พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระคุณูปการกับบ้านเมืองมาก หากไม่มีพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ต่อมา พระราชจรรยาจึงถูกบดบังไปเสียมาก ดังพระราชกระแสตรัสเตือนให้เราเรียนรู้จากฝรั่งอย่างเท่าทันเขา แต่ไม่ควรนับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียวนั้น นับว่าเป็นพระราชวาจาภาษิต ซึ่งเราควรคิดคำนึงอยู่เนืองนิตย์
สิ่งซึ่งทรงพระราชวิตกเป็นข้อสำคัญก่อนสิ้นรัชกาลไปนั้นเป็นเรื่องพระห่มแหวก ดังลายพระราชหัตถเลขาถึงกรมสมเด็จพระเดชาดิศรนั้น น่าอ่านยิ่งนัก จึงขอคัดมาให้รับรู้กันทั้งฉบับ
“พ่อมั่งขา พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิตต์และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพลภาพมากอยู่แล้ว ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยาทรงพระเจ้าแผ่นดินมา ๒ พระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่ง เป็น ๓ ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษกปีขาลนั้นมาได้ ๕ ปี ถึงปีมะแมพี่จึงเกิด ตั้งแต่จำความได้มา จนอายุได้ ๒๒ ปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุได้ ๒๓ จึงสิ้นแผ่นดินไป มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีก ๑๖ ปี จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่ พระภิกษุผู้เป็นสงฆรัตนในกรุงศรีอยุธยาก็เห็นนุ่งสบงทรงจีวร เป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน แต่พม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้นแลเห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่า พระมอญ เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ โดยอัตตโนมัติ ปัญญาของพี่ เห็นว่าถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะ ได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรนานแล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญ เป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้ว่ากล่าว แต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้น และสืบไปเบื้องหน้าพระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นศูนย์ไป พี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุธยา ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสีย มาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัสตร ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย (คัดจาก หนังสือสนุก ของ ส. ศิวรักษ์)..”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อทรงผนวชอยู่นั้น ก็ได้มีพระลิขิตตอบอย่างน่าจับใจว่า “กระหม่อมฉันเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาวงศ์ ขอรับพระราชทานสารภาพโดยสัตย์โดยจริงว่า แต่ก่อนเมื่อเป็นภิกษุหนุ่มแรกบวช กำลังยังตั้งหน้าหาความรู้วินัยสิกขา ไปคบหากับพระสงฆ์พวกศึกษาคิดละเอียดไปต่างๆ ได้ฟังท่านพูดกันว่าห่มอย่างรามัญ เห็นถูกต้องด้วยเหตุต่างๆ ก็พลอยเห็นไปด้วย แต่ยังไม่ได้ห่มเองมิได้ ครั้นภายหลังพระสงฆ์อื่นๆท่านห่มเข้าไปในพระราชวัง เห็นรับสั่งถามเฉยๆ ก็พลอยคิดดีใจไปว่าทรงพระกรุณาโปรดให้ถือตามชอบใจ จึงพลอยทำด้วยต่อมา โดยรักไปทางข้างสิกขา หาได้นึกมาถึงพระเกียรติยศ และการแผ่นดินเป็นของสำคัญแข็งแรง เหมือนดังทรงพระดำริครั้งนี้ไม่เลย ถ้านึกได้แต่ครั้งนั้นก็มิได้ประพฤติมาดังนี้ อนึ่ง เมื่อครั้งโน้นเป็นแต่มีศิษย์เป็นพระสงฆ์อนุจรอยู่ ๕ องค์ ๖ องค์ ไม่ทราบว่าจะมีศิษย์หามากมายไป ครั้นอาศัยพระบารมีเป็นที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยง บริษัทจึงมากขึ้น จึงคิดเห็นบ้างว่าจะประพฤติห่มอย่างรามัญไม่สมควรแก่พระเกียรติยศและประเพณีพระนคร แต่กาลล่วงเลยมานานแล้วก็กระดากอยู่ และไม่มีผู้ใหญ่บังคับบัญชาเป็นที่อ้างก็เกรงใจ ศิษย์หาพวกพ้องที่ประพฤติเหมือนกันอยู่นั้น ครั้งนี้ได้รับสั่งในกรมเป็นที่อ้างก็ยินดีจะประพฤติตามพระราชประสงค์สนองพระเดชพระคุณมิให้ความรำคาญเคืองพระบรมราชอัธยาศัย พระเดชพระคุณเป็นที่ล้นที่พ้น ชีวิตอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท อนึ่งก็จะได้เป็นสามัคคีคารวะ ด้วยพระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นอันมากต่อไปในเบื้องหน้าด้วย
