‘ก้าวข้ามขัดแย้ง – สงบ’แท้หรือเทียม! วาทกรรมนักเลือกตั้ง

‘ก้าวข้ามขัดแย้ง – สงบ’แท้หรือเทียม! วาทกรรมนักเลือกตั้ง : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน

๒๔ มี.ค.๒๕๖๒ เป็นวันชี้ชะตาของประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด จะจมอยู่กับความขัดแย้งหรือจะก้าวข้าม ตามที่พรรคการเมืองหลายๆ พรรคเรียกร้องหรือนำมาเป็นประเด็นในการหาเสียง หรือมีวาทกรรมว่า “เลือก …สงบ”แน่ หรือบอกว่า ประเทศไทยสงบเพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของบางพรรค

ดังนั้น จึงมีคำที่ควรจะพิจารณาอยู่คือความขัดแย้ง มีความหมาย ลักษณะ องค์ประกอบ และบริหารจัดการไม่ให้เกิดความรุนแรงและสงครามอย่างไร ก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างไร และว และความสงบมีความหมาย ลักษณะ องค์ประกอบ และวิธีการสร้าง ที่แท้จริงเป็นอย่างไร

คำว่าความขัดแย้งและสงบนี้ ได้นำเสนอหลายครั้งโดยนำแนวคิดและทฤษฎีตะวันตกบูรณาการเข้ากับหลักพุทธสันติวิธีโดยเรียกว่า “อริยสัจโมเดล” ได้ดังนี้

๑. ทุกข์ เป็นอริยสัจหรือความจริงอันประเสริฐข้อที่ ๑ คือสภาวธรรมที่ทนได้ยาก พระพุทธองค์ได้กำหนดกิจไว้คือจะต้องกำหนดรู้ ซึ่งความขัดแยง ความรุนแรง สงคราม ตามแนวคิดของตะวันตก จัดอยู่ในทุกข์ทั้งสิ้น

“ความขัดแย้ง” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “contrast” แปลว่า “ตัดกัน” ความขัดแย้งถือว่าเป็นปกติหรือเป็นธรรมชาติของมนุษย์และสังคมเพราะมีประสบการณ์และพื้นฐานต่างกันแต่อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่มีความสมนัย คือไม่มีความเห็นความเสมอกันไม่ไปด้วยกัน มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน มีความต้องการผลประโยชน์ต่างกัน ซึ่งเป็นได้ทั้งบุญและบาป กุศลและอกุศล เชิงบวกและลบ ความขัดแย้งเชิงบวกทำให้คนหันหน้ามาคุยกัน สานเสวนากัน แก้ปัญหาร่วมกันอย่างสันติ ขณะที่ความขัดแย้งเชิงลบทำให้เกิดความรุนแรง ฆ่ากันทำร้ายกัน นำไปสู่สงคราม และมีทั้งความขัดแย้งภายใน (Domestic conflict) ภาษาบาลี คือ “อชฺฌตฺตํ” เป็นความขัดแย้งแบบหลบใน และความขัดแย้งภายนอก (Outerconflict) ภาษาบาลี คือ “พาหิรํ” แต่ที่สำคัญและน่ากลัวที่สุดคือ ความขัดแย้งภายในหรือความขัดแย้งแบบไร้ตัวตนหรือแบบหลบใน เพราะมีกิเลสคือ “ปฏิฆะ” ความขุ่นข้องหมองใจ หลบซ่อนอยู่ภายในจิตใจที่มีลักษณะเล็กๆ เบาๆ เหมือนขนนก สะสมมาเรื่อยๆ รอเวลาที่จะเอาคืนรอเวลาที่จะระเบิดออกมาแล้วนำไปสู่ความรุนแรง เหมือนขนนกรอเวลาที่เชือกขาด

ความขัดแย้ง มีพัฒนาการ ๓ ระยะ คือ “ตั้งตัว” หรือกำลังตั้ง “ตื่นตัว” หรือเริ่มมีเสียงออกมา และ “แตกตัว” หรือกระจายตัวออกมา โดยมีพัฒนาการเป็น ๓ แยกของความขัดแย้ง คือ “แปลกแยก”“แบ่งแยก” และ “แตกแยก” ทำให้เกิด ๔ แย่งคือ “แย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันสวาท แย่งอำนาจเป็นใหญ่”

