สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตกรรมรอบตัดสินระดับประเทศ

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตกรรม รอบตัดสินระดับประเทศ ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางจตุพร ชมเชิงแพทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน คณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน คณะผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการหัตถกรรมผู้เข้าประกวด ร่วมรับเสด็จฯ

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงยังห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทอดพระเนตรนิทรรศการ “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และเสด็จไปยังห้องประกวดลายผ้า จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กราบทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานฯ และกราบทูลเชิญทรงตัดสินลายผ้าพระราชทานร่วมกับคณะกรรมการจากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โดยมีประชาชนช่างทอผ้าและงานหัตถกรรมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าประกวดระดับประเทศ เข้าเฝ้า ฯ ถวายรายงาน จำนวน 71 ราย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงพสกนิกรชาวไทย ด้วยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระองค์ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย โดยทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อ “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ เกิดความเชื่อมั่นว่า ความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่กับสังคมไทย ซึ่งพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทย ได้สะท้อนเป็นที่ประจักษ์ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” นั่นคือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค อันเป็นการกระตุ้นการสวมใส่ผ้าไทย ที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส โดยได้พระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม มีผู้สมัครเข้าประกวดประเภทผ้า จำนวน 2,946 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 298 ชิ้น โดยผ่านเข้ารอบตัดสินระดับประเทศ ประเภทผ้า จำนวน 61 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 10 ชิ้น

“นับเป็นมิ่งมงคลยิ่งต่อกิจกรรมการประกวด ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม รอบตัดสินระดับประเทศ ในวันนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จะน้อมนำพระดำริไปพัฒนาคน พัฒนาผู้ประกอบการ ช่างทอผ้า งานหัตถศิลป์หัตถกรรม ทุกรูปแบบ ในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตกรรม รอบตัดสินระดับประเทศ ในวันนี้ แบ่งเป็น 13 ประเภท ได้แก่ 1) ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ 2) ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป 3) ผ้าขิด 4) ผ้าจก 5) ผ้ายก /ยกเล็ก (ไหมยกดิ้น) 6) ผ้ายกแบบมีสังเวียน ไหมยกไหม หรือ ไหมยกดิ้นที่มีสังเวียน 7) หมี่ข้อ/หมี่คั่น 8) ผ้าบาติก/ผ้ามัดย้อม 9) ผ้าแพรวา 10) ผ้าซิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ลาวครั้ง 11) ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ 12) ผ้าเทคนิคผสมเทคนิคพื้นเมือง ประกอบด้วย 1. โสร่ง/ผ้าขาวม้า 2. ผ้าลายลูกแก้ว 3. ผ้าหางกระรอก 4. ผ้ากาบบัว 5. เกล็ดเต่า/ราชวัตร 6. ผ้าพื้นเมืองอื่นๆ และ 13) ประเภทหัตถกรรม โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับพระราชทานเหรียญทอง รางวัลรองชนะเลิศ จะได้รับพระราชทานเหรียญเงิน และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 จะได้รับพระราชทานเหรียญนาก นอกจากนี้ มีรางวัลพิเศษ โดยจะได้รับเหรียญพระราชทานพร้อมสร้อยคอทองคำ ประกอบด้วย 1. Best of the Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภท จะถูกนำมาออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ และรางวัลเหรียญพระราชทานพร้อมสร้อยคอทองคำ 2. สีธรรมชาติยอดเยี่ยม 3. ลวดลายตามแบบพระราชทานยอดเยี่ยม 4. บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ยอดเยี่ยม 5. ผ้าไหมพื้นบ้านยอดเยี่ยม (ผ้าที่ใช้ไหมพันธุ์พื้นบ้าน และสาวไหมยอดเยี่ยม) และ 6. Young OTOP

“เหรียญรางวัลพระราชทานการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ” และงานหัตกรรม มีลักษณะอันงดงามและสูงค่ายิ่ง คือ เป็นพระรูปผินพระพักตร์ด้านข้าง พระเกศาทัดบุปผาราชินี “ดอกแคทลียาควีนสิริกิติ์” หมายถึง พระปณิธานอันแรงกล้าของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จะสืบสานแนวพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการธำรงรักษาไว้ซึ่งสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติด้านการทอผ้า ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงของไทย ด้านหลังเป็นตราประจำพระองค์ อักษรพระนาม “สร” และพระนาม “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 3 เซนติเมตร” ดร. วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีความมุ่งมั่นในการตัดสินผลงานของผู้เข้าประกวดด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ โดยทรงทอดพระเนตรชิ้นงานทุกชิ้นด้วยพระองค์เองอย่างประณีตบรรจง และทรงตรัสถามผู้เข้าประกวดถึงแรงบันดาลใจและรายละเอียดของชิ้นงานแต่ละชิ้น โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมรับฟังและตัดสินการประกวดอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะผลงานทุกชิ้นมาจากความตั้งใจของผู้เข้าประกวดผู้มี Passion ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาบรรพบุรุษให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับผลการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ” และงานหัตกรรม รอบตัดสินระดับประเทศในครั้งนี้ จะได้ประกาศผลให้ทราบต่อไป

Leave a Reply