พระสังฆราชฝ่ายรามัญองค์สุดท้าย

ขุนแผน แดนรามัญ

               วันนี้จะขอเสนออัตถะชีวะประวัติของพระเถราจารย์รามัญเมืองนนทบุรี ผู้เปรียบดั่งพระสังฆราชาฝ่ายรามัญนิกายรูปสุดท้ายของสยามประเทศ พระมหาเถระอันเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวเกาะเกร็ด ผู้สร้างตำนานพระเครื่องเมืองนนทบุรียอดนิยมอันลือลั้น พระมอญรูปนี้ก็คือ      “พระสุเมธาจารย์ บริหารธรรมขันธ์ รามัญสังฆณาธิบดี (วร นนฺทิโย) เปรียญ ๓ รามัญ

  อดีตเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี 

อดีตเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

              พระสุเมธาจารย์ฯ หรือที่ชาวเกาะเกร็ดเรียกขานท่านว่า ท่านเจ้าคุณฯวร นนฺทิโย  ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา ตรีศก จ.ศ. ๑๑๒๓ ตรงกับวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ ในครอบครัวชาวมอญเมืองบางกอก ณ บ้านถนนพระสุเมรุ เขตชนะสงคราม พระนคร ท่านมีนามเดิมเป็นภาษามอญว่า “โว่ะ”  หากชื่อตามทะเบียนราษฎรลงว่า  “วร”  บิดาท่าน คือ  นายฤทธิ์รงค์อาวุธ  (ปาน โกรินนา) รับราชการตำแหน่งนายเวรกองทัพบก ปัจจุบันคือ นายเวรกระทรวงกลาโหม ส่วนมารดาท่านชื่อ นางปรอย หรือ นางมาเรีย โกรินนา

ในวัยเด็ก ขณะท่านอายุได้ ๑๐ ปี บิดาได้นำไปศึกษาภาษารามัญในสำนักอาจารย์ยังทอ วัดมะขามทอง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ใต้วัดเสาธงทอง ฝั่งตรงข้ามปากคลองพระอุดม) และได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕  มีพระวินัยธรปัญจุ๊ ฐานานุกรมในพระไตรสรณธัช (แผ้ว) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้อยู่ศึกษามูลกัจจายนะในสำนักวัดเสาธงทอง ราว ๒ ปี      ท่านบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ พรรษา ก็ลาสิกขา และได้ เดินทางไปเยี่ยมญาติฝ่ายบิดาในรามัญประเทศ และท่านได้อยู่ศึกษาภาษารามัญในสำนักอาจารย์เชอ วัดมุททอ ราว  ๑ ปี ก่อนเดินทางกลับมาเมืองไทย กระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ บิดานำไปฝากเป็นศิษย์วัดโปรดเกษ ตำบลบ้านแหลมใหญ่ (คลองพระอุดม) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ร่ำเรียนหนังสือไทยและเลขคณิตวิธีในสำนักพระอาจารย์เต๊ะ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ สมัครเข้ารับราชการกับหลวงทิพอักษร(เวี่ยง) ซึ่งเป็นญาติ ในตำแหน่งเสมียนตรากองทัพบก ท่านรับราชการอยู่ ๔ ปี กระทั่งท่านมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี  จึงได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ และ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีะมะเมีย จัตวาศก ณ อุโบสถวัดเสาธงทอง ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมี พระคุณวงศ์ (สน นาคสณฺโฑ) วัดปรมัยยิกาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิเชียรมุนี (ชื่น) วัดฉิมพลี ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวินัยธรปัญจุ๊ วัดเสาธงทอง ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด และพระอธิการเยี่ยะ (รุ่ง) วัดท้องคุ้ง ตำบลพระอุดม อำเภอปากเกร็ด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยท่านได้รับฉายาทางธรรมว่า “นนฺทิโย”

หลังจากที่ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วนั้น ในพรรษาแรก ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดเสาธงทอง เกาะเกร็ด  กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ พระวินัยธรปัญจุ๊ เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ได้มรณภาพลง ท่านจึงได้ไปเรียนมูลไวยากรณ์กับพระวิเชียรมุนี (ชื่น) วัดฉิมพลี ราว ๑ พรรษา หากแต่ท่านก็ยังคงจำพรรษาที่วัดเสาธงทองตามเดิม  ในพรรษาที่ ๕ ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดปรมัยยิกาวาส เพื่อศึกษาและแปลคัมภีร์ อาทิ กัมมปาจิตตีย มหาวัคค จุฬวัคคและบาลี มุตตะกะ กับพระอาจารย์มหาจู สิงฺโฆ (ต่อมาท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ที่ พระคุณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส) หลวงปู่วร นนฺทิโย ท่านเป็นพระที่คงแก่เรียน ท่านมีความมานะในการศึกษาเป็นอย่างมาก 