“ความรุนแรง” นั้นมีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอตามกรอบความคิดของ “โยฮันกัลตุง” (Johan Galtung) นักวิชาการชาวนอร์เวย์ด้านสันติภาพและความรุนแรงศึกษา โดยแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ทางตรงหรือกายภาพ เชิงโครงสร้าง และเชิงวัฒนธรรม ความรุนแรงทางกายภาพนั้นจะต้องมีผู้กระทำให้เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางวาจา ส่วนความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบจะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ มีลักษณะเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การแบ่งชนชั้น ลัทธิเหยียดผิว ชาติพันธุ์ การทำลายตนเอง การทำลายชุมชน และการทำลายรัฐ-ชาติ โดยรัฐประหาร การกบฏ การก่อการร้าย สงคราม ขณะที่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็จะไม่ปรากฏผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเช่นกัน โดยจะการถ่ายทอดออกมาเป็นความเกลียด ความกลัว อคติ ความเจ็บแค้น เป็นความรุนแรงทางศาสนา อุดมการณ์ ภาษา และศิลปะ

“สงคราม” จัดเป็นอาชญากรรมเพียงอย่างเดียวที่ยกเว้นการพิพากษาโทษ เป็นการฆ่าแบบเป็นระบบป่าเถื่อนของผู้มีกำลังทางอาวุธเพื่อแสดงอำนาจ โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความเคียดเเค้นชิงชังต่อกัน บางสงครามอาศัยความเชื่อทางศาสนาเป็นข้ออ้างหรือเป็นเครื่องมือปลุกระดม และเป็นเครื่องมือของคนไม่มีเหตุผลไม่มีปัญญา สิ่งหนึ่งที่สงครามขาดไม่ได้เลย คือ “ผู้หญิง” ที่ต้องตกเป็นทาสทางกามารมณ์ ถูกข่มขืน สตรีต้องตกเป็นม่าย ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วเห็นจะมีประโยชน์อยู่อย่างเดียว คือ “ทำสงครามกับกิเลส” จัดการกับกิเลสภายในตนเอง เริ่มตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ภายในใจของตน เราควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม ด้วยการเริ่มจัดการกับสงครามภายในใจของเราเอง ดับสงครามภายใน เพื่อป้องกันสงครามภายนอก

๒.สมุทัย สาเหตุทำให้เกิดทุกข์ ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม อันได้แก่ อกุศลมูล ๓ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ขยายความเป็น ปปัญจธรรม คือ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ หรือ “สังโยชน์” คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ สิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ สิ่งผูกมัด ร้อยรัดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ผูกติดอยู่กับความทุกข์ ทำให้ไม่สามารถสลัดหลุดออกมาได้ ๑๐ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้จะต้องละหรือแก้ไข

ขณะที่แนวคิดตะวันตกอย่างเช่น “จอห์น แมคคอนเนล” และ “คริสโตเฟอร์ มัว” ได้แยกสาเหตุของความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม ออกเป็น ๕ ประเภทดังนี้

๑. ด้านข้อมูล (Data Conflict) ได้แก่ ข้อมูลขัดกัน ขาดข้อมูล เข้าใจผิด หรือสื่อสารไม่ถูกต้อง สับสนเรื่องหน้าที่ มุมมองต่างกันในเรื่องของข้อมูล ทั้งฝ่ายสนับสนุนในการให้ข้อมูลไม่ชัดแจ้ง

๒. ด้านผลประโยชน์ (Interest Conflict) ได้แก่ ขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรทางด้านธรรมชาติ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ปรารถนาและต้องการ

๓. ด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict) ได้แก่ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมที่ต่างกัน พฤติกรรมทางลบที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และวิธีการในการทำสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกัน ยังไม่ปรากฏชัดเจน แต่เป็นผลต่อความขัดแย้งที่สะสมมาและเพิ่มความรุ่นแรงขึ้น เป็นผลให้ความสัมพันธ์ไม่ดีต่อกัน ซึ่งยากต่อการเจรจาในการจัดการความขัดแย้งต่อไป

๔. ด้านโครงสร้าง (Structural Conflict) ได้แก่ การแก่งแย่ง โดยเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์เดิมด้วย ขัดแย้งเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ ขัดแย้งเนื่องจากขาดความ ยุติธรรม เป็นปัญหาหลักเลยก็ว่าได้
๕. คุณค่าหรือค่านิยม (Value Conflict) ได้แก่ ศาสนา โลกทัศน์หรือความเชื่อต่างกัน การให้ความสำคัญที่ต่างกัน เกณฑ์ประเมินต่างกัน ภูมิหลังทางวัฒนธรรมต่างกัน ภูมิหลังส่วนบุคคลต่างกัน พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ต่างกัน และสามารถสรุปออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้

