สามารถปิดจุดอ่อนของการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ อันเกิดจากการเลื่อนตำแหน่ง หรือโยกย้าย หรือ การเกษียณอายุราชการของบุคลากรภาครัฐ” ปลัด มท. กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัด และนายอำเภอ ในฐานะนายกรัฐมนตรีประจำพื้นที่อำเภอ มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจในการบูรณาการงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม เชิงพื้นที่ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้ภารกิจการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน คือ การสร้างทีม และทำให้ทีมทั้งทีมที่เป็นทางการ เเละทีมจิตอาสา หล่อหลอมรวมกันให้มีความรักใคร่สามัคคี มีความเข้มเเข็ง เเละมีความกระหายอยากในการพัฒนาบ้านเมือง สามารถบูรณาการทุกหน่วยงานให้มีทิศทางไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ควบคู่กับการพัฒนาระบบการดูแลกันในชุมชนหมู่บ้านเดิม ที่เรียกว่า คุ้มบ้าน หรือ หย่อมบ้าน หรือ ป๊อกบ้าน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลเเละดูเเลกันเเละกัน หากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เเละนายอำเภอมีทีมงานที่พร้อมจะทำงานเเล้ว ก็จะสามารถทำให้การบูรณาการคน งาน และทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่สามารถตอบสนองภารกิจทุกภารกิจได้อย่างมีคุณภาพอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การทำงานโดยยึดหลักหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ การเข้าใจ เข้าถึง เเละพัฒนา ซึ่งจะต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เเละเข้าใจสภาพปัญหาตามบริบทของเเต่ละภูมิสังคม เปิดโอกาสให้ทีมงานได้ร่วมเเสดงความคิดเห็น เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการร่วมคิดเเละร่วมทำ มีความเป็นเจ้าของ (Ownership) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่เเท้จริง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายการทำงาน คือ การทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโอกาสนำคณะผู้แทนองค์การสหประชาติประจำประเทศไทย นำโดยคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ไปลงพื้นที่ในหลายจังหวัด พร้อมร่วมพูดคุยกับผู้บริหารจังหวัดที่ได้ลงพื้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่ทุกจังหวัดจะร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ความยั่งยืน ซึ่งในขณะนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ดำเนินการเเก้ไขปัญหาตามข้อมูลจากฐานข้อมูล ThaiQM และ TPMAP อย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เเก้ไขเฉพาะเชิงปริมาณ ยกตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้านหนึ่งมีครัวเรือนตกเกณฑ์ เรื่องรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 5 ครัวเรือน การที่ภาครัฐจะลงไปช่วยเหลือเเล้วนำสิ่งของที่สามารถประกอบอาชีพได้ไปให้โดยให้เหมือนกันทั้ง 5 ครัวเรือนนั้นอาจเป็น

“สิ่งที่ถูกต้อง เเต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียดเเต่ละครัวเรือนอาจจะมีสภาพปัญหาต่างกัน เช่น บางครัวเรือนมีเเต่ผู้สูงวัย บางครัวเรือนมีคนพิการหรือผู้ป่วยติดเตียง หรือบางครัวเรือนผู้นำของบ้านถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ขาดรายได้ ดังนั้น เเต่ละครัวเรือนย่อมมีความต้องการในการได้รับความช่วยเหลือต่างกัน ซึ่งเราทุกคนต้องเลิกทำงานเเบบไฟไหม้ฟาง ด้วยการต้องทำงานเเบบรองเท้าขาดก่อนก้นกางเกงขาด และทำตัวเป็นรวงข้าวสุกที่โน้มลงหาพื้นดิน คือ ให้ลงพื้นที่ไปหาปัญหา ไม่ใช่รอรับรายงานเพียงอย่างเดียว ให้ไปถามไถ่พูดคุยรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ กับพี่น้องประชาชน เพื่อจะได้เข้าใจสภาพปัญหา เเละเเก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด พร้อมติดตามว่าปัญหาเหล่านั้นสามารถเเก้ไขได้อย่างยั่งยืนหรือไม่”นายสุทธิพงษ์กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการร้อยเรียงภารกิจต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง หรือโครงการทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ตามพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการหัตถศิลป์หัตถกรรม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์เเละมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติอีกด้วย โครงการพัฒนาพื้นการส่งเสริมเเละอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม ทั้งการสร้างวัฒนธรรมคน 3Rs (Reduce Reuse Recycle) การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การรณรงค์สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรดินเนื่องในโอกาสวันดินโลก ภายใต้เเนวคิด Soils, where food begins. หรือ อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” โครงการ “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) ที่มีเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล การกำหนดรูปแบบการจัดทำผังการจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน และผังภูมิสังคมพื้นที่ (Geo – Social Mapping) การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (CBDRM) ฯลฯ ซึ่งโครงการฯ นี้ จะร้อยเรียงทุกเรื่องเข้าไว้ด้วยกัน เป็นร่มใหญ่ของการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ผ่านทีมทางการ ทีมจิตอาสา เเละทีมตำบล/หมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้กลไกการทำงานทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับชุมชนหมู่บ้าน ระดับจังหวัด เเละระดับประเทศขยายผลการสร้างทีม เพื่อเตรียมความพร้อมและหนุนเสริมความเข้มเเข็งในการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สู่การยกระดับทุกหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

Leave a Reply