สมเด็จพระธีรญาณมุนี -ปลัด มท. ร่วมประดิษฐานพระบรมรูป ร.4 ณ วัดวชิรธรรมาราม

วันนี้ (25 มิ.ย. 67) เวลา 10.00 น. ที่อุโบสถ วัดวชิรธรรมาราม ตำบลบ้านใหม่ อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระบัญชาโปรดให้ เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 1-2-3, 12-13 (ธ) เป็นประธานพิธีประดิษฐานพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช โดยพระธรรมวชิรญาณ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร (ธ) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ เจ้าคณะภาค 6-7 (ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระเทพวชิรมุนี เจ้าคณะภาค 8 (ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระเทพมงคลโสภณ เจ้าคณะภาค 17 – 18 (ธ) เจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร พระราชวัชราภรณ์ วัดชูจิตธรรมาราม เจ้าคณะภาค 1-2-3 (ธ) พระราชวชิรสารสุธี เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ธ) เจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร พระราชวัชรญาณรังษี เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี (ธ) พระราชวชิราภินันท์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระวชิรกิจวิมล เจ้าอาวาสวัดวชิรธรรมาราม พระอุดมสารโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร และพระเถรานุเถระ ร่วมประกอบพิธี

โดยมี ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองประธานกรรมการมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดสร้างพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก นายสิรศักดิ์ ทัศยาพันธุ์ นายอำเภอมหาราช และคณะกรรมการฯ อาทิ นายอภัย จันทนจุลกะ นายปัญญา อุดชาชน ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล พลเอก หม่อมหลวงกุลชาต ดิศกุล รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร นางโสมสุดา ลียะวณิช พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ร่วมพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ถวายมงคลในพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมกุฏวิทยมหาราช และเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ นำประกอบพิธี และถวายเครื่องสักการะ เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี แล้วนำผู้ร่วมพิธีถวายเครื่องไทยธรรม จากนั้น ร่วมประกอบพิธียกพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราชขึ้นประดิษฐานบนพระแท่น และร่วมปลูกต้นไม้บริเวณหน้าอุโบสถ เป็นอันเสร็จพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระบรมรูปฯ โดยจำลองจากพระบรมรูปซึ่งประดิษฐาน ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร เพื่อประดิษฐานหน้าอุโบสถ วัดวชิรธรรมาราม อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดที่คณะธรรมยุติกนิกาย ได้สร้างถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ และถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในโอกาสครบ 200 ปี วันพระบรมราชสมภพ พุทธศักราช 2547 โดยดำริของเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร เพื่อเป็นศาสนสถานเผยแพร่พระเกียรติคุณในด้านพระพุทธศาสนา

“พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช พระองค์นี้ จัดสร้างขึ้นตามดำริในเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) อดีตเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร และถือเป็นปณิธานสุดท้ายของท่านก่อนจะมรณภาพ มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริง พระอิริยาบถทรงยืน ก่อสร้างด้วยสำริดรมดำ สูง 250 เชนติเมตร ฐานเขียงสูง 10 เซนติเมตร รวมสูง 260 เซนติเมตร แท่นฐานกว้าง 207 เซนติเมตร สูง 252 เซนติเมตร ฉลองพระองค์เยียรบับทรงภูษาโจงขอบเชิง ทรงพระมาลาทรงหม้อตาล ประดับสายสะพายและดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลอร์ด นาซิยองนาล เดอลา เลฌียง ดอเนอร์ (L’Ordre National de la Legion d’Honneur) ชั้น กร็องครัว (grandcroix) ของประเทศฝรั่งเศส และแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสรณ์ ใช้หินอ่อน เมืองคาราร่า ประเทศอิตาลี จากเงินบริจาคของสมาชิกราชสกุล ข้าราชการ และประชาชน ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รวมจำนวน 6 ล้านบาท” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการทรงหล่อพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (ส่วนพระเศียร) ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปีพุทธศักราช 2566 ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 โดยมี พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ ประธานมูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหม่อมหลวงจารุวัฒนา ชินธรรมมิตร์ เป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแผ่นทองแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงกอปรด้วยพระบรมราชกฤษฎาภินิหาร เป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร เสด็จสถิตในพระราชธรรมจริยาสถาพรมิหวั่นไหว ทรงอธิษฐานพระราชหฤทัยในทางบำรุงราชอาณาจักรให้ดำรงอิสราธิปไตยอย่างมั่นคง ทรงค้ำจุนพระบวรพุทธศาสนาให้ดำรงบริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัย พร้อมพระราชทานเสรีภาพทั่วไปแก่อาณาราษฎร ยังให้สยามรัฐสีมาสามารถรอดพ้นภัยดัสกรอันคุกคามมาประชิด อีกทั้งทรงผูกราชสัมพันธมิตรกับนานามหาประเทศ ทรงมีสายพระเนตรสอดส่องการณ์ไกล สามารถวินิจฉัยในคุณและโทษแห่งประเพณีเมือง ทรงปลดเปลื้องโทษนำประโยชน์มาบัญญัติโดยมหัจฉริยปรีชา ทรงเชี่ยวชาญศิลปวิทยาเสมอปราชญ์แห่งไพรัชประเทศในเขตอัสดงคต มิทรงละลดพระวิริยอุตสาหะและพระวิจารณปัญญากล้าแกร่ง สำแดงพระบรมราชกุศโลบายอันแยบคายและลึกซึ้ง ทรงพระราชญาณทัศนะสอดส่องถึงอนาคตกาลแห่งราชอาณาจักร ทรงเผยพระราชศักดานุภาพทางพระปัญญาบารมีอันคมกล้า เสมือนราชศสตรารักษาชาติไทย ทรงวางวิถีพระบรมราโชบายพระราชทานให้สมเด็จพระบรมราชปิโยรส บังเกิดปฐมบทสู่การสืบสาน รักษา และต่อยอดตลอดไป พระบารมีธรรมซึ่งทรงสั่งสมไว้มากเหลือคณานับ ประดุจมหาวราภรณ์ประดับพระเกียรติคุณอลังการ แม้ตราบถึงวารเสด็จสวรรคต พระสติสัมปชัญญะยังปรากฏมั่นคงตลอดขณะ จวบถึงสภาวะอันเป็นที่สุด คือพยานแห่งลักษณะมหาบุรุษมหัศจรรย์ พระองค์คือบุพการีผู้ยิ่งใหญ่แห่งพสกนิกร ปรารภเหตุดั่งนี้ รัชสมัยของพระองค์ตลอดจนถึงมหามกุฎราชสันตติวงศ์สืบมา จึ่งยิ่งยงวัฒนารุ่งเรืองงาม มหาชนชาวสยามถึงความผาสุกผ่องพ้นไพรี ประหนึ่งมีพระสยามเทวาธิราชคอยเฝ้าอารักขา พระองค์เป็นพระมหาราชเจ้าผู้ทรงเปรียบแม้นเทวดา ทรงวิทยาภรณ์เป็นมหามงกุฎปกเกล้าปกกระหม่อมชาวสยาม สมควรจะได้สนองพระเดชพระคุณเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ปรากฏแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถวายพระราชสมัญญาแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช” ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

Leave a Reply