วันที่ 18 กันยายน 2562 จากปรากฏการณ์ กรณี “ภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน”พระครูพิพิธสุตาธร (พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ ได้เสนอแนะผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว(Phramaha Boonchuay Doojai)ความว่า ต่อกรณีนี้มีความในใจที่อยากบอกเล่าสักสองสามเรื่อง คือ
การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
งาน “ภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน” มีความเหมาะสมหรือไม่ประการใด ??? ก็มีความเห็นว่า คงต้องย้อนกลับไปดูหลักการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งมีสิ่งที่ศิลปินจำเป็นต้องเข้าใจอยู่สองเรื่องหลัก ได้แก่ “รูปแบบ” และ “เนื้อหา” โดยในส่วนของ “รูปแบบ” อาจปรับเปลี่ยนไปตามบริบทที่เปลี่ยนไปได้ ในขณะที่ “เนื้อหา” ควรได้รับการอนุรักษ์สืบทอดต่อไป ซึ่งในส่วนเนื้อหานี้เองมีลักษณะที่เป็นนามธรรม จึงจำเป็นที่ศิลปินจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง ก่อนที่จะสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นออกมา
กรณีการสร้างสรรค์งาน “ภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูป” เนื้อหาสาระที่ศิลปินผู้ที่จะผลิตผลงานต้องทำความเข้าใจ คือคำว่า “พุทธะ”ที่มีเนื้อหาสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องมากมายหลายชุด ไม่ว่าจะเป็นชุดที่เกี่ยวกับ “นิยามหรือความหมายของคำ” เกี่ยวกับ “พุทธลักษณะ” เกี่ยวกับ “พุทธคุณ” เกี่ยวกับ “พุทธปฏิปทา” และอื่น ๆ อีกมากมาย
ดังนั้น การมองเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็น “ฮีโร่” เหมือน “อุลตร้าแมน” เพียงเพราะเข้าใจว่าพระองค์ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกมนุษย์สงบสุขได้ แล้วสร้างสรรค์ผลงาน อาจจะยังไม่เพียงพอหรือไม่รอบด้าน !!!
ทั้งนี้เพราะ “พุทธะ” มี “ปฏิปทา” แห่ง “อหิงสา” มี “พระมหากรุณาธิคุณ” เป็น “พุทธคุณ” ไม่นิยมความรุนแรง อีกทั้งยังไม่เคยช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ด้วยการลงมือ “ทำให้” แต่เป็นเพียงผู้ “ชี้ทาง” ให้เท่านั้น ไม่เคยเลยที่จะบอกให้รอว่า “พุทธะ” จะบรรดาให้เกิดสันติสุข ซึ่งหากมนุษย์นำพาตนเองและสังคมให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายจะต้องลงมือ “ปฏิบัติ” ด้วยตนเอง ด้วยการ “ลงมือทำ” เพื่อสร้างเหตุปัจจัยแห่งความสงบสุข เท่านั้นเอง
ยิ่งหากว่าเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “พุทธะ” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปฏิปทาแห่งการ “ฝึกฝนพัฒนาตนเอง” การ “เกื้อกูลต่อธรรมชาติแวดล้อม” ความ “สันโดษ” การ “ขัดเกลากิเลส” ฯลฯ เราก็อาจจะไม่เห็นงาน “พุทธศิลปกรรม” ประเภท พระพุทธรูปเศรษฐีนวโกฐิ รูปปั้นชูชก รวมถึง ภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ในวันนี้
สถาบันผลิตศิลปิน
แต่เดิมมา “สถาบันผลิตศิลปิน” คือ “วัด” กับ “วัง” กิจกรรมการสร้างศิลปิน สร้างผลงานทางศิลปะ โดยเฉพาะ “พุทธศิลป์” ล้วนอยู่ภายในวัดกับวัง โอกาสที่ศิลปินจะได้ซึมซับเอาเนื้อหาสาระแห่ง “พุทธะ” ก็อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ในขณะที่ผลิตผลงานใน “รูปแบบ” ต่าง ๆ ก็เรียนรู้ “เนื้อหา” ไปพร้อม ๆ กัน ไม่จำเป็นต้องแยกรายวิชาการเรียนอย่างในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยความสนใจเฉพาะตัวของ “ปัจเจกศิลปิน” ที่จะเรียนรู้เนื้อหาสาระแห่ง “พุทธะ” เพื่อสร้างสรรค์งานให้สมบูรณ์ได้
อีกประการที่สำคัญก็คือ ภายใต้กระแสแห่ง “กระบวนการกลายเป็นโลกีย์” หรือ “secularization” ที่พลิกจากการมี “ศาสนา” เป็นแกนเคลื่อนมาเป็น “เศรษฐกิจ” เป็นแกนเคลื่อนแทนอย่างในปัจจุบันนี้นั้น ทุกอย่างจะถูกตัดสินภายใต้หลักเกณฑ์ทาง “เศรษฐกิจ” ในขณะที่ก่อนนั้นในความสำคัญที่ “ศีลธรรม” ไม่เว้นแม้แต่ตัวศาสนาเอง ที่เราจะเห็นปรากฏเป็นพระพุทธรูปประเภท พระเศรษฐีนวโกฐิ จตุคามรามเทพ รูปปั้นชูชก รวมถึงคำอวยพร ประเภท “รวย ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ !!!!!!!!!” จากพระสงฆ์ยุคนี้ ที่ล้วนแสดงว่ามีเป้าหมายทาง “เศรษฐกิจ” เป็นสำคัญนั่นเอง
ชาวพุทธควรทำอย่างไรต่อไป ???
