วันนี้ (10 ก.พ. 67) นายสมพงษ์ คุ้มสุวรรณ นายอำเภอคำชะอี เปิดเผยว่า อำเภอคำชะอีได้จัดแสดงเดินแบบผ้าไทยพื้นถิ่นในงานออนซอนชนเผ่าชาวคำชะอี ประจำปี 2567 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอคำชะอี ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าคำชะอีและชาวพื้นถิ่นในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร โดยมี นายบุญเรือง เมฆฉิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา และพี่น้องประชาชนชาวอำเภอคำชะอีจำนวนมาก ร่วมกิจกรรม
นายสมพงษ์ คุ้มสุวรรณ นายอำเภอคำชะอี กล่าวว่า อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร มีชนเผ่าพื้นเมืองเดิมและที่อพยพจากที่อื่นเพื่อมาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันอำเภอคำชะอีมีความหลากหลายทางชนเผ่า อาทิ ชนเผ่าผู้ไท ชนเผ่าไทกะเลิง ชนเผ่าข่า และชนเผ่าไทยอีสาน จึงมีการสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชนชาวพื้นถิ่นดั้งเดิม ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การละเล่นพื้นเมืองของชาวอำเภอคำชะอีที่มีอัตลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย และถ่ายทอดให้กับเด็กเยาวชนคนรุ่นหลัง
“อำเภอคำชะอีจึงร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สภาวัฒนธรรมอำเภอ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย จัดงานออนซอนชนเผ่าชาวคำชะอี ประจำปี 2567 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอคำชะอี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชนเผ่าต่าง ๆ ของอำเภอคำชะอี ซึ่งมีหลายชนเผ่า และมีการสืบทอดกันมาเป็นเวลาอันยาวนาน เพื่อเชิดชูและประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชนเผ่าต่าง ๆ ของอำเภอคำชะอี ให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอคำชะอี เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี และเกิดความภูมิใจ นำไปสู่การสร้างความรัก ความสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์ ของพี่น้องชนเผ่าต่าง ๆ ของอำเภอคำชะอี” นายสมพงษ์ฯ กล่าว
นายสมพงษ์ คุ้มสุวรรณ นายอำเภอคำชะอี กล่าวต่ออีกว่า การจัดงานออนซอนชนเผ่าชาวคำชะอี ประจำปี 2567 สิ่งที่เป็นไฮไลท์ในพิธีเปิดงานในวันนี้ คือ การแสดงเดินแบบผ้าไทยพื้นถิ่นของอำเภอคำชะอี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่อำเภอคำชะอีโดยมีการแสดงเดินแบบ 5 ประเภท ประกอบด้วย 1) ส่วนราชการระดับจังหวัด อำเภอ 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3) สถานศึกษา ได้แก่ ผู้บริหาร คณะครู และนักเรียน 4) ผู้นำท้องที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 5) กลุ่มหรือองค์กร ได้แก่ องค์กรพัฒนาบทบาทสตรี และ 6) ภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการกลุ่ม OTOP หรือร้านค้าในเขตอำเภอคำชะอี ซึ่งผ้าไทยที่สวมใส่ในการแสดงในวันนี้ มาจากการออกแบบตัดเย็บโดยคนท้องถิ่นอำเภอคำชะอี ซึ่งมีลวดลายที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดมุกดาหาร ดังนั้น การแสดงในวันนี้จึงช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน งานหัตถศิลป์หัตกรรมคนไทย ขับเคลื่อนน้อมนำตามพระดำริโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปหัตกรรมผ้าไทย อันเป็นภูมิปัญญาไทย
“การจัดงานในครั้งนี้ยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลาย อาทิ การแสดงขบวนฟ้อนรำจากชนเผ่าต่าง ๆ รวม 9 ตำบล 1 เทศบาล มีการแสดง “ออนชอนชนเผ่าชาวคำชะอี” และเพลง “มุกดาหารบ้านเฮา” เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า การจัดซุ้มแสดงศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่าต่าง ๆ การแสดงบนเวทีกลาง การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้า OTOP และร้านค้าเอกชน ในกิจกรรมถนนคนเดิน ตลาดชิม ช้อป ใช้ของดีสินค้า OTOP 9 ตำบล จึงขอขอบคุณองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกิจกรรม ที่มาร่วมกันสืบสานเส้นใยผ้าทอ สืบต่อมรดกหัตถศิลป์ไทย ใช้ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่งเสริมสินค้าไทยด้วยการสวมใส่ผ้าไทย เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตกลุ่มทอผ้าได้มีรายได้ มีอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก อันจะนำไปสู่การที่พี่น้องประชาชนมีกินมีใช้ และมีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายสมพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
Leave a Reply