คกก.ขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 หนกลาง บูรณาการภาครัฐเดินหน้า “หมู่บ้านพอเพียง-หมู่บ้านยั่งยืน” มุ่งสร้างสังคมไทยสู่สันติสุข 

วันที่  21  กันยายน 2566  ที่อาคารโดมองค์การบริหารส่วนตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม พระเทพปวรเมธี ประธานคณะกรรมการตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ประจำหนกลาง พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรม โดยมี พระเทพสุเมธี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม(ธรรมยุต) พระภาวนาวิสุทธิโสภณ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมี นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน ถวายการต้อนรับ โดย พระเทพปวรเมธี ประธานคณะกรรมการฯ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย นำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกล่าวแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เจ้าคณะจังหวัดทั้งสองนิกาย เจ้าคณะอำเภอ รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการถวายสักการะประธานขับเคลื่อนโครงการ ประธานคณะกรรมการตรวจเยี่ยมกล่าวเปิดการประชุมพร้อมให้โอวาท ในการตรวจเยี่ยม นายธีระ ดอกไม้จีน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลคลองโคน กล่าวถวายรายงานผลการดำเนินงานฯ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานในรูปแบบวิดีทัศน์ของ “หมู่บ้านรักษาศีล 5 หมู่บ้านคลองโคน หมู่ที่ 2 จบแล้ว คณะกรรมการส่วนกลาง ได้สอบถามผลการดำเนินการตามโครงการและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อยกระดับโครงการ “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ต้นแบบ จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นำประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5,มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ จำนวน 21 รูป/คน ประธานสงฆ์มอบของที่ระลึกแด่ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน ,รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม หัวหน้าส่วนราชการ ถวายของที่ระลึกแก่คณะกรรมการทุกรูป

จากนั้นประธานคณะกรรมการตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5” ประจำหนกลาง พร้อมคณะเยี่ยมการนำเสนอกิจกรรมของชุมชนบ้านคลองโคน ประกอบด้วย นิทรรศการป่าชายเลน,การทำกะปิเคยตาดำคลองโคน,การเลี้ยงหอยแครง,การทำน้ำตาลมะพร้าวแปรรูป และการทำประมงพื้นบ้าน มอบทุนการศึกษาให้นักเรียน จำนวน 97 ทุน และมอบพันธุ์ต้นไม้เพื่อให้ผู้มาร่วมงานนำไปปลูกป่าชายเลนในรอบบ่าย

ทั้งนี้พระมหาบุญเลิศ ช่วยธานี,ศ.ดร. รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี  ในฐานะรขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5”  เปิดเผยว่า  กว่า  2 เดือนแล้ว ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5 ชุดต่าง โดยการแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจเยี่ยมหมู่บ้านรักษาศีล 5  ต้นแบบ 77  แห่งในทุกจังหวัด จะสิ้นสุดภารกิจกันปลายเดือนกันยายนนี้ การเดินทางลงพื้นที่ของคณะกรรมการ แม้จะดูเหมือนไปประเมินเพื่อค้นหาวิธีการและผลของความสำเร็จในพื้นที่ต่างๆ แต่ก็เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า “ไปให้กำลังใจ” กันและกัน ของพระสงฆ์และคนที่ทำงาน ถึงกระนั้นก็มีมุมมองของผู้สงสัยที่ยังไต่ถามต่อการทำงานของโครงการนี้ว่าดีอย่างไร

ตอนที่อาตมาได้รับมอบหมายจากพระธรรมวชิรานุวัตร ประธานคณะกรรมการบริหารกลาง เริ่มต้นประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5  ก็พบคำถามนี้จากทีมงานของกระทรวงเหมือนกัน  – หมู่บ้านรักษาศีล 5  คืออะไร  หมู่บ้านรักษาศีล 5  ดีอย่างไร  หมู่บ้านรักษาศีล 5  คือการนำหลักศีล 5  มาช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านเกิดการอยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้น การอยู่เย็น คืออยู่สุขสบายทั้งทางด้านครอบครัว ด้ายสุขภาพพลานามัย ด้านความมั่งคงด้านอาหารการกิน ด้านอื่นๆ

