นักการเมืองแบบเก่า

การเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 4–8 กุมภาพันธ์ แต่ละพรรคได้ส่งใครกันบ้างลงสมัคร ทั้งส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และบัญชี นายกรัฐมนตรีซึ่งพรรคหนึ่งๆเสนอได้ไม่เกิน 3 คน ก็คงได้เห็นกันแล้ว ประชาชนจะได้เห็นกลยุทธ์การหาเสียงในทุกรูปแบบ

1 คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิที่จะตัดสินกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวในวันเข้าคูหาวันคะแนน -24 มีนาคมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ก่อนหน้านั้น ใครและพรรคไหนจะคุยข่มกันอย่างไรก็ว่ากันไปตามประสา รวมทั้งโพลสำนักต่างๆที่จะเสนอจำนวนเก้าอี้ก็ฟังไว้เป็นกับแกล้มก็แล้วกัน

เป็นที่วิตก หวาดหวั่นกันว่า การประกาศผลหรือการรับรองส.ส. เขตโดย กกต.ภาย ในไม่เกิน วันที่ 9 พฤษภาคม อาจจะเกิดปัญหา เพราะจะมีการร้องเรียนการกระทำผิดกฏหมายกันจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ 1 คะแนนเสียงมีค่าดั่งทอง ใครๆ และพรรคไหนก็ต้องการจะได้ 1 คะแนนนั้น

เมื่อชะงัก ติดขัดกันที่หน่วยเลือกตั้งไหน เขตไหน จังหวัดไหนสักแห่ง การรวมคะแนนทั้งประเทศของผู้สมัครและพรรคนั้นก็จะส่งผลกระทบไปถึงการ จัดสรรปันส่วนผสมให้กับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอื่นๆไปด้วย

กกต.รับรู้และเข้าใจดีว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร

ถึงอย่างไรก็ต้องมี ส.ส.ใหม่เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งส.ส.หน้าเดิมและส.ส.หน้าใหม่

แม้ รัฐธรรมนูญจะวางหลักวางเกณฑ์หลายต่อหลายอย่าง และแม้รัฐสภาแห่งใหม่อันโอ่อ่าอลังการ ชื่อว่า “สัปปานะสภาสถาน” ย่านเกียกกาย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ ส.ส. 500 คนและการเมืองก็อาจไม่เปลี่ยน

ส.ส.ที่เป็นนักการเมืองแบบเดิมๆ เคยประพฤติปฏิบัติมาอย่างไรก็คงจะได้เห็นกันอีก เช่น

ด้านการปฏิบัติหน้าที่ในสภา การอภิปรายแบบน้ำท่วมทุ่ง ไม่เข้าประเด็น ไม่เข้าประชุมตามกำหนดเวลานัด ประท้วงกันวุ่นวายเมื่อพิจารณาเรื่องสำคัญ การเสนอให้นับองค์ประชุม ประธานในที่ประชุมเตือนให้สมาชิกสรุปได้แล้ว เพราะอภิปรายมานานเกินสมควรแต่ส.ส.ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ให้ถอนคำพูด ก็โยกโย้ ต่อปากต่อคำกันไม่มีที่สิ้นสุด ส.ส.ไม่มีความรู้เรื่องข้อบังคับการประชุม เกิดการเล่นการเมืองกันภายในพรรค แบ่งเป็นก๊วน เป็นมุ้ง หาผลประโยชน์ ฯลฯ

ด้านความสัมพันธ์กับชาวบ้านในเขตเลือกตั้ง ส.ส.เขต จะลงพื้นที่เพื่อร่วมงานกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านถือเป็นเกียรติที่มีส.ส.มาร่วมงาน ได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก และได้ช่วยเงินใส่ซองช่วยงาน ขณะเดียวกัน ส.ส.ก็ถือว่า ชาวบ้านคือผู้ที่จะลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เวลาของส.ส.จึงหมดไปกับการเดินทางและการร่วมงานหรือกิจกรรมทางสังคม ประเพณี เช่น งานแต่ง งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานครบรอบ การก่อตั้งโรงเรียน งานเลี้ยงอสม.ฯลฯ แทนที่จะทุ่มเทเวลากับการศึกษาหาความรู้ การรับฟังข้อเสนอต่างๆเพื่อนำไปสะท้อนให้รัฐบาลได้ฟัง

การเมืองยุคปฏิรูปประเทศอาจจะกลายเป็นเรื่องตลกที่เถียงกันและขัดแย้งกันไม่จบไม่สิ้นว่า ยุทธศาสตร์ชาติก็ดี แผนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆที่ประกาศใช้นั้นทำมาถูกต้องหรือไม่ เพราะจะมีนักการเมืองและพรรคการเมืองส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย

รวมไปถึง รัฐธรรมนูญก็จะถูกเรียกร้องให้มีการศึกษาว่าควรจะแก้ไขกันอย่างไร

การเมืองแบบใหม่ และนักการเมืองแบบใหม่ควรจะเป็นแบบไหน ยังเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ยังตอบไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้วจะสรุปอย่างไร

Leave a Reply