วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และคณะผู้บริหารจากวิทยาลัยกิจการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม พร้อมนักศึกษา “หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง รุ่นที่ ๑๘ (ยธก.๑๘)” จำนวน ๖๕ คน ซึ่งเดินทางมาศึกษาดูงานเรียนรู้และรับฟังการบรรยายพิเศษ ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ภายใต้หัวข้อ “ยุติธรรมในโลกสมัยใหม่กับความท้าทายต่อหลักคิดในทางพระพุทธศาสนา และพระพุทธศาสนากับการตอบโจทย์กระบวนการยุติธรรมในโลกยุคใหม่ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร” ซึ่งบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน โดย พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมประธานคณะทำงานขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ถือว่าเป็นความร่วมมือทางวิชาการภายใต้ MOU ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับ สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
โดยภาคเช้า พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศาสตราจารย์ ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมประธานคณะทำงานขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ได้มอบหนังสืออันล้ำค่าให้กับคณะผู้บริหารจากวิทยาลัยกิจการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม พร้อมนักศึกษา “หลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง รุ่นที่ ๑๘ (ยธก.๑๘)” สะท้อนประเด็นสำคัญว่า ศาสนากับกฎหมายเป็นเรื่องเดียวกัน ถือว่าเป็นฐานพัฒนามนุษย์ในความดี คือ ไตรภูมิพระร่วง โดยมองชุดความคิดในการบริหารบ้านเมืองจะใช้ความชุดความคิดใดความคิดหนึ่งจึงเป็นที่มาของไตรภูมิพระร่วง ส่งผลให้เกิดทศพิธราชธรรม พอมีการปฏิรูปบ้านเมืองในมิติกับศาสตร์ใหม่ทำให้ธรรมาภิบาลหายไป แล้วธรรมาภิบาลกลับมาใหม่ ซึ่งเวลาเราบริหารเรามุ่งแต่อำนาจ เช่น อำนาจการบริหาร อำนาจของเงิน แต่ขาดอำนาจภายในจิตใจ เรามุ่งภูมิปัญญาตะวันตกแต่ภูมิปัญญาตะวันออก ซึ่งในทศพิธราชธรรม ข้อ “อวิโรธนะ” แปลว่า การไม่คลาดเคลื่อนไปจากธรรม หมายถึง ยุติธรรม เป็นการยุติโดยธรรมซึ่งปราศจากอคติทั้งปวง ไม่ลำเอียงเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลง เพราะกลัว ซึ่งหลงมี ๒ หลงคือ หลงรัก กับ หลงเกลียด พอหลงขึ้นมาจะหาข้อมูลเพราะจัดการคนอื่น ผู้นำจะต้องไม่กลัวจะต้องมีความกล้า
ในกระบวนการยุติธรรมมี ๒ ประการ ประกอบด้วย ๑)ยุติธรรมกระแสหลัก มุ่งฟ้องร้องยุติที่ศาล ๒)ยุติธรรมกระแสทางเลือกหรือทางรอด มุ่งการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหาทางแบบสันติวิธี ยุติความขัดแย้งแบบสันติวิธี หาความต้องการที่แท้จริงจนเกิดพึงพอใจทั้งสองฝ่าย กฎหมายเป็นเครื่องมืออำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอดีตใช้เจ้าโคตร ซึ่งเป็นผู้นำธรรมชาติในชุมชนสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของคนในชุมชน จึงมีการพัฒนาเป็นพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นห่วงว่าตัวชี้วัดไม่ได้มาจากคนในท้องถิ่นชุมชน ทำให้ไม่สามารถเกิดความยั่งยืนในชุมชนได้ โดยในมาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่ารัฐพึงสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาซึ่งประชาชนของประเทศนับถือส่วนมาก
ในไทยมีสถานการณ์ที่เปราะบาง จึงต้องหาเครื่องมือในการบริหารจัดการต่อไป จึงต้องเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของตนเอง ในมิติกฎหมายออกแบบมาเป็นสภาพบังคับ แต่ในมิติพระพุทธศาสนากับความยุติธรรมจึงต้องพูดถึงความจริง ทำให้อินเดียนำไปใช้ กล่าวว่า “ความจริงย่อมชนะสรรพสิ่ง” ในฆราวาสธรรมจึงประกอบด้วย สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ โดยความจริงจะต้องมาก่อนทำให้ความจริงปรากฎ “สิ้นสงสัย” ถ้าสงสัยจะต้องยกฟ้อง กฎหมายจะต้องแสวงหาความจริงให้ปรากฎ ซึ่งความจริงทำให้มนุษย์ประเสริฐ มนุษย์ประเสริฐกว่าสัตว์ และความจริงที่ทำให้พ้นจากความทุกข์นั่นคือ “อริยสัจ ๔” ประกอบด้วย ๑)ขั้นทุกข์คือ ประเด็นปัญหา จุดเจ็บปวดของท่านคืออะไร ต้องทำความรู้จักทุกข์ ๒)ขั้นสมุทัยคือ สาเหตุของความเจ็บปวดของความทุกข์ สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุจะดับทุกข์ได้ต้องไปหาเหตุ ๓)ขั้นนิโรธคือ วางเป้าหมาย หมดปัญหา พบความสุข เป็นการปักมุดวิสัยทัศน์ว่าจะไปไหนต้องการอะไรกันแน่ ๔)ขั้นมรรคคือ วิธีการ ทำอย่างไรจะบรรลุคือ มรรค ๘ เป็นกลยุทธ์เพื่อให้ไปถึงนิโรธคือเป้าหมาย จึงต้องกลยุทธ์ตามลำดับ ซึ่งพระพุทธเจ้าใช้กลยุทธ์ ๘ ตัว ประกอบ สัมมาทิฐิ การเข้าใจที่ถูกต้องเป็น Mindset จึงต้องเริ่มต้นจากความจริง “บอกความจริงมาเถิดแม้มันจะเจ็บปวด เจ็บแต่จบ” สิ่งที่พึงตระหนักคือ ประเทศไทยต้องพูดความจริง ออกแบบโครงสร้างร่วมกัน มุ่งสัมมาวาจาโดยการสื่อสาร How ว่าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร ที่ผ่านมามุ่ง Why หาคนผิด ใช้วาจาด่ากัน จึงควรสร้างเวทีในการสื่อสารร่วมกันด้วยสัมมาวาจาเป็นฐาน
ในทางพระพุทธศาสนาจึงต้องมองกรอบของ “ปธาน” ในทางพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย เพียรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพียรแก้ไขให้ดีขึ้น เพียรพัฒนาสร้างให้ดีขึ้น และเพียรรักษาสันติภาพให้เกิดความยั่งยืน จะทำให้เกิดการพัฒนากายภาพคือ สิ่งแวดล้อมที่ดี พัฒนาพฤติภาพคือด้านสังคมมการอยู่ร่วมกันไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พัฒนาจิตตภาพคือ การสร้างสันติภายในจิตใจมั่นคง และพัฒนาปัญญาภาพคือ การสร้างนวัตกรรมให้กับสังคม ภายใต้กรอบของภาวนา ๔ ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่เราอยากจะได้ นำไปสู่สันติยุติธรรมในสังคม