คำถามว่า ดีอย่างไร  กล่าวได้ว่า  ตั้งแต่มีโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5  พระสังฆาธิการ พระสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง สามารถทำงานบริหารได้ดีมากขึ้น เพราะจะต้องทำโครงการ จะต้องบริหารโครงการ จะต้องประเมินโครงการ อันนี้การฝึกทักษะการบริหารให้คณะสงฆ์ไปในตัว  พระสงฆ์ทำงานแบบภาคีเครือข่ายชัดเจนมากขึ้น สังเกตได้จากที่มานั่งกันที่ประชุมเพื่อรับการตรวจเยี่ยม ถ้าไม่มีโครงการหมู่บ้านศีล 5 บ้าน วัด ราชการ  บวร จะมารวมกันทำกิจกรรมถึงขนาดนี้มั้ย เมื่อเทียบกับอย่างจัดงานประจำปี อย่างดีราชการก็มาร่วมประชุม ส่งตำรวจมาคุมงาน ส่ง อปพร.มาช่วยจราจร แต่จะมาพูดถึงชุมชนหมู่บ้านของเราได้ทำดี สร้างความดี สร้างคุณธรรมอะไรกันบ้างเห็นทีจะยาก

ทำให้เกิดแนวปฏิบัติศีล 5 ชัดเจนขึ้น ไปเก็บข้อมูลหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ศีล ข้อที่  3 กรณีปัญหาเด็กตั้งครรภ์วัยเรียน  ก่อนเข้าร่วมหมู่บ้านศีล  5  เฉลี่ยจะพบปีละ 8 คน พอเข้าร่วมโครงการ ลดลงตามลำดับ มันเกิดการขับเคลื่อนกันภายในหมู่บ้านที่จะให้ผ่านเกณฑ์ จนสุดท้ายผลการท้องวัยเรียนเหลือศูนย์ ศีล 5 ปฏิบัติแล้วดีจริง กรณีอื่นๆ ความสำเร็จที่ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นมากมายในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ

 พระสงฆ์ด้วยกันเองจากต่างคนต่างอยู่ เดี๋ยวนี้แท็กทีมกันทำงาน และทำแบบหัวใจพระโพธิสัตว์ด้วย เพราะจ่ายเองกันทั้งนั้น จะไปรถ จะไปเครื่อง จะนั่งรถไฟ จะไปรถส่วนตัว รับผิดชอบตัวเอง   ถามว่า ไปเพื่ออะไร   ก็เพื่อรณรงค์ให้คนปฏิบัติตามศีล 5  ที่เป็นกฎพื้นฐานของศาสนาพุทธ

มาถึงวันนี้ กระทรวงมหาดไทยได้รับภาระร่วมสนองงานคณะสงฆ์ จัดทำแผนแนวปฏิบัติ ตัวชี้วัด และกิจกรรม(5 ตัวชี้วัดหลัก 20  ตัวชี้วัดย่อย 47  กิจกรรม)เพื่อใช้กลไกของกระทรวงทั้งท้องที่และท้องถิ่นช่วยกันประสานแผนบูรณาการกับคณะสงฆ์ขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ สร้างความปรองดอง สมานฉันท์ สันติสุข แน่นอนการทำงานแก้ปัญหาสังคม จะให้เห็นผลแบบฉับพลันทันใด เหมือนหลับแล้วตื่น ก็เป็นไปไม่ได้ ต้องรอคอยเวลาเพื่อรอผลที่จะผลิบาน ภารกิจของการขับเคลื่อนหมู่บ้านรักษาศีล 5   ร่วมกันก่อการความดี  ร่วมกันสร้างศักดิ์ศรีความเป็นคน ร่วมกันแก้จนให้ชาวบ้าน ร่วมกันเสริมรากฐานให้พระศาสนา

พระมหาบุญเลิศ กล่าวด้วยว่า มีคำถามว่า สร้าง Soft Power จากหมู่บ้านรักษาศีล 5  ได้อย่างไร Soft Power ที่เกิดจากศีล 5   มี 2  ประการ ความดี  สร้างความดีให้เกิดในชุมชน จนกลายเป็นชุมชนแห่งคนดี มูลค่าของความดีจะเร่งให้คนอยากไปดู ไปเห็น ไปเอาเป็นแบบอย่าง ดูจากชุมชนห้วยต้มที่ลำพูน ความงาม ศีล 5  จะก่อให้เกิดการรังสรรค์อันงดงามของผู้คน  7  ประเภท งามสงบ งามสะอาด งามสุขภาพ

งามสัมพันธ์ งามวิทยา(การเรียนรู้) งามศิลปวัฒนธรรม งามกรุณา งามอาชีพ ผลของการที่ชุมชนใช้ศีล 5  เป็นกลไกให้เกิดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน จะทำให้เกิด Soft Power ดังที่ได้กล่าวมา

Leave a Reply