๑. ปัจจัยภายในที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งประกอบด้วย
๑.๑ เป็นสัญชาตญาณและพฤติกรรมปกติของมนุษย์
๑.๒ เกิดจากความต้องการที่แตกต่างกัน
๑.๓ เกิดจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
๑.๔ เกิดจากค่านิยมความเชื่อ
๒. ปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งประกอบด้วย
๒.๑ เกิดจาก ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมประเพณีและการนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน
๒.๒ เกิดจากความอยุติธรรม การไม่เท่าเทียมกันในด้านเศรษฐกิจและสังคม
๒.๓ เกิดจากโครงสร้างสังคม
๒.๔ เกิดจากข้อมูลข่าวสารหรือการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพ

“สมุทัย”นี้พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้ว่าจะต้องละ

๓. นิโรธ คือความดับทุกข์ (ทุกฺขนิโรธ) เป็นภาวะที่ยุติความขัดแย้ง เป็นบรมสุข โดยมีคำว่า “สันติ” (Peace) เป็นไวพจน์ ซึ่งพุทธพจน์รับรองในธรรมบทคือ นตฺถิสนฺติ ปรํสุขํ” แปลความว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” นับเป็นเป้าหมายหรือจุดสุดยอดของ ดังนั้น “สันติ” คือ ไม่มีความขัดแย้ง เป็นความสุขสงบ เป็นสุขภายใน ส่วนคำว่า “สุขา สงฺฆสฺสสามคฺคี” ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำสุขมาให้ เป็นความสุขภายนอก เพราะต้องเกี่ยวเนื่องกับคนอื่น “สันติ” นั้นมีความหมายทั้งในเชิงลบ คือ สภาวะที่ไม่มีสงครามและความขัดแย้ง และเชิงบวก คือสภาวะที่มีความรัก สามัคคี และความยุติธรรม และมี ๒ ลักษณะคือ “อัชฌัตติกสันติ” ความสงบภายใน(Inner Peace) และ “พาหิรสันติ” ความสงบภายนอก(Outer Peace) โดยขยายกว้างออกไปอีก ๓ ระดับ คือ
๑.“สันติภาพภายในตนเอง” (to live in harmony with oneself) อยู่อย่างกลมกลืนกับสันติภายในจิตใจของตนเอง เป็นระดับตนเอง
๒.สันติภาพกับคนอื่น (with others) อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ เป็นระดับผู้อื่น และ ๓.สันติภาพกับธรรมชาติ (with the natural environment) อยู่ร่วมกันอย่างสันติกับธรรมชาติได้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า “ยสฺสรุกขสฺสฉายาย นิสีเทยฺยสเยยฺย วา น ตสฺสสาขํภญฺเชยฺยมิตฺตทุฏฺโฐหิปาปโก” แปลความว่า “บุคคลนั่งหรือนอนในร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักก้านรานกิ่งและใบของต้นไม้นั้น เพราะว่าผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม” ทรงย้ำเตือนเสมอว่า “จงเป็นมิตรกับธรรมชาติ” อย่างไรก็ตามหากความสงบด้วยการกดเอาไว้ยังไม่ถือว่าเป็นสันติภาพ

ขณะที่ ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ได้เสนอว่า เจ้าชายสิทธัตถะแห่งแคว้นสักกะ กรุงกบิลพัสดุ์เป็นคนแรกที่พูดคำว่า “สันติภาพ” ทรงออกบวชเดินทางสู่สันติ ดังคำว่า “สนฺติวรปทํ ปริเยสมาโน” แปลคว่า“ทางสู่สันติอันประเสริฐ” โดยพบสันติในเดือนวันเพ็ญวิสาขะ เรียกว่า “นิพพาน” หลังจากนั้นเดินทางออกสอนสันติภาพ ๔๕ พรรษา พระธรรมทำให้เกิดพระพุทธเจ้า นั่นหมายความว่า ต้องเดินตามมรรคมีองค์ ๘ เป็นเส้นทางสู่การเป็นพระพุทธเจ้า จึงเกิดคำพูดว่า “สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ” ต้องเคารพสัทธรรมที่แท้จริง แล้วพระพุทธเจ้าก็นำธรรมมาสั่งสอน โดยแบ่งออกเป็นพระธรรมและพระวินัย เช่น อริยสัจ ปฏิจสมุปบาท ซึ่งพระพุทธเจ้าทิ้งกองทัพทางโลก แต่มีกองทัพทางธรรม เพื่อบอกว่ายิ่งใหญ่มากกว่ากองทัพทางโลกซึ่งมีแต่ความรุนแรง แต่กองทัพทางธรรมมีแต่สันติสุข ฉะนั้นกองทัพธรรมจึงยิ่งใหญ่กว่ากองทัพสงคราม

