รัฐบาลจัดยิ่งใหญ่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” จากจีน เตรียมขบวนอัญเชิญ 24 ขบวน ผู้เข้าร่วมกว่า 2,700 คน

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567  นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เห็นชอบร่วมกันให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปีพ.ศ.2568  โดยเปิดให้ประชาชนสักการะระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 – 14 กุมภาพันธ์ 2568 รวมเป็นเวลา 73 วัน ณ ท้องสนามหลวง และจะอัญเชิญกลับสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 นั้น ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)ได้รับมอบหมายจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารมณฑป การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)และจัดกิจกรรมต่างๆ  ได้แก่ การออกแบบและจัดสร้างอาคารมณฑปสำหรับใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) โดยมีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างศิลปะไทย – จีน  ขณะนี้วธ.อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ วธ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆจัดขบวนรถอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 มายังลานพลับพลา  มหาเจษฎาบดินทร์ หลังจากนั้นจัดริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ไปยังท้องสนามหลวง จำนวน 24 ขบวน ผู้เข้าร่วมเดินริ้วขบวนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักพระราชวัง กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โรงเรียนจิตอาสา 904 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย สมาคมอุปรากรจีนแห่งประเทศไทย ผู้แทน 5 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดูและซิกข์ พุทธศาสนิกชนและกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนทั้งหมดกว่า 2,700 คน  ได้แก่ 1. ขบวนป้ายนำขบวน  2.ขบวนโคมไทย – จีน 3.ขบวนบายศรีภาคเหนือ 4. ขบวนบายศรีภาคใต้  5. ขบวนแตรวง 6.ขบวนบายศรีภาคกลาง  7.ขบวนบายศรีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.ขบวนการแสดงอุปรากรจีน  9.ขบวนการแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ 10. ขบวนการแสดงคณะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย 11. ขบวนวงดุริยางค์ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 12. ขบวนธงชาติไทย 13. ขบวนธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน 14. ขบวนธงธรรมจักร  15. ขบวนธงฉัพพรรณรังสี 16.ขบวนโคมบัว 17. ริ้วขบวนอิสริยยศอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) 18.ขบวนรถพระพุทธรูป 19. ขบวนรถอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) 20. ขบวนรถเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 21. ขบวนคณะผู้บริหารและข้าราชการ กระทรวงวัฒนธรรม 22. ขบวนศาสนิกสัมพันธ์ 5 ศาสนา 23. ขบวนพุทธศาสนิกชนและ 24. ขบวน“จิตอาสา”

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า  ขณะเดียวกันวธ.จะจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสสำคัญในห้วงระยะเวลาการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ ท้องสนามหลวง ได้แก่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์รับพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาถึงประเทศไทย วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ ห้องรับรอง ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน  6  กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง กิจกรรมทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2568 วันที่ 1 มกราคม 2568 ณ ท้องสนามหลวงกิจกรรมเนื่องในวันตรุษจีน วันที่ 29 มกราคม 2568 ณ ท้องสนามหลวง กิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ท้องสนามหลวง และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ส่งพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) กลับสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ท้องสนามหลวง และห้องรับรอง ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6

“วธ.ได้ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในไทย  โอกาสในครั้งนี้จะช่วยสานต่อมิตรภาพอันยาวนานระหว่างไทยกับจีนให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นผ่านความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ที่ผ่านมารัฐบาลทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างและต่อยอดความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างกันมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นนาฏศิลป์ ภาพยนตร์ จิตรกรรม ประติมากรรม มรดกภูมิปัญญาและพระพุทธศาสนา ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนในประเทศไทยเข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

 

Leave a Reply