เรื่องเล่า “วันกตัญญู” มจร

วันนี้ตั้งใจเขียนแบบประเภท “ใจถึงใจ” จากลูกศิษย์ถึงอาจารย์เป็นเรื่องเล่าเพื่อสดุดีบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่พร่ำสอน “เปรียญสิบ” จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 30 ที่ผ่านมา ไปร่วมงาน “วันกตัญญู” ซึ่งหากสถาบันหรือหน่วยงานข้างนอกอื่น ๆ เขาเรียกว่าวันนี้ว่า  “วันเกษียณ”

“เปรียญสิบ” เข้าเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเมื่อปี 2539 ตอนนั้น “มจร” ยังไม่มีกฎหมายรองรับ และยิ่งสาขาที่เรียนคือ “สาขารัฐศาสตร์” รุ่นพี่มักมาเล่าให้ฟังเสมอ ๆ ว่า เป็น “วุฒิเถื่อน” ไปสมัครสอบปลัดอำเภอหรือหน่วยงานราชการไม่ได้ แต่ด้วยความเป็นคนสนใจ “การเมือง” จึงตั้งใจเรียนสาขานี้ ค่าเทอม ๆละ 750 บาท ครูบาอาจารย์ได้ค่าสอนเป็นรายชั่วโมง ๆ ละ 150 บาท

เวลาจะเข้าห้องเรียนก่อนสอนอาจารย์ต้องถอด “รองเท้า” เวลาจะสอนหากเป็นฆราวาส  “ต้องไหว้” ลูกศิษย์ก่อน ดีไม่ดี “อาจารย์บางคน” สอนจบเสียค่า “น้ำปานะ” เลี้ยงลูกศิษย์ด้วย โดยเฉพาะอาจารย์ที่มาจากข้องนอก สำหรับอาจารย์ประจำบางคน “รถไม่มี” ต้องนั่งรถเมล์เหมือนพระนิสิต สึกออกไปแล้ว บางคนก็ “อยู่วัด” ต่อ  ไม่ได้ “ล่ำซำ”  ไม่มีหลักสูตรหรือโครงการพิเศษมากมายดังทุกวันนี้

ยุคนั้นเท่าที่จำได้และท่านก็จำเราได้อาจารย์สอนก็มี ดร.สุรพล สุยะพรหม เป็นอาจารย์สอนวิชา “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”  รศ.อนุภูมิ โซวเกษม สอนวิชาอังกฤษ คนนี้เก่งภาษาอังกฤษ เพราะเคยอยู่ประเทศออสเตรเลีย เคยทำงานแปลภาษาข่าวต่างประเทศอยู่ช่อง 7  นิสัยท่านอย่างหนึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือชอบ “เล่นหวย”  และชอบส่องพระเครื่อง และคนสำคัญที่กำลังจะพูดถึงเพื่อยกย่องท่านคือ รศ.ดร.พรรษา พฤฒยางกูร อาจารย์ทั้ง 3 ท่านนี้เจอหน้า “เปรียญสิบ” ท่านจำหน้าและชื่อได้  ตรงนี้คือ “เสน่ห์” ที่บรรดาผู้ใหญ่ควรเอาแบบอย่าง ในวงการพระผู้ใหญ่เท่าที่รู้ที่คนเล่าขานและ “เปรียญสิบ” เจอกับตัวนั่นคือ “สมเด็จช่วง” วัดปากน้ำ ท่านเป็นคนจำชื่อคนแม่น เวลาลูกศิษย์ไปกราบไหว้ท่านทักชื่อก่อนเสมอ

“วันกตัญูญู”  เมื่อวานนี้นอกจากเจอ “ดร.สุรพล สุยะพรหม” ในฐานะ “แม่งาน” เพราะเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป แล้ว มีโอกาสพบ “รศ.ดร.พรรษา พฤฒยางกูร” ด้วยเนื่องจากปีนี้ท่าน “เกษียณ”  ระยะ 2-3 ปีมานี้ท่านป่วยสุขภาพไม่ดี แต่ “จิตใจ” ท่านเข้มแข็งมากเท่าที่ทราบท่านเป็น “คนไข้” ในพระบรมราชานุเคราะห์ จริงเท็จประการไม่ทราบเพราะไม่เคยถาม ความโชคดีของท่านคือ ท่านมีลูกสาว 2 คน ที่ “รู้คุณพ่อ” คอยดูแลไม่ห่างหาย อันนี้หมายความว่า “พ่อสอนมาดี” พฤติกรรมจึงสมกับความเป็น “ลูกมหา”