จากนั้น พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา มจร และเลขาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร นำชมศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร โดย ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ถือว่าเป็นศูนย์ระดับเกรด A ครบตามมาตรฐาน ๓๕ ตัวชี้วัดของกระทรวงยุติธรรม โดยมีการขับเคลื่อนภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมีการฝึกอบรมพัฒนาผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ย พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมไปตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน โดยการตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยของ มจร อยู่ภายใต้แผนการพัฒนาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติในมิติของ “เงิน งาน คน” โดยมุ่งด้านกายภาพ ด้านพฤติภาพ ด้านจิตตภาพ และด้านปัญญาภาพ สอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ ๑๖ เพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสุข โดยผลการดำเนินงานของการขับเคลื่อนศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร สะท้อนถึง การบริการวิชาการด้านกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในนามศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร สอดรับกับเกณฑ์มาตรฐานของตัวชี้วัดของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร
ยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าตรวจประเมินมาตรฐานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร สะท้อนว่า ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ได้ผ่านประเมินมาตรฐานตามตัวชี้วัด ๔ ด้าน ๓๕ ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ด้านที่ ๑ โครงสร้างเชิงกายภาพ จำนวน ๖ ตัวชี้วัด ด้านที่ ๒ ด้านบุคลากร จำนวน ๖ ตัวชี้วัด ด้านที่ ๓ ด้านการบริหารจัดการ จำนวน ๑๒ ตัวชี้วัด ด้านที่ ๔ ด้านงานบริการ จำนวน ๑๑ ตัวชี้วัด ซึ่งมาตรฐานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีความมั่นใจจะได้รับการอำนวยความยุติธรรมเป็นยุติธรรมทางเลือก จากการตรวจประเมินศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร ผลการประเมินคณะกรรมการลงมติให้ “ระดับดีเด่น” เต็มร้อยคะแนนตามาตรฐานตัวชี้วัด
โดยคณะกรรมการจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร โดยเสนอว่า ๑)ต้องปรับคณะกรรมการให้เหมาะสมในการทำงานเชิงรุก โดยเชิญผู้นำชุมชนมามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนด้วย ๒)มุ่งยกระดับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เป็นศูนย์ต้นแบบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๓)ศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนมุ่งเชิงป้องกันมากกว่าแก้ไข ๔)พัฒนาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบออนไลน์สามารถเข้าถึงได้ง่าย ๕)พร้อมยกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสันติภาพ
โดยกระทรวงยุติธรรมยกศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนต้นแบบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนต้นแบบระดับประเทศ ถือว่าเป็นศูนย์ระดับเกรด A เพราะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร มุ่ง ๒ มิติ ประกอบด้วย ๑)สันติสนทนาหาทางออกร่วมกันรักษาความสัมพันธ์ ๒)ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหาทางออกโดยมีกฎหมายรับรอง จึงมีการเตรียมการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เพื่อเป็นฐานการเสริมสร้างสังคมสันติสุข
ในการประเมินผลในครั้งนี้ ว่าที่ พ.ต. ดร. สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานยุติธรรมใน คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ที่ปรึกษาคณะกรรมการสันติบาตรสหกรณ์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมต้อนรับผู้บริหารจากวิทยาลัยกิจการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และนักศึกษาหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง รุ่นที่ ๑๘ (ยธก.๑๘) ในครั้งนี้ด้วย
พระปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า จึงขออนุโมทนาบุญกับผู้บริหารของสำนักงานกิจการยุติธรรม โดยมีนายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในการนำคณะมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ โดยอนุโมทนาบุญกับวิสัยทัศน์ของท่านพันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ในการพัฒนาหลักสูตรในการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง เพื่อสร้างผู้นำด้านการบริหารงานยุติธรรมให้มีความธรรมในสังคมต่อไป ในโอกาสนี้ขออนุโมทนาบุญในทานบารมีของมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) มีพระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร และเจ้าอาวาสวัดสารอด กรุงเทพมหานคร ในการร่วมสนับสนุนอาหาร เครื่องดื่ม อาหารว่าง สำหรับพระสงฆ์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาหลักสูตรการบริหารงานยุติธรรมระดับกลาง รุ่นที่ ๑๘ (ยธก.๑๘) ในครั้งนี้
Leave a Reply