จังหวัดตราด เตรียมพร้อมจัดแสดงโขนพระราชทานรามเกียรติ์ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ระหว่างวันที่ 24 – 25 ส.ค. นี้

วันที่ 26 มิ.ย. 67   เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมพลอยแดง ศาลากลางจังหวัดตราด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด คุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ร่วมประชุมเตรียมความพร้อมจัดการแสดงโขนพระราชทาน จังหวัดตราด ประจำปี 2567 เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” โดยมี อ.เฉลิมศักดิ์ ปัญญวัตวงศ์ ผู้กำกับการแสดง  นายณรงค์ เทพเสนา นายพีระ เอี่ยมสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด ภาคีเครือข่าย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

คุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาให้มีการจัดการแสดงโขนพระราชทาน ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า ประชาชนในต่างจังหวัดจะไม่มีโอกาสได้ชมโขนสดเหมือนประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยคณะทำงานที่เกี่ยวข้องได้รับใส่เกล้าฯ และพยายามวางแผนการสัญจรจัดแสดงปีละ 4 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในปีนี้ “ชาวตราดโชคดีมาก” เพราะเป็นปีมหามงคล โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระราชทานพระมหากรุณา และเมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการจัดแสดงโขนพระราชทาน จังหวัดตราด ประจำปี 2567 เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” เป็นครั้งแรกของปีมหามงคลนี้ ซึ่งจะมีการจัดแสดงในระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เดินทางมาตรวจพื้นที่และเตรียมการเรื่องการจัดแสดงโขนพระราชทานฯ ในวันนี้ โดยต้องขอขอบพระคุณปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยที่ได้ให้ความสำคัญและใส่ใจในรายละเอียดการจัดแสดงโขนพระราชทานในทุกขั้นตอน รวมทั้งส่งเสริมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้นำสินค้าชุมชนมาออกร้านจำหน่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และทำให้ประชาชนผู้ชมได้ร่วมกันอนุรักษ์ ได้จับจ่ายใช้สอยสินค้าของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนทุกช่วงวัยได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาผ่านนิทรรศการเล่าขานความเป็นมาของโขน ซึ่งได้รับยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับโลกและเป็นมรดกของชาติที่สำคัญที่เราต้องร่วมมือร่วมใจกันทำให้คงอยู่ ซึ่งการแสดงโขนนั้น “ถ้ามีคนเล่นโขน แต่ไม่มีคนดูโขน ก็จะไม่เกิดพลัง ไม่เกิดแรงที่จะรักษาเอาไว้ได้” ดังนั้น การรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติอยู่ที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องช่วยกันดูแลรักษา ด้วยการ “มาให้กำลังใจ” “มาดูผู้แสดงเล่น” เพราะโขนไม่ได้แสดงง่าย ๆ ผู้แสดงต้องฝึกฝนเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ต้องดัดขา ดัดมือ ดัดร่างกาย หมั่นเพียรเรียนการดนตรี การร่ายรำ รวมถึงส่งเสริมงานหัตถศิลป์เรื่องเสื้อผ้า และงานช่างสิบหมู่ การทำศีรษะโขน ซึ่งล้นเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ ให้รักษาไว้