“เปรียญสิบ”  มีความใกล้ชิดกับ “ดร.พรรษา พฤฒยางกูร” นอกจากในฐานะลูกศิษย์แล้วแม้ตอนที่ทำงานอยู่ “ช่อง 11” ก็ประสานงานระหว่างพบปะกันบ่อยครั้งมากกว่าอาจารย์ท่านอื่น ๆ ครั้งหนึ่งจำได้ว่าท่านเคยถามว่าทำไมให้คนเรียกชื่อว่า “มหา” ไม่เรียกชื่อจริง  ตอบท่านไปว่า คำว่า  “มหา” หนึ่งเราได้รับพระราชทานมา สอง มหาเสมือนผ้ายันต์ป้องกันตนเองไม่ให้ใครมา “คิดชั่ว-คิดร้าย” เพราะสังคมมองว่า “มหา” คือ “คนดี” ในขณะเดียวกันคำว่า “มหา” เป็นเครื่องมือเตือนใจตนเองไม่ให้คิด “นอกลู่นอกทาง” เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลาทำงานช่อง 11 มาตั้งแต่ปี 2546 -2560 ไม่ว่าจะเป็น “รัฐมนตรี” หรือ  “รปภ.” จะรู้จัก “เปรียญสิบ” ในนาม “มหา”

ตอนที่  “ปลัดเก่ง” นายสุทธพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดวัฒนธรรม  “ปลัดตุ๋ม” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ปลัดกระทรวงทรัพย์ มีตำแหน่งเล็ก ๆ  ติดตามรัฐมนตรีหรืออธิบดีมาออกรายการที่ช่อง 11   หรือแม้กระทั้ง “พี่เอ”  นายชัยพล สุขเอี่ยม  อธิบดีกรมการศาสนาปัจจุบัน ยังดำรงตำแหน่งเป็น “เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์” ของกระทรวงวัฒนธรรม ทุกคนรู้จักเปรียญสิบในนาม “มหา” กันหมด

“ดร.พรรษา พฤฒยางกูร” ในหมู่คณาจารย์และลูกศิษย์ทราบดีว่า ท่านเป็นคนตรง ใจคิดอย่างไร พูดอย่างนั่น “มจร” ยุคก่อนไม่ว่าจะเป็นยุค  “พระราชรัตนโมลี” หรือยุค “พระพรหมบัณฑิต” ได้ ดร.พรรษา นี่แหละเป็น “ตัวเชื่อม” ทั้งกับบุคคลชั้นสูง นักการเมืองและพระเถระผู้ใหญ่ โดยเฉพาะยุค พระพรหมบัณฑิต ตั้งแต่ปี 2540-2561  ที่เราเรียกว่า มจร สู่  “ความเป็นนานาชาติ” ดร.พรรษา พฤฒยางกูรเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิก

โดยส่วนตัว “ดร.พรรษา พฤฒยางกูร” เมตตาต่อ “เปรียญสิบ” ยิ่งนัก ไม่ว่าจะจัดงานบุญหรืองานสาธารณสงเคราะห์อะไร ท่านร่วมทำบุญเสมอ แม้กระทั้ง “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” และชาวมอญ มาร่วมงาน “วิสาขบูชาโลก” ทุกปีท่านจะจองเป็นเจ้าภาพเลี้ยง “อาหารค่ำ” ทุกปีไม่เคยขาด พร้อมกับมอบ “ของขวัญ” ติดมือให้ครบทุกคนทุกรูป อันนี้คือ “บุญคุณ” ที่ท่านทำไว้นอกจากสอนให้มี “วิชาชีพ” แล้ว ยังเป็น “ห่วงดูแล” ตลอดมา ยุคสมัยนี้ครูบาอาจารย์ที่มีจิตใจแบบนี้ “หายาก” อันนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของ ดร.พรรษา พฤฒยางกูร

สำหรับ “วันกตัญญู” ของ มจร เท่าที่ทราบเดิมเรียกว่า “วันเกษียณอายุการทำงาน” จัดกิจกรรมตั้งแต่อยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ในปี 2551  หลังจาก “มจร”  ย้ายมาตั้งอยู่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเปลี่ยนชื่อจาก “วันเกษียณอายุการทำงาน” เป็น “วันกตัญญู” เมื่อปี 2553 ตั้งแต่นั้นจนบัดนี้  เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและเชิดชูเกียรติคุณของคณาจารย์ที่ทำงานอุทิศตนเพื่อคณะสงฆ์ เพื่อพระพุทธศาสนา รวมทั้งสังคมและประเทศชาติ!!

…………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”: [email protected]

Leave a Reply