หลังจาก พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วน แถลงข่าวเสนอร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพุทธในประเทศไทยเรียกร้องมาอันยาวนาน สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีทั้งหมดมี 7 หมวด 52 มาตรา ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และหากผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎจะเกิดสำนักงานใหม่ชื่อ “สำนักงานคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” และมีตัวแทนทุกจังหวัดเหมือนกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยคณะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้เหตุผลว่า
พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักในสามสถาบัน คือ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาสนาพุทธเป็นสถาบันศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน และศาสนบุคคลซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาสั่งสอนให้คนในชาติตั้งอยู่ในศีลธรรม มีสติปัญญาและความเข้มแข็งอันเป็นหลักในการค้ำจุนชาติไทยมาโดยตลอด สมควรสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้แก่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นพลังสร้างความมั่นคงแก่ชาติไทย แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับความอุปถัมภ์และส่งเสริมกิจการจากรัฐอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมงานหลักของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ทั้งประชาชนทั่วไปยังมิได้มีส่วนร่วมในการให้ความอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จำต้องมีกำลังเสริมให้งานพระพุทธศาสนาดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้ความอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาของรัฐร่วมกับภาคเอกชนเป็นการผนึกกำลังกันเสริมความมั่นคงแก่พระพุทธศาสนาและสร้างประสิทธิภาพในการนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชาติไทยมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ส่วนรายละเอียดยกมาบางมาตรา มีดังนี้
มาตรา ๓ “อุปถัมภ์และส่งเสริม” หมายความว่า การอุดหนุน การช่วยเหลือ การทำนุบำรุง และส่งเสริมด้านงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์ ข้อมูลข่าวสาร การให้คำปรึกษาแนะนำ และการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงของพระพุทธศาสนา
“พระพุทธศาสนา” หมายความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ และศาสนพิธี
มาตรา ๕ การอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามมาตรา ๑๓ (๑) ให้มีแนวทาง ดังนี้
(๑) ส่งเสริมการปกครองของคณะสงฆ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(๒) ส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของศาสนบุคคลและพุทธศาสนิกชนให้เจริญมั่นคงในหลักไตรสิกขา
(๓)ส่งเสริมจัดการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ครบถ้วนตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด
(๔) ส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรมอย่างถูกต้อง รวมทั้ง จัดให้มีหลักสูตรการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน
(๕) ต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรทางพระพุทธศาสนาภาคเอกชน และภาคประชาชนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เหมาะสมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(๖) จัดให้มีระบบการบริการสาธารณสุขและการพัฒนาระบบสุขภาพแก่คณะสงฆ์ สามเณรและแม่ชี อย่างมีมาตรฐาน ทั่วถึง สะดวก และมีประสิทธิภาพ
(๗) ส่งเสริมการยกย่องเชิดชูเกียรติองค์กรหรือบุคคลที่มีผลงานดีเด่นและเป็นแบบอย่างที่ดีทางพระพุทธศาสนา
(๘) ส่งเสริมและสนับสนุนคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในการเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานทางพระพุทธศาสนา
(๙) สนับสนุนให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา
มาตรา ๖ การอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐจัดให้มีการระดมเงินและทรัพยากรทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการ และต่างประเทศมาใช้เพื่อการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมเงินและทรัพยากรดังกล่าว โดยการใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธ ศาสนาแห่งชาติ” ประกอบด้วย
(๑) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนมหาเถรสมาคมจำนวนสองรูป ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลหรือผู้แทน
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่รูปโดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา การศึกษา เทคโนโลยีและการสื่อสาร การต่างประเทศ การสาธารณสุข กฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการบริหารจัดการ จำนวนเก้าคน
ให้เลขาธิการคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจำนวนสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นที่ปรึกษา
มาตรา ๑๗ ให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด ประกอบด้วย
(๑) ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัด พระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิสี่รูปซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งโดยคำแนะนำของเจ้าคณะจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งแต่งตั้งจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งในเขตจังหวัดซึ่งเลือกกันเองให้เหลือประเภทละหนึ่งคน และประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด
(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนเก้าคน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา การศึกษา เทคโนโลยีและการสื่อสาร กฎหมาย รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข และการบริหารจัดการ
ให้ผู้อำนวยการสำนักงานอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการกรรมการโดยตำแหน่งทุกคนต้องเป็นพุทธศาสนิกชน หากกรรมการโดยตำแหน่งผู้ใดมิใช่พุทธศาสนิกชน ให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองลงมาที่เป็นพุทธศาสนิกชนเป็นกรรมการแทน
มาตรา ๒๐ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น
มาตรา ๓๘ ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรียกว่า “กองทุนอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา” เพื่อเป็นทุนอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา
มาตรา ๔๒ ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีความรู้ความสามารถทางด้านการเงิน การบัญชี การบริหารจัดการ เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย จำนวนสิบห้าคน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องแต่งตั้งพระภิกษุจำนวนสองรูปโดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคมด้วยมหาเถรสมาคมอาจมีมติแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริหารกองทุน
มาตรา ๕๒ ในวาระเริ่มแรกให้รัฐบาลจัดสรรเงินเข้าบัญชีกองทุนตามมาตรา ๓๘ เป็นจำนวน “หนึ่งพันล้านบาท”เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน
*******************
รายละเอียดร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
Leave a Reply