ควรมิควรสุดแต่จะโปรด
ปฏิญาณนี้ถวายไว้แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีจอโทศก
พระลังกาในอารามนี้ ๑๑ องค์ ขอรับประทานตามใจเขาเถิด บ้านเมืองครูอาจารย์เขาที่บวชอย่างนั้น ครั้นเคี่ยวเข็ญเข้าความจะอึงออกไปนอกบ้านนอกเมือง
เมื่อเจ้าฟ้าพระมงกุฎได้กราบทูลสารภาพ และมีคำวินิจฉัยออกมาว่าการห่มแบบใหม่นั้นไม่ถูกต้อง ทำให้พระสงฆ์ในธรรมยุตินิกายหันกลับไปห่มคลุมแบบมหานิกายตามเดิม
เสียดายที่เมื่อพระองค์ท่านเสวยราชย์แล้ว พระธรรมยุติถวายพระพรว่าอึดอัดที่ต้องกลับไปห่มคลุมอีก จึงโปรดให้เป็นไปตามที่พระคุณท่านนั้นๆทูลร้องขอ พระธรรมยุติจึงกลับห่มแหวกอีก ดูเหมือนไกล่เกลี่ยตรงที่ว่าถ้าพระธรรมยุติเข้าไปในพระอุโบสถวัดพระแก้ว ต้องคาดรัดประคดทับผ้าสังฆาฏิ ซึ่งตามปกติพาดอยู่เฉยๆ
แต่นี่จะเป็นเพียงรูปแบบภายนอก แต่พระภิกษุสงฆ์สายลังกาวงศ์ถือว่าเรื่องเช่นนี้สำคัญนัก เช่นออกจากวัดจะห่มคลุมทั้งสองไหล่ หรือห่มโดยไม่คลุมอีกไหล่ ดังอยู่ในวัด ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก แม้การม้วนลูกบวบไปทางซ้ายหรือขวาก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ดังการที่พระสวมรองเท้าออกนอกวัด (ยกเว้นเวลาบิณฑบาต ห้ามใส่รองเท้าด้วยประการใดๆ สิ้น) จะต้องตามพระวินัยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องอธิบายกันมาก
เรื่องการห่มแหวกนั้น ครั้นมาสมัยเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประมุขสงฆ์ ตรัสชวนให้พระมหาเถระฝ่ายมหานิกายห่มแหวกอย่างธรรมยุติ แม้จะไม่ต้องบวชแปลงเป็นธรรมยุติอีกแล้วก็ตาม ปรากฏว่าพระมหาเถระที่สนองพระบัญชาได้ดิบได้ดีในทางสมณศักดิ์กันเป็นแถวๆ ดังดูได้ที่วัดมหาธาตุและวัดอนงค์เป็นตัวอย่าง ส่วนที่ดื้อรั้นไม่ยอมห่มแหวกตามพระประสงค์ ย่อมไม่เจริญในทางสมณศักดิ์แทบทั้งนั้น ดังที่วัดระฆัง วัดแจ้ง วัดสุทัศน์ และวัดสระเกศ เป็นตัวอย่าง
พระมหาเถระที่ไม่ยอมห่มแหวกยืนยันว่า จะห่มคลุมหรือห่มแหวก ก็เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ท่านห่มคลุมตามอุปัชฌาย์อาจารย์สืบทอดกันมา จะให้เนรคุณครูอาจารย์อย่างไรได้
จะอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ฉบับ ร.ศ.๑๒๑ เป็นต้นมา พระธรรมยุติได้รับพระราชทานพรพิเศษ อย่างเปิดเผย ให้บังคับบัญชาพระมหานิกายได้ แต่พระมหานิกายปกครองพระธรรมยุติไม่ได้ ว่าถึงสมณศักดิ์ พระธรรมยุติซึ่งมีเพียง ๖% ของพระมหานิกาย ก็ได้สมณศักดิ์เกือบเท่ากับพระมหานิกายเสียด้วยซ้ำ ยิ่งบางตำแหน่งด้วยแล้ว สงวนไว้เป็นของพระธรรมยุติเท่านั้น เช่น ตำแหน่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นต้น
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แล้ว พระผู้น้อยทางฝ่ายมหานิกายรวมตัวกันเป็นคณะปฏิสังขรณ์ ต้องการปลดแอกการครอบงำของคณะธรรมยุติ จนเกิดพระราชบัญญัติใหม่ใน พ.ศ.๒๔๘๔ ใช้วิธีการแบบประชาธิปไตย ถึงกับกำหนดให้รวมสองนิกายเข้าด้วยกันภายใน ๑๐ ปี โดยได้สร้างวัดพระศรีมหาธาตุขึ้นเป็นแห่งแรกให้พระภิกษุสองนิกายอยู่ร่วมกัน โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) รัฐบุรุษคนสำคัญของคณะราษฎร ได้บวชท่ามกลางสงฆ์ของสองนิกายที่วัดนี้เป็นท่านแรก แต่แล้วความปรารถนาดีดังกล่าวก็เป็นไปไม่ได้อย่างน่าเสียดาย
ครั้นคณะสงฆ์ตกอยู่ใต้ลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมยิ่งๆ ขึ้น และสิกขาสาชีพหย่อนยานลง จึงเกิดอลัชชีขึ้นมากเหลือเกิน
ถ้าในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ จะทรงปฏิสังขรณ์การพระศาสนาเป็นการใหญ่ คณะสงฆ์สยามย่อมอาจฟื้นขึ้นได้โดยพระราชูปถัมภ์ อย่างน้อยพระราชบัญญัติการคณะสงฆ์ฉบับใหม่ก็ได้ตราขึ้นแล้ว ถ้ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการมหาเถรสมาคมให้ประกอบด้วยพระมหาเถระผู้ทรงไว้ซึ่งศีลาจารวัตร และเข้าใจสภาพของสังคมร่วมด้วย น่าจะแก้ไขสภาพของคณะสงฆ์ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นได้ ให้ไปกับความเป็นพระภิกษุสงฆ์ของศรีอยุธยาสมดังพระบรมราชปรารภของในหลวงรัชกาลที่ ๓ คือไม่แต่สัญลักษณ์ภายนอกคือการห่มผ้า หากเข้าถึงจุดอันเป็นสาระของสมณะ คือประยุกต์พระธรรมวินัยให้เป็นอกาลิโกได้โดยแท้…
ส.ศ.ษ.
ขอบคุณ เฟชบุ๊ค : Sulak Sivaraksa
Leave a Reply