ด้าน “โยฮันกัลตุง”ได้เสนอนำเสนอสันติภาพเชิงลบ หมายถึง “การปลอดพ้นจากความรุนแรงทางตรง” เช่น ความรุนแรงต่อบุคคล คนกำลังตีกัน เราไปห้ามอย่าตีกันเลย ส่วนสันติเชิงบวก หมายถึง “การปลอดพ้นจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” เช่น ความยากจน การเหยียดผิว ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ที่คนโกรธกันเพราะอะไร เพราะไม่ยุติธรรม เราจะทำอย่างไรให้เกิดความพอใจ จึงมีคำว่า “สงครามเกิดขึ้นที่จิตใจของมนุษย์ สันติภาพจึงต้องเริ่มจากจิตใจของมนุษย์เช่นกัน”

“นิโรธ”นี้พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้ว่าจะต้องทำให้แจ้ง

๔.มรรค คือ หนทางแห่งการดับทุกข์ ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำว่า “สันติวิธี” แต่การจะพ้นทุกข์หรือเกิด “สันติภาพ” ได้นั้นจะต้องเริ่มจากใจเป็นอันดับแรก ซึ่งก็ตรงกับธรรมนูญของยูเนสโกที่ว่า “…Since wars begin in the minds of men, it is in the minds of men that the defenses of peace must be constructed.” แปลความว่า “…เนื่องจากสงครามเริ่มต้นที่ใจของมนุษย์ ดังนั้นปราการแห่งสันติภาพ จึงต้องสร้างที่ใจของมนุษย์ที่แหละ…” ดังนั้นหากจะสร้างสันติภาพต้องสร้างที่ใจของมนุษย์ ตรงกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ว่า “มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโน เสฏฺฐา มโน มยา” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้ามีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ” โดยดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น

ขณะที่แนวคิดด้านสันติวิธี พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ) ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้แบ่งออกเป็น ๓ สำนักคือ

๑. สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง (Peaceful Means) โดยมีวิธีการเช่น การเจรจากันเอง (Negotiation) คือ การใช้วิธีการพูดคุยกันก่อนอาจจะเอาจุดยืนเป็นตัวตั้งหรือจะเอาประโยชน์เป็นตั้งตั้งโดยมีเป้าหมายคือชนะทั้งคู่ การไกล่เกลี่ย (Mediation) มีเป้าหมายคือชนะทั้งคู่ อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) มีแพ้มีชนะ กระบวนการทางศาล (Court) และการหลีกเลี่ยง (Avoidance)
๒. สันติวิธีในฐานะเป็นฐานของการเรียกร้องความต้องการโดยปราศจากความรุนแรง เช่น การเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรม (Civil Disobedience) การดื้อแพ่งหรืออริยขัดขืนคือการแสดงสัญลักษณ์ผ่านคำพูด(Demonstration) การอดข้าวอย่าง “มหาตมะ คานธี” การเดินขบวน (March) และม็อบ(Mob) คุมไม่อยู่เพื่อให้ผู้มีอำนาจได้ยิน เสียงของคน มาเพื่อให้คนได้ยิน
๓) สันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต (Pacifism) อย่างการกินเจ การใช้หลักใช้อหิงสาของ “มหาตมะ คานธี” หรือการสร้างสันติภายในให้เป็นวิถีชีวิตตามหลักวิปัสสนากรรมฐาน

