ปลัดมหาดไทยจับมือนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยมอบแนวทางขับเคลื่อนงาน “แม่บ้านมหาดไทย 20 จังหวัดภาคอีสาน” เน้นย้ำ สร้างทีมแม่บ้านมหาดไทยเพื่อหนุนเสริมงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เคียงข้างผู้ว่าฯ

 วันนี้6 ม.ค. 66 เวลา 15.00 น. ที่มลฑาทิพย์ ฮอลล์ ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดอุดรธานี อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประจำปี 2566 ในการประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 2 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2566 โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุดรธานี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางจิรวรรณ เพ็ญพาส นางปวีณ์ริศา เกิดสม นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย นางสุจิตรา ศรีนาม นางนฤมล ล้อมทอง ที่ปรึกษานายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด คณะกรรมการชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด รวมกว่า 500 คน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า เป็นระยะเวลากว่า 131 ปี ที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่น “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ด้วยการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “แก้ไขในสิ่งผิด” มากระตุ้นปลุกเร้าให้ทุกภาคส่วนช่วยกันฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองที่มีภาวะน้ำเสีย น้ำเน่าเหม็น มีสิ่งสกปรก ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากพวกเราทุกคน เพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม มีน้ำที่สะอาด ปราศจากมลพิษ อันจะทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีความสุข ซึ่งท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดและคณะกรรมการมีส่วนสำคัญในการร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสนองพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการรณรงค์ส่งเสริมการฟื้นฟูแหล่งน้ำดังที่ได้ช่วยกันดูแลในปีที่ผ่านมาให้ยังมีความสะอาด สวยงาม มีความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เฉกเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนา “คลองแม่ข่า” กระทั่งกลายเป็น Landmark ที่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งแม้ว่าจะทำเสร็จเพียง 5-10 กิโลเมตรจาก 32 กิโลเมตรแต่ก็ได้กลายเป็นสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกคนจะต้องไปเยือนเมื่อไปเที่ยวที่เชียงใหม่ โดยในปีนี้ทุกจังหวัดได้มีเป้าหมายจะปรับปรุงลำน้ำคูคลองเพิ่มขึ้นอีก 1 แหล่ง เพื่อให้การ Change for Good ไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง แต่เป็นการ Change for  Good ที่มีความยั่งยืนต่อเนื่อง จนสามารถแก้ไขในสิ่งผิด ทำให้ประเทศไทยเป็นแผ่นดินทองส่งต่อไปยังชั่วลูกชั่วหลาน

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า แม่บ้านมหาดไทยและทีมงานต้องช่วยกันกระตุ้นปลุกเร้าให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมงานของผู้ว่าราชการจังหวัดได้ผนึกกำลังขับเคลื่อนงานด้วยหลักการทรงงาน “บวร” “บรม” “ครบ” อันได้แก่ บ้าน คือ พี่น้องประชาชน ราชการ คือ ทุกส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และวัดหรือผู้นำศาสนาที่พี่น้องประชาชนให้ความเคารพนับถือเลื่อมใส ทำให้เกิด “ทีมผู้ก่อการดี” เพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ด้วยน้ำมือของพวกเราทุกคน ทำให้คนไทยได้ลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลชาติบ้านเมือง ด้วยการทำให้จิตอาสาที่มีอยู่ในสายเลือดของคนไทยได้แสดงออกมาเป็นการกระทำ โดยตั้ง “ทีมแม่บ้านมหาดไทย” ในทุกจังหวัด อำเภอ คู่ขนานไปกับ “ทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน” ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ได้ช่วยกันจัดตั้งขึ้น โดยรวมทีมจากภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ช่วยกันปลุกเร้าความมุ่งมั่น ปลุกเร้า Passion ดึงผู้คนที่มีจิตอาสา เพราะ “ทีมต้องมีก่อน” เมื่อมีทีมผู้ก่อการดี สิ่งดี ๆ ที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ก็จะไม่โดดเดี่ยว เพราะเรามีทีมงานที่ไม่มีเงื่อนไขของตำแหน่งแห่งที่ อายุ เพศ มีแต่ “ความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากทำสิ่งที่ดีเพื่อส่วนรวม” ดังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงกระตุ้นยุยงให้คนไทยไม่เอาอายุมาเป็นตัวเลขในการที่บอกว่าทำงานหรือไม่ทำงานเพื่อส่วนรวม รวมถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงตรัสกับครูที่เกษียณอายุราชการว่า “ขอให้ช่วยเหลืองาน ช่วยเหลือเด็ก ในโรงเรียนถิ่นทุรกันดารด้วยกันต่อไป เพราะเราเกษียณอายุราชการได้ แต่เราต้องไม่เกษียณจากการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม” และสิ่งที่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้ทรงทำเป็นแบบอย่างให้กับพวกเราทุกคน