สังเกตจากปฏิกิริยาของชาวพุทธในกรณี “ภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน” นอกจากจะถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมไม่เหมาะสมและการฟ้องร้องดำเนินคดีกันแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีใครคิดทำอะไรกันสักเท่าใดนัก
เมื่อราวปี 2547-8 ได้มีโอกาสสนองงานคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จัดทำแผนยุทธศาสตร์งานด้านสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ จากสภาพปัญหางานด้านสาธารณูปการของคณะสงฆ์ ที่ขาดองค์ความรู้ที่จะนำมาตัดสินใจในการสร้างสิ่งปลูกสร้างภายในวัด ทั้งในระดับวัด ตำบล อำเภอ และจังหวัด ที่บางครั้งก็รื้อสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทิ้ง สร้างสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่โดยไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะมาเป็นฐาน อยากสร้างอะไร สร้างตรงไหน สร้างอย่างไร ก็ว่ากันตามแบบที่มักล้อเลียนกันว่าเป็นไปตามแบบ “สถาปนึก” จนกระทั่งวัดวาอารามขาดความเป็นระเบียบ ไม่เป็นทีน่าทัศนา เจ้าคณะผู้ปกครองแต่ละระดับตี่มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติแบบก่อสร้างที่ทางวัดขออนุญาตขึ้นมา ไม่สามารถที่จะตัดสินโดยใช้ข้อมูลทางวิชการกรือองค์ความรู้ทางพุทธศิลปกรรมใด ๆ ได้เลย ที่สุดก็ทำได้แค่ให้ตัด “กาแล” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บนหลังคาบ้านผู้ครองเรือนออกไปเท่านั้น
พิจารณาดูสภาพปัญหาแล้ว ก็ดูจะแสนสาหัส ควรต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข มิใยจะกล่าวล่วงเลยไปถึงการนำเอาพุทธศิลปกรรม จำลองเอาวิหาร ซื้อเอาตู้ธัมม์ สัตตภัณฑ์ ไปตั้งแสดงในลอบบี้ของโรงแรม ซึ่งมีให้เห็นกันอยู่อย่างดาดดื่น จนกลายเป็นแฟชั่น
ในแผนฯ จึงกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนางานไว้หลายด้าน และมีประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้าน “การพัฒนาองค์ความรู้” เป็นหนึ่งประเด็นที่สำคัญอยู่ด้วย
องค์กรของคณะสงฆ์ซึ่งน่าจะมีบทบาทเหมาะสม ที่จะทำหน้าที่ในการ “พัฒนาองค์ความรู้” เพื่อเสริมงานคณะสงฆ์ คงจะหนีไม่พ้นที่จะเป็น “มหาวิทยาลัยสงฆ์”
ในฐานะผู้บริการ มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ ในสมัยนั้น จึงได้รวบรวมนักวิชาการทางด้านพุทธศิลปกรรม มาหารือเพื่อพัฒนาหลักสูตร “พุทธศิลปกรรม” ขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการยกร่างหลักสูตร กำหนดรายวิชาและเนื้อหาที่ต้องศึกษา เสนอสภาวิชาการและสภามหาวิทยาลัยอนุมัติเป็นหลักสูตรกลางของ มจร ที่ทั้งส่วนกลาง วิทยาเขตและวิทยาลัยสามารถนำไปเปิดสอนได้
สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและประยุกต์ศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยผู้เรียนต้องศึกษาทฤษฎีประวัติ เทคนิควิธีการสร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพ การออกแบบปั้น การพิมพ์ เป็นต้น โดยมีจุดหมายให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ และอนุรักษ์ศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่มีเอกลักษณ์ รวมทั้งบุกเบิกสร้างสรรค์วิทยาการใหม่ด้านศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา รายละเอียดหลักสูตร ศึกษาได้ที่:
มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ นำหลักสูตรพุทธศิลปกรรมมาเปิดสอนเป็นแห่งแรก เมื่อปี 2551 มีนิสิตได้รับรางวัลในระดับชาติก็หลายคน มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาไปประกอบอาชีพด้วยความภาคภูมิใจมาแล้ว 6 รุ่น
ถึงวันนี้ ที่เกิดกรณี “ภาพเขียนศิลปะพระพุทธรูปอุลตร้าแมน” จึงได้เฝ้าดู “วิวาทะ” ด้วย “อุเบกขา” ยิ่งเมื่อได้ระลึกถึงย้อนไปถึงสิ่งที่ได้ทำไว้แล้ว คือ “หลักสูตรสาขาวิชาพุทธศิลปกรรม” ก็ยิ่งรู้สึกเป็นสุขใจ
สุขใจที่ไม่ใช่เพียงแต่เห็นปัญหาแล้วก็ให้มันผ่านไป
สุขใจที่ได้ทำแล้ว
จึงได้ข้อสรุปส่วนตัวว่า เมื่อเห็นปัญหาต้องไม่นิ่งเฉย ไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยที่ไม่ใช้ความพยายาม แต่ต้องลงมีทำให้เต็มศักยภาพ
ตอนนี้ นอกจากจะเฝ้าดูด้วย “อุเบกขา” แล้ว ก็รอดูด้วยว่าจะมีกลุ่มชาวพุทธกลุ่มไหน ที่แสดงตัวว่ารัก หวงแหน และปกป้องพระพุทธศาสนา จะออกมาทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ มากกว่าการถกเถียงเอาแพ้เอาชนะ และการฟ้องร้องดำเนินคดีกันบ้าง
ขอบคุณภาพ:https://www.facebook.com/พุทธศิลปกรรม-มจร-วิทยาเขตเชียงใหม่-2235684096449249/
Leave a Reply