สำหรับกระบวนการของสันติวิธีนั้น “โยฮันกัลตุง”ได้เสนอเป็นลักษณะ ๓ เหลี่ยมคือ ๑.การทำให้เกิดขึ้น ๒.การสร้างสรรค์ และ ๓.การรักษา พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้เสนอคือ ๑.การป้องกัน (Prevention) ๒.การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) และ ๓.การแก้ไข (Resolution) ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ได้เสนอคือ ๑.การป้องกัน ๒.การแก้ไข และ ๓. การเยียวยา ซึ่งก็ตรงกับหลักปธาน ๔ ตามที่“พระพรหมบัณฑิต” และ “พระศรีคัมภีรญาณ” ได้นำเสนอ โดยมีวิธีการตามที่พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้เสนอหลัก ๓ แยกคือ ๑.แยกอารมณ์ออกจากคน ๒.แยกคนออกจากปัญหา และ ๓. แยกปัญหาออกจากการแก้ไข(วิธีการ) เพราะพระพุทธศาสนาเป็นแบบวิภัชชวาท (Segmentation) ซึ่งพระพุทธเจ้าให้จัดการกับตัณหาไม่ได้ให้จัดการกับตัวปัญหา อย่างไรก็ตาม “โคทม อาริยา” ได้เสนอว่า “การจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามได้นั้น จึงต้องแก้ที่ทัศนคติ สร้างสันติวัฒนธรรม คือการปลอดพ้นจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมที่สันติวัฒนธรรม

“มรรค”นี้พระพุทธองค์กำหนดกิจไว้ว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้มาก

๔. การสร้างสันติภาพตามแนวทางอริยสัจโมเดล

ภาวะสังคมโลกที่มีความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามทำให้เกิดแนวคิดสันติวิธี ๓ สำนักดังกล่าวทั้งสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง (Peaceful Means) สันติวิธีในฐานะเป็นฐานของการเรียกร้องความต้องการโดยปราศจากความรุนแรงนั้นยังมองไม่เห็นทางว่าจะสามารถจะยุติสงครามทั้งแบบมีรูปแบบและไร้ตัวตนในยุคปัจจุบันได้เลย และแม้แต่กระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาษาก็ยังไม่มีรูปแบบทักษะที่เป็นมาตรฐานสากล คงจะมีเพียงสำนักเดียวเท่านั้นที่พอจะเยียวยาได้ นั่นก็คือสำนัสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต (Pacifism) และที่ปรากฏชัดก็เห็นจะมีแต่เพียงสำนักพุทธสันติวิธี (Buddhist Pacifism) ที่เน้นการสร้างสันติภายใน เพราะมีหลักธรรมที่ตรงกับธรรมนูญของยูเนสโกที่ว่า “สงครามและสันติภาพเกิดขึ้นที่ใจของมนุษย์” เป็นสำคัญ และพระพุทธเจ้าตรัสว่า “นาหํภิกฺขเวโลเกน วิวทามิ” แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลกแต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆ ใน โลก” เพราะหากทุกคนรักสงบมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องทำ “สิทธิสัญญาสงบศึก” เพราะทำสนธิสัญญาสงบศึกแล้วพากันละเมิด จึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม ด้วยการเริ่มจัดการกับสงครามภายในใจของเราเอง ดับสงครามภายใน เพื่อป้องกันสงครามภายนอก” และรู้จักเลือกคบกัลยาณมิตร สร้างเครือข่ายพระพุทธศาสนามีพุทธธรรมอยู่หมวดหนึ่ง ชื่อว่า “มงคลสูตร” คือเคล็ดลับการสร้างความสุขความเจริญ สูตรแห่งความสำเร็จข้อแรกของพระพุทธเจ้าคือ “ต้องหลีกเลี่ยงคนพาล สังสรรค์บัณฑิต” แล้วโลกให้คำสัญญากับการสร้างสันติภาพภายในมากน้อยเพียงใด

พุทธสันติวิธีในการยุติสงครามแบบไร้ตัวตนหรือหลบในคือ “อริสัจโมเดล” หรือ “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งเรียกกว่า “อริยสัจใหญ่”ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงธรรมวิจัยพบที่ใต้ต้นโพธิ์วันเพ็ญวิสาขบูชา ซึ่งอริยสัจที่เป็นตัวสันติวิธีก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ทางสายกลาง ๘ ประการ คือ “เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ” แต่หากจะบูรณการเข้ากับกระบวนการเข้ากับแนวคิดนักสันติวิธีทั่วไปแล้วนำกิจของอริยสัจและหลักธรรมปธาน ๔ จะเห็นได้ชัดคือมีลักษณะเป็นรูปแบบ ๔ เหลี่ยม ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกันทั้งพระพรหมบัณฑิต พระศรีคัมภีรญาณ และพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส แต่เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดสากล พระมหาหรรษา ธฺมมหาโส ได้เสนอเป็น ๓ กระบวนการคือ ๑.การป้องกัน (Prevention) ๒.การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) และ ๓.การแก้ไข (Resolution) ซึ่งสามารถสรุปเป็นโมเดลคือ “๔ป.ยกกำลังสองโลกรอดมนุษยชาติรอด” ๔ป.ชุดแรกคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และป้องกัน ดังนี้