กระทั่งเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระราชทานสมณศักดิ์ให้ พระวร นนฺทิโย เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูอมราธิบดี” และมีพระบรมราชโองการให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองนนทรามัญ (วัดเกาะรามัญ) ตำแหน่งเจ้าคณะรองเมืองนนทบุรี

กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ่อ ได้ว่างลง คณะสงฆ์จึงได้มีคำสั่งให้ท่านย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อ ปากเกร็ด นั้น ท่านได้พัฒนาซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆของวัดบ่อ และยังทำหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมและหนังสือมอญ มาตามลำดับ

กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะใหญ่ ในราชทินนามที่ “พระครูอินทมุนี” ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองนนทบุรี (เจ้าคณะอำเภอ ขณะนั้นตำบลปากเกร็ดขึ้นกับอำเภอเมืองนนทบุรี) ในขณะที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อนั้น ท่านยังได้เดินทางไปเรียนวิชาพระปริยัติธรรมบาลี ตลอดทั้งวิชาคาถาอาคมเวทย์ วิปัสสนากรรมฐาน และวิชาการทำพระเครื่องราง จาก พระคุณวงศ์(สน) ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า พระคุณวงศ์(สน) รูปนี้ เป็นพระรามัญที่ทรงวิทยาคมอีกรูปหนึ่งของเมืองนนทบุรี ท่านเป็นครูใหญ่สายวิชารามัญแห่งเกาะเกร็ด  และมีลูกศิษย์ลูกหามาก ท่านได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจาก พระคุณวงศ์(สน) จนมีวิชาแก่กล้าพอตัว สมกับศิษย์ผู้มีครูดี และประกอบกับท่านเป็นพระที่เก่ง เรียนรู้ไว และให้ความใส่ใจในการศึกษาเป็นอย่างมาก  กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ท่านจึงได้เข้าสอบแปลบาลีสนามหลวง จนสามารถสอบไล่ได้เปรียญ ๒ รามัญ

กระทั่งเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าให้ พระมหาสุด ญาณรงฺสี วัดฉิมพลี เป็นพระราชาคณะฝ่ายรามัญ ในราชทินนามที่ “พระรามัญมุนี” และมีพระบรมราชโองการให้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหลวง และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และจึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระครูอินทมุนี เป็นเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลมใหญ่ (ต่อมาถูกยุบเลิกไปเมื่อมีการจัดตั้งอำเภอบางบัวทองและอำเภอปากเกร็ด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๔๔) แทน

กระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ ท่านจึงได้เข้าสอบแปลบาลีสนามหลวงอีกครั้ง จนสามารถสอบไล่ได้เปรียญ ๓ รามัญ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ร.ศ.๑๒๑ ปีขาล ในรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายรามัญ ในราชทินามที่ “พระสุเมธมุนี” ตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี

กระทั่งเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๔๖ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระอุปัชฌาย์

กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ กระทรวงธรรมการจึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้ท่านเป็น เจ้าคณะรองจังหวัดนนทบุรี ฝ่ายรามัญ

กระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ พระคุณวงศ์(จู สิงโฆ) เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส ในขณะนั้น ได้ถึงกาลมรณภาพลง  ต่อมาจึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พระสุเมธมุนี(วร นนฺทิโย) เปรียญ ๓ รามัญ ย้ายไปเป็น เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔

ในยุคที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาสนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า วัดปรมัยยิกาวาสเป็นสำนักเรียนบาลีรามัญ ประจำจังหวัดนนทบุรี ท่านจึงต้องรับภาระเป็นทั้งครูใหญ่และครูสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุและสามเณรภายในวัด ตลอดจนทั้งเป็นครูสอนหนังสือภาษามอญ และหนังสือภาษาไทย ด้วย โดยท่านได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนอย่างดี และท่านยังได้ทำการบูรณะซ่อมแซม พัฒนาเสนาสนะต่างๆของวัดปรมัยยิกาวาส ให้สวยสดงดงามสมเป็นพระอารามหลวงมาตามลำดับ ท่านได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังสติปัญญาสั่งสอนอบรมอันเตวาสิกในสัทธิวิการิกของท่าน และการเผยแพร่พระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ จากคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้ จึงส่งผลให้ท่านได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระคุณวงศ์”  พัดแฉกพื้นกำมะหยี่ประดับพลอย ตำแหน่งเจ้าคณะรองฝ่ายรามัญ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีกุล ร.ศ.๑๔๒ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖

กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านจึงได้รับการอต่งตั้งให้เป็น รักษาการตำแหน่งเจ้าคระจังหวัดนนทบุรี  และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี

จนกระทั่งเมื่อครั้งงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ ร.ศ.๑๕๐ ตรงกับวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔  ท่านจึงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ “พระสุเมธาจารย์บริหารธรรมขันธ์ รามัญสังฆนาธิบดี”  ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญ  ซึ่งนับว่าท่านนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายรามัญนิกายรูปสุดท้ายของสยามประเทศ  ก่อนที่จะถูกยุบยกเลิกรามัญนิกายลงอย่างเป็นทางการ

ท่านเจ้าคุณฯวร นนฺทิโย ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในด้านปฏิบัติและปริยัติ ตามแบบพระรามัญโดยแท้ แม้แต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวโรรส ยังทรงโปรดฯและประทานแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเถรสมาคมด้วย  ท่านเจ้าคุณฯวร นนฺทิโย ท่านเป็นพระเถระที่มีบทบาทอย่างมากในกิจการคณะสงฆ์ทั้งฝ่ายรามัญ และฝ่ายคณะสงฆ์เมืองนนทบุรี ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีความเมตตาสูง เป็นที่เคารพศรัทธาของพระสงฆ์และชาวเกาะเกร็ดเป็นอย่างสูง ตลอดทั้งชาวรามัญทั้งหลายก็ต่างเคารพยกย่องท่านให้ท่านเป็น “พระสังฆราชฝ่ายรามัญ”

  พระสุเมธาจารย์ฯ(วร นนฺทิโย) ท่านได้อาพาธและได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ สิริอายุได้ ๘๔ ปี ๑๑ เดือน ๖ วัน พรรษาที่ ๖๕

ท่านเจ้าคุณฯวร นนฺทิโย ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างด้วยกัน แต่ที่รู้จักกันมากก็คือ เหรียญรูปเหมือนตัวท่าน รุ่นแรก ที่สร้างขึ้นในวาระที่ท่านมีอายุครบ ๖ รอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖  ซึ่งทางคณะศิษย์ได้ขออนุญาตท่านจัดสร้างเหรียญที่ระลึกเพื่อแจกจ่ายให้แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาของท่าน โดยเหรียญนี้ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนท่านห่มลดไหล่ มีอักษรไทยว่า เจ้าคุณพระสุเมธาจารย์ ทำบุญอายุ ๖ รอบ ๒๔๐๔-๒๔๗๖ ด้านหลังมียันต์ตรีนิสิงเหรามัญ อักขระที่ใช้เป็นภาษารามัญ และท่านยังได้สร้างเหรียญรูปเหมือนพระอาจารย์ละโว้ วัดปรมัยยิกาวาส ด้วย ซึ่งเหรียญนี้เป็นวัตถุมงคลที่ท่านดำริให้สร้างขึ้น เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานปลงศพ ของท่านอาจารย์ละโว้ เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๘ ซึ่งวัตถุมงคลของท่านแต่ละชิ้นนั้นปรากฏอานุภาพเด่นทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด คนรุ่นเก่าเกาะเกร็ดต่างนิยมใช้ติดกายและเป็นที่กล่าวขานกันมานาน ในปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านเริ่มจะหายากขึ้นทุกวัน เพราะเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์มาก สนนราคาเช่าหากันหลักพันปลายๆ ถึงหลักหมื่นปลายๆ กันเลยทีเดียว จึงเป็นที่หมายปองของเหล่านักสะสมพระเครื่องในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล

  ข้อมูลประวัติโดย  ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พระไตรสรณธัช(มาลัย ปุบฺผทาโม) วัดปรมัยยิกาวาสวรวิหาร เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี , หนังสือ ประวัติการพระราชทานสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๕๓๔ , คุณอ้วน พระรามห้า

ข้อมูลภาพโดย คุณเอ๋ สรรพยา , คุณ ซุก สุข , คุณกำนันธีระชัย ศิลาขาว , คุณเก่ง รามัญ

Leave a Reply