“จังหวัดตราด เป็นจังหวัดแรกของภาคตะวันออกที่จะได้มีการจัดแสดงโขนพระราชทาน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” โดยเป็นจังหวัดแรกที่ได้มีการจัดแสดงในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้งเป็นการจัดในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  พระผู้ทรงเป็นองค์อภิรักษ์ให้โขนไทยได้รับการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และยิ่งทราบว่า ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ให้การสนับสนุนเบื้องหลังการจัดแสดงโขนพระราชทานในแต่ละปี เป็นชาวจังหวัดตราด และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นสะใภ้จังหวัดตราด ทางคณะทำงานฯ จึงยิ่งดีใจที่จะได้มาทำการแสดงโขน ณ ที่นี้ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นโอกาสที่จะพานักแสดงซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่มาทัศนศึกษาเรียนรู้ที่นี่ด้วย สอดคล้องกับแนวนโยบายของโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง คือ 1) การพานักแสดงไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัด 2) การพาไปทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวหรือสถานที่สำคัญของจังหวัด และ 3) ให้เยาวชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย และท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ให้การสนับสนุนการจัดการแสดงโขนพระราชทาน ตลอดจนถึงการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มา ณ โอกาสนี้ ด้วย” คุณหญิงจันทนี กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ตนในฐานะเป็นชาวตราด รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พวกเราชาวตราดได้รับพระมหากรุณาในครั้งนี้ และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ผู้มีจิตใจมุ่งมั่นในการสนองพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในทุกด้าน และพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นการแสดงความมีน้ำใสใจจริงของพวกเราทุกคนในการมุ่งมั่นปฏิบัติราชการเพื่อสนองพระเดชพระคุณและพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการช่วยกันสร้างการรับรู้ไปยังลูกหลาน เด็กและเยาวชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวตราด เพราะเป็นโอกาสที่ดีของชีวิตที่จะได้มาร่วมรับชมการแสดงโขนแบบเต็มรูปแบบ เพราะบ้านเราโอกาสที่จะได้ดูโขนวังแบบเต็มรูปแบบ แม้แต่ตนเองนั้น หากย้อนไปในชีวิตตั้งแต่เกิดมาที่จังหวัดตราด เคยมีโอกาสดูโขนเพียงแค่ครั้งเดียว คือ งานวัดกระดาน (วัดหลวงพ่อสวน) ซึ่งในขณะนั้นเสด็จพระองค์ชายใหญ่ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล) ทรงนำโขนสดของกรมศิลปากรมาแสดงที่วัดบางกระดาน ตนอยู่บ้านกลางที่แหลมงอบ ถึงได้มีโอกาสไปดู และหลังจากนั้นก็ไม่ได้ดูอีกเลย แน่นอนว่า “โขน” เป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันสงวนรักษาไว้ มิเช่นนั้น มันล้มหายตายจากจนเกือบจะสูญสิ้น เฉกเช่นวัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดตราด ทั้งเพลงขอทาน หรือเพลงรำพา ทุกวันนี้ก็หาได้ยาก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โขนไม่ใช่เป็นเพียงการแสดงให้เรามีความสุขเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแสดงที่มหัศจรรย์ยิ่ง ที่ช่วยสืบสาน รักษา และต่อยอด ศิลปะของประเทศไทย ทั้งด้านร้อยกรอง ด้วยการประพันธ์คำร้องที่มีฉันทลักษณ์ สัมผัสนอก สัมผัสใน ที่สละสลวย อีกทั้งช่วยยังชีวิต ต่อลมหายใจให้กับนาฏศิลป์ไทย เพราะเป็นนาฏกรรมที่ต้องรวมผู้มีความสามารถ ทั้งตีระนาด เป่าปี่ ขับร้อง นักพากย์ และยังช่วยให้งานผ้าไทยกลับมามีชีวิต ด้วยนักแสดงต้องแต่งกายด้วยชุดที่สุดวิจิตร พร้อมเครื่องพัสตราภรณ์ที่ประดับอย่างบรรจง ที่สำคัญ เนื้อเรื่องยังสอดแทรกความรู้และคุณธรรมในเรื่องความจงรักภักดี ความรักเดียวใจเดียว และธรรมะชนะอธรรม และยิ่งถ้าเราส่งเสริมให้เด็ก ๆ มารับชม ยังเป็นการทำให้เด็กได้เป็นผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด เป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับโขน เพราะทุกจังหวัดที่เราไปจัดแสดง ส่วนที่ทำให้ทีมงานโขนพระราชทานมีกำลังใจยิ่ง  คือ การได้เห็นเด็ก ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต จะมายืนออหน้าเวที และยืนเต้นทำท่าทำทางเหมือนตัวละคร และเด็กบางคน ขอสมัครเป็นนักแสดงโขน เพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรมให้ยั่งยืนอีกด้วย