๑.ปริยัติ คือการ (ปลูก) ฝัง ด้วยการศึกษาซึ่งนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะสร้างสันติหรือสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสันติศึกษา ซึ่งจะเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลง (Transformative Education) คือพัฒนาชีวิตและสังคมเป็นวัฒนธรรมแห่งไร้ความรุนแรง (Culture of Non-Violence) และเป็นวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ (Culture of Peace) เพื่อการพัฒนาปัญญา ๓ ระดับคือ

๑.สุตมยปัญญา เป็นการรับข้อมูลมาจากคนอื่นทั้งเป็นข้อเท็จจริง และสารสนเทศข้อมูลข่าวสาร
๒.จินตามยปัญญา นำความรู้ไปคิดวิเคราะห์
๓.ภาวนามยปัญญา คือ สร้างขึ้นเป็นทักษะ ที่เป็นความความรู้รอบและความรู้ลึก ที่สามารถมองเห็นด้านในเห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผล อะไรเป็นเหตุให้เกิดอะไร รู้เป็นระบบ “รู้รอบ” คือ รู้ปฏิจจสมุปบาท รู้ว่าแต่ละสิ่งอาศัยกัน “รู้ลึก” คือ รู้ “ไตรลักษณ์” รู้ว่าไม่มีอะไรโลกนี้เป็นอนัตตา

หากการศึกษาพัฒนาปัญญาได้ ๓ ระดับนี้จะทำให้เกิดเป็นสัมมาทิฐิที่สมบูรณ์เป็นวิถีสันติวัฒนธรรมเพราะสามารถถอดแว่นสีออกไปได้ทำให้มองเห็นว่า “เราทุกคน คือ คนชาติเดียวกัน ไม่ใช่ชาติไทย ไม่ใช่ชาติจีน ไม่ใช่ชาติอังกฤษ หรือชาติอเมริกา หากแต่เป็นมนุษยชาติเหมือนกัน” ตามที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีระบุ สอดรับกับความคิดของ “มหาตมะ คานธี” ที่ว่า “อารยธรรมไม่ใช่เรื่องของเสื้อผ้า ไม่ใช่เรื่องของการมีรสนิยมวิไลในการกิน อยู่ ดื่ม และการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่อารยธรรมหมายถึง ระดับความสูงต่ำของคุณธรรมในหัวใจคนต่างหาก” ทำให้ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” กล่าวยกยกย่องว่า อาจเป็นได้ที่ในยุคต่อไป จะไม่มีใครอยากเชื่อว่าบุคคลเช่นนี้คือ มหาตมะคานธี ก็เคยมีชีวิตชีวาเดินเหินอยู่บนพื้นโลกนี้” แต่ทั้งนี้แนวคิดของ “มหาตมะ คานธี” ได้รับอิทธิพลมากจากพระพุทธเจ้า

