วันที่ 2 ก.ย.2562 เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้โพสต์ข้อความว่า วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2562 เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา มูลนิธิธรรมทานกุศลจิต เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2559 โดยหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป บนถนนพัฒนาการ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เป็นอาคาร 4 ชั้น เนื้อที่ประมาณ 4,000 ตร.ม. โดยแบ่งเนื้อที่ชั้น 1 และ 2 เนื้อที่รวมประมาณ 2,000 ตร.ม. มาตั้งเป็น “พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา”
จุดประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อที่เป็นศูนย์รวบรวมความรู้ด้านต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา โดยมีเป้าหมายที่จะให้เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งพุทธปัญญา” ดังนั้นเนื้อหาที่จัดแสดง จำเป็นต้องครอบคลุมด้านสำคัญๆ ดังนี้
1. ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ก่อนการประสูติ จนกระทั่งปรินิพพาน (โซน A, B, C, D) (โซน 1)
2. ความรู้เกี่ยวกับพระธรรมและพระศาสนา (โซน 2, 5, 9, 10 และ 11) โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร? (อริยสัจสี่)
3. ความรู้เกี่ยวกับพระสงฆ์ (โซน 3, 7, 8 และ 12) – 80 มหาสาวก และ 20 สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ – 18 เกจิอาจารย์ และ 29 พระอรหันต์
4. ความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนทางด้านปริยัติ (ทฤษฎี) (โซน 2, 5 และ 9)
5. ความรู้เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนทางด้านปฏิบัติ (ปฏิบัติ) (โซน 3, 10 และ 12)
6. ความรู้เกี่ยวกับ “สวรรค์-นรก” หรือสังสารวัฏ 31 ภูมิ หรือภูมิที่ต้องมีการเวียนว่ายตายเกิด (โซน 5) ทำไมจึงไปนรกหลังความตาย? ทำไมจึงจะได้ไปสวรรค์หลังความตาย? รวมเรียกว่า “โลกียภูมิ”
7. ต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่ต้องไปนรก แต่ได้ไปเกิดบนสวรรค์ หรือบนพรหมโลก (โซน 5)
8. ความรู้เกี่ยวกับ “โลกุตตรภูมิ” ภูมิที่ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด (โซน 5, 9, 10 และ 11)
9. ต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะได้ไป “โลกุตตรภูมิ” (โซน 5, 9, 10, 11 และ 12)
10. จุดมุ่งหมายสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาคืออะไร? (โซน 5, 9, 10, 11 และ 12)
ความรู้ทั้ง 10 เรื่องข้างต้น คือเป้าหมายของการศึกษาพระพุทธศาสนาของพิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็น“พิพิธภัณฑ์แห่งพุทธปัญญา”
ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา เปิดให้ประชาชนผู้สนใจสามารถจัดกลุ่มเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ โดยจัดกลุ่มตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เข้าชมได้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยพิพิธภัณฑ์ฯเปิดวันจันทร์ – เสาร์ เวลา 9:00 น. – 17:00 น. โดยศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ พิพิธภัณฑ์จรรโลงพุทธศาสนา – Museum for Sustainable Buddhism
Leave a Reply