  “ขอให้น้อมนำสิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานให้หนักกว่าเก่า ด้วยการไปชวนไปเชิญคนที่เราเห็นว่าเขาเป็นคนดี เป็นผู้มีความเสียสละ เต็มใจอยากมาช่วยเหลือสังคม โดยไม่แบ่งแยกว่าต้องเป็นข้าราชการหรือมีอายุเท่าใด และเมื่อมีทีมแล้ว ต้องติดต่อสื่อสารระหว่างทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้สิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ไปลงนามประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ร่วมกับผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะความสำเร็จในงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องมีประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดและสมาชิกทั้งของจังหวัด อำเภอ ร่วมเดินเคียงคู่ เพื่อเป็นศูนย์รวมของคนที่มีจิตอาสาที่อยู่ในพื้นที่ให้มาช่วยกันทำสิ่งที่ดี” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดต้องช่วยกันขับเคลื่อนการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ด้วยการบริหารจัดการขยะในชุมชนตั้งแต่ต้นทาง คือ ส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือนรู้จักการคัดแยกขยะ เป็นมนุษย์ 3Rs คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สำหรับในพื้นที่ชุมชนเมืองในเขตเทศบาล ให้ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ แล้วนำขยะเปียกหรือเศษอาหารไปใส่รวมในถังขยะเปียกลดโลกร้อนรวมของเทศบาลแล้วปิดฝา เพื่อลดการปลดปล่อยของเสียลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศ ที่จะทำให้เกิดสภาวะก๊าซเรือนกระจก ที่จะส่งผลให้ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกต้องได้รับผลกระทบทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งทุกท่านมีหน้าที่ต้องไปสื่อสารเรื่องดี ๆ ทุกเรื่อง ต้องอรรถาธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำแค่สวยงาม แต่เราทำเพื่อให้คนในจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน “มีความสุข” และที่สำคัญ เพื่อ “โลกใบเดียว” ของพวกเราทุกคน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวในช่วงท้ายว่า ทุกคนต้องร่วมกันน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวเกษตรกรในชนบท เพราะท่านทำให้คนพวกเขาเป็นล้าน ๆ คนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการนำ “ผ้าไทย” ที่ประเทศไทยเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศของโลกที่มีผ้าเป็นของตนเอง เป็นเครื่องยืนยันถึงความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มอันเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของชีวิตประจำวัน อันเป็นภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรมของบรรพบุรุษ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการช่วยกันสวมใส่ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้มีรายได้ให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือ ได้ซ่อมบ้านที่อยู่อาศัย ได้ไปซื้อยารักษาโรค ลูก ๆ หลาน ๆ เมื่อเห็นปู่ย่าตายายทำแล้วมีรายได้ ก็จะเลียนแบบทำตาม จนมีคนรุ่นต่อไปทำเกิดเป็นความยั่งยืน ทุกองคาพยพครบวงจรของผ้าไทย ทั้งคนตัดเย็บ คนออกแบบ คนทำกล่อง คนขายปลีก คนขายส่ง ทุกคนก็มีรายได้ และนับเป็นความโชคดีที่เรามีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จย่าของพระองค์ พระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพช่างทอผ้าและช่างตัดเย็บให้ถักทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า จากผ้าไทย ให้เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถใส่ได้ในทุกเพศ ทุกโอกาส ทุกช่วงวัย พร้อมทั้งพระราชทานลายผ้า อาทิ ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเนื่องในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งที่พระองค์ท่านจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 ม.ค. 66 นี้ จึงขอให้ทุกจังหวัดได้รณรงค์ส่งเสริมให้ข้าราชการ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่สวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน โดยในวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันประสูติของพระองค์ท่าน ให้สวมใส่เสื้อผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไม่จำกัดสี ซึ่งเป็นลายผ้าพระราชทานลายแรกที่พระองค์พระราชทานให้พสกนิกรชาวไทยจนทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์เกิด คือ รายได้จากการจำหน่ายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ถล่มทลาย ฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาได้ อันทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

 “ขอให้ท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดและคณะกรรมการทุกท่านได้กลับไปสร้างทีมและอรรถาธิบายให้กับทีมที่ไปจัดตั้งให้ได้เข้าใจถึงเบื้องหลังความตั้งใจที่จะให้เกิดสิ่งดี ๆ ที่กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเห็นพี่น้องประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และในฐานะนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเช่นกัน ท่านต้องไปเชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ร่วมกับสมาชิกเหล่ากาชาดที่ได้ทำงานมาเป็นระยะเวลานานด้วยความตั้งใจ เพื่อให้เกิดทีมงานที่มีหัวใจต้องการช่วยเหลือผู้อื่น มีหัวใจที่ต้องการทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่สวยงาม น่าอยู่อาศัย และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในทุกเรื่อง ผนึกกำลังเป็นเหมือนแขนงไม้ไผ่ที่มามัดรวมเป็นพลังที่มีความแข็งแรงเพื่อ Change for Good ให้เกิดความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อให้ภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของพวกเราทุกคนมีความสำเร็จอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้กล่าวถึงนโยบายของสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในปี2566 ได้แก่ 1) โครงการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร น้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ในทุกครัวเรือน และขยายผล โครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” 2) น้อมนำแนวพระราชดำริฯ ส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กและแม่เติบโตอย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ 3) น้อมนำแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีอาชีพที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และ 4) โครงการ “ครอบครัวมหาดไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สร้างความตระหนักและความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกตั้งแต่ต้นทาง (ครัวเรือน) โดยสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะติดตามและประเมินผลการทำงานของประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเพื่อพิจารณาเข้ารับพระราชทานรางวัลเพชรดอกแก้วในช่วงปลายปี 2566 ต่อไป

 จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มอบเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวพันธุ์สีม่วงสิรินธรให้แก่ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด เพื่อนำไปต่อยอดขยายผลให้กับภาคีเครือข่ายให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

Leave a Reply