อย่างไรก็ตามสันติศึกษาแบ่งออก ๒ ประการ คือ ๑.การเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Discovery of Others) คือ เรียนรู้คนอื่นให้มาก เรียนรู้ศาสนาอื่น จะได้ทำความเข้าใจกัน และ ๒.แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง (Projects of Shared Purpose) คือ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง อย่างเช่น คนที่ทะเลาะกันต้องร่วมเดินทางไปด้วยกัน สันติศึกษาต้องนำคนที่เห็นต่างมาทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อมุ่งสู่เป้า
หมายให้คนสามัคคีกัน พร้อมกันนี้นักสันติวิธีจะต้องตั้งอยู่บนฐานของปัญญา อย่าใช้ชีวิต เหมือน “แร้งติดบวง” ติดในลาภยศ และไม่ควรกล้าแบบบ้าบิ่น และตั้งอยู่บนพื้นฐานของขันติธรรมความอดทนต่อความแตกต่าง ดังพุทธพจน์ที่ “ขนฺตี ปรมํตโป ตีติกฺขา” แปลความว่า “ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง” และยึด “อนูปวาโท” การไม่ว่าร้ายใคร “อนูปฆาโต” การไม่ทำร้ายใคร ซึ่งใน พ.ศ.๒๕๓๘ องค์กานยูเนสโกประกาศปฏิญญาว่าด้วย หลักการแห่งขันติธรรม (Principles of Tolerance) เพราะคำว่าขันติธรรม เป็นการเคารพและการยอมรับนับถือ วัฒนธรรมของโลกที่หลากหลาย วิธีการแสดงออกและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป อดทนต่อความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ไม่มีเลือกปฏิบัติ ขันติธรรมเป็นฐานของสันติ และความอดทนต่อความแตกต่างเป็นฐานสำคัญสำคัญของศาสนาต่อสันติภาพ เพราะศาสนาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง จึงประกาศว่า “No more wars in the name of religion : ไม่ยอมให้มีสงครามในนามของศาสนาอีกต่อไป” และทุกศาสนาก็มีหลักขันติธรรมเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติทั้งนั้น

ปริยัติหรือการศึกษานับได้ว่าเป็นการป้องกัน “สังวรปธาน” (Prevention) ความขัดแย้ง หากเกิดความขัดแย้งก็สามารถบริหารจัดการไม่ให้เกิดความรุนแรง และสงครามเป็นภาวะแห่งสันติภาพภายในนับเป็นยุทธศาสตร์ใรการตั้งรับที่ดี

๒.ปฏิบัติ คือการปลุกหรือการนำทฤษฏีความรู้นำไปปฏิบัติแก้ไข ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม เพื่อให้การสันติภาพตามหลักสันติวิธี ตามขั้นตอนของ “ปหานปธาน” (Resolution) โดยการไกล่เกลี่ยอย่างเช่นพระพุทธเจ้าทรงห้ามญาติทะเลาะกันเรื่องน้ำ ซึ่งพระองค์ตั้งอยู่บนหลักของความเป็นกลางทางการเมืองอย่างกรณีสงครามระหว่างพระเจ้าอชาตศัครูกับแคว้นวัชชี เป็นตัวอย่างของผู้นำศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนทูตจะต้องเตือนสติชาวโลกได้ โดยจะต้องใช้พุทธสันติวิธีหรืออริยสัจโมเดลวิเคราะห์หรือ “SWOT” พื้นที่ตามหลัก “บวร”คือ “บ้าน(โลก) วัด(ศาสนา) โรงเรียน(สถานศึกษา-แนวคิด)” โดยวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและความเสี่ยง รวมถึงปัจจัยที่จะเกิดความสำเร็จ คือ ๑.ผู้นำ (Leaders) ๒.ทุนทางสังคม (Social capita) ๓.การมีส่วนร่วม (External Factors) ๔.ผู้สนับสนุน (Participation) แล้วลงมือปฏิบัติการด้วยโมเดล “๔ป.” อีกชุดหนึ่งคือ “ปลูก ปลุก ปรับ และเปลี่ยน”“ปลูก” คือการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง “ปลุก” คือกระตุ้นให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการ “ปรับพื้นนอก” คือ พื้นฐานทางกายภาพและพฤติกรรมให้ตรงกัน และ “ปรับพื้นใน” คือ ปรับอินทรีย์และกำลัง คือ ปรับศรัทธาคือปรับความเห็น ปรับวิริยะ ปรับสติ ปรับสมาธิ และปรับปัญญา เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนตามหลักเพื่อภาวนา ๔ คือ กายภาพ คือ ทำ (เมตตากายกรรม) พูด (เมตตาวจีกรรม) ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ประกอบด้วยเมตตา (เมตตามโนกรรม) มีพฤติกรรมตรงกัน (ศีลสามัญญตา) รู้จักแบ่งปันเป็น (สาธารณโภคี) เปลี่ยนสภาวจิตและปัญญาให้ตรงกัน (ทิฐิสามัญญตา) ซึ่งจะทำให้เกิดเปลี่ยนความคิดว่า “ความเป็นศาสนิกของตนนั้นเป็นเพียงเปลือกผิว ของความเป็นมนุษย์เท่านั้น แก่นแท้ของเราทุกคน คือ เราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราต่างก็มีความต้องการพื้นฐานของชีวิตที่เหมือนกัน “รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน” เราจึงไม่ควรให้ความเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวอิสลาม ชาวพราหมณ์ฮินดู ชาว ซิกข์ อันเป็นเพียงสมมติบัญญัติทางศาสนา มาแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ของเราออกจากกัน” นับเป็นยุทธศาสตร์ในการรุกที่เยี่ยม