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนคนตราดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ ซึ่งการจัดแสดงโขนพระราชทานนี้ เป็นการแสดงที่ไม่สามารถหาชมได้ง่าย เพราะใน 1 ปี คณะนักแสดงจะไปทำการแสดงในต่างจังหวัดได้เพียงปีละ 4 ครั้ง ซึ่งโอกาสต่อไป จะต้องอีก 16 ปีข้างหน้า จึงจะมีโอกาสกลับมาแสดงที่นี่อีก โดยคณะนักแสดงโขนกว่า 100 ชีวิต เพราะปีนึงไปได้แค่ 4 จังหวัด โอกาสต่อไปคืออีก 16 ปีข้างหน้า โดยโขนที่มาเป็นโขนเท่ากับโรงใหญ่ ซึ่งพระองค์ท่านสืบการรักษาและต่อยอดโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนอย่างมาก และเมื่อเด็ก ๆ มาชมก็จะทำให้มีหนุมานรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย เกิดความภาคภูมิใจของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ และจะมีพื้นที่จัดนิทรรศการ พื้นที่จัด OTOP โดยสามารถบูรณาการกับพื้นที่ใกล้เคียงนำสินค้าชุมชนมาจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับประชาชน ทั้งกะปิ น้ำปลาแท้ รวมถึงอาหารชนิดต่าง ๆ โดยในด้านสถานที่จัดการแสดง ได้รับการสนับสนุนจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด คาดว่าจะมีประชาชนร่วมรับชมกว่า 10,000 คน และยังได้รับการสนับสนุนทั้งแสง สี เสียง ระบบ Acoustic และพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ

“ขอเชิญชวนพวกเราทุกคนได้ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการช่วยกันสวมใส่ผ้าไทย มาชมโขนโดยพร้อมเพียง ซึ่งจังหวัดตราดแห่งนี้ ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานการแสดงโขนให้มาจัดแสดงเป็นจังหวัดแรกในปีมหามงคลนี้ จึงขอให้ทุกส่วนงานได้ร่วมกันเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้มาชมโขนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 และมาช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ยังผลให้พี่น้องผู้ประกอบการในชุมชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม

คุณนฤมล ล้อมทอง กล่าวว่า คณะนักแสดงโขนโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้รับแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการแสดงโขนพระราชทานที่จังหวัดตราด ถือเป็นจังหวัดที่ 25 นับตั้งแต่เริ่มทำการแสดงในภูมิภาค และได้รับทราบจากท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า มีหอประชุมใหญ่ รับคนได้ 5,000 คน ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมด้านสถานที่การจัดแสดงโขน ณ อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราดในวันนี้ ทำให้ได้เห็นความพร้อมเป็นอย่างมาก โดยถือว่าเป็นครั้งแรกของการแสดงโขนพระราชทานที่ได้จัดแสดงในห้องโถงอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งจะสามารถสร้างความสะดวกในการเข้าชมการแสดงของพี่น้องประชาชนที่จะได้เดินทางมาจาก 7 อำเภอของจังหวัดตราด และจังหวัดต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก สอดรับกับสภาพภูมิอากาศของเมืองตราดที่เป็นเมืองแห่งเมืองฝนแปดแดดสี่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ วันก่อนการแสดงจะมีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่จังหวัด และในวันแสดงจะมีการจัดพิธีคำนับครูก่อนเริ่มการแสดง และสิ่งที่พี่น้องประชาชนให้ความสนใจ นอกเหนือจากการเดินทางมารับชมการแสดงโขน ก็คือ นิทรรศการประวัติความเป็นมา ซึ่งจะมี Pop Up มีนักแสดงมาร่วมบันทึกภาพกับผู้มาชม และที่ชาวบ้านชอบมากที่สุด คือ สินค้า OTOP ทั้งของขวัญ ของฝาก ของรับประทานทันที

ด้านนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร กล่าวว่า พสกนิกรชาวจังหวัดตราดต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณา ในการจัดแสดงโขนพระราชทานในครั้งนี้ โดยในด้านการเตรียมความพร้อมนั้น ทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการที่ประกอบด้วยคณะทำงานด้านต่าง ๆ ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้การจัดแสดงโขนพระราชทานในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ

Leave a Reply