๓. ปฏิเวธ หรือภาวนาปธาน คือการสร้างสามัคคีสมานฉันท์ ด้วยหลักสังควัตถุ ๔ คือการ การให้อภัยทานเป็นสำคัญ ด้วยหลักสาราณียธรรม ธรรมสร้างความสามัคคี คือ ๑.เมตตากายกรรม ๒.เมตตาวจีกรรม ๓.เมตตามโนกรรม ๔.สาธารณโภคี ๕.สีลสามัญญตา ๖.ทิฐิสามัญญตา นับเป็นยุทธศาสตร์ใรการตั้งรบที่ยอด

๔.ป้องกัน หรือ “อนุรักขนาปธาน” (Preservation) คือการรักษาสันติภาพที่เกิดขึ้นแล้ว ให้คงอยู่ด้วยหลักธรรมาธิปไตยคือชนะทั้งคู่ (win win) ชนะทั้งคู่ โดยยึดหลักสุจริต ๓ ประการ ๑.ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ ๒.ไม่ละเว้นต่อหน้าที่ ๓.ไม่ทุจริตต่อหน้าที่ ตั้งอยู่บนหลักธรรมคุ้มครองโลกคือหิริและโอตัปปะ ความรู้จักพอใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นการป้องกันชั้นเยี่ยม นับเป็นยุทธศาสตร์ใช้ในการตั้งรั้งหรือหนีอย่างไร้เทียมทานเฉกเช่น “ขงเป้ง” ถอนทัพวางกลลวงสุมาอี้ฉันนั้น

ดังนั้น พุทธสันติวิธีหรือตำราพุทธพิชัยสงครามตามแนว “อริยสัจโมเดล” ที่บูรณาการกับหมวดธรรมคือปธาน ๔ สอดประสานกับหลักสันติวิธีตะวันตก ที่มุ่งเน้นการเน้นการสร้างสันติภายในเริ่มจากการปริยัติหรือสันติศึกษาภายในด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั้งเกิดสัมมาทิฐิ ว่า “โลกทั้งผองคือพี่น้องกัน” ก็จะทำให้เป็นนักสันติวิธีแบบวิถีชีวิต(Pacifism) สามารถยุติปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามเกิดสันติภาพภายใยแบบไม่มีความขัดแย้งภายใน ก็จะทำให้เกิดพลังทั้ง ๕ คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ในการแก้ปัญหาความขัดแยง รุนแรง และสงครามไร้ตัวตนหรือหลบในของชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลกให้เกิดสันติภาพ ด้วยโมเดลต่างๆ โดยเริ่มจากหลัก “๔ป.” ในพื้นที่ “บวร” เพื่อให้เกิด “ภาวนา๔” ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องมีหลักการ ๒ คือความรู้คู่คุณธรรม เมื่อจะนำความรู้ไปใช้ในการสร้างสันติภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไข ๓ คือ ประมาณ เหตุผล และภูมิคุ้มกันความเสี่ยง แบบเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้นักพุทธสันติวิธีสามารถยุติปัญหาความขัดแย้ง รุนแรงและสงครามได้ระดังหนึ่งแต่การจะทำให้ “อริยสัจโมเดล” คงจะต้องมีการบูรณาการเข้ากับศาสตร์ใหม่ให้ทันกาล

หากนักการเมืองและคนไทยเข้าใจหลัก “อริยสัจโมเดล” คงไม่จมปักอยู่กับวาทกรรมของคำว่าขัดแย้งและสงบอย่างที่เห็นกัน และที่ระบุมาข้างต้นนี้เป็นตัวชี้วัดนักการเมืองเป็นอย่างไร รวมถึงนโยบายที่ประชันกันนั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านจิตใจมากน้อยเพียงใด เพราะการจะพัฒนาคนนั้นจะต้องเริ่มที่การพัฒนาจิตใจถึงจะยั่งยืน

 

Leave a Reply