พลิกวิกฤติโควิด-19! พระธรรมทูตสายต่างประเทศใช้สื่อออนไลน์แผ่ธรรม

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ตามที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 26 ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

โดยมีพระราชปริยัติกวี, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ พร้อมผู้บริหารระดับสูง พระเถรานุเถระ พระธรรมทูตสายต่างประเทศ ข้าราชการ ทานบดี คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ สาธุชน เข้าร่วมพิธี ที่อาคารวิปัสสนาธุระ ตามที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น

พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวถึงแนวทางการป้องกันไวรัสโควิด-19 ในช่วงดำเนินการอบรมว่า คณะผู้รับผิดชอบโครงการให้ความร่วมมือกับทางเจ้าน้าที่บ้านเมืองอย่างเต็มที่ จัดแพทย์ พยาบาลคอยสังเกตอาการและคัดกรอง หากพบอาการผิดปกติจะแยกออกจากกลุ่มทันที และจะปฏิบัติตามคำแนะนำจากภาครับอย่างเคร่งครัด

 

พร้อมกันนี้พระโสภณวชิราภรณ์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าโลกจะประสบปัญหาไวรัสโควิด-19 แต่พระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศก็ยังคงทำหน้าที่เผยแพร่ธรรมต่อไป แต่ต้องปรับวิธีการโดยใช้สื่อออนไลน์เข้ามาเป็นเครื่องมือมากขึ้น ซึ่งหลักสูตรอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อประกอบในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็มีหลักสูตรธรรมนิเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา เพราะได้ตระหนักถึงความสำคัญของทีวีออนไลน์ แต่เนื่องจากในช่วงนั้นยังไม่พร้อมด้านอุปกรณ์สื่อสาร จึงเน้นสถานีโทรทัศน์เป็นหลัก แต่ยุคปัจจุบันนี้ไม่มีปัญหา

“ดังนั้น พระธรรมทูตต้องฝึกการใช้สื่อออนไลน์เผยแพร่ธรรม ประกอบกับเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมที่มหาวิทยาลัยก็ได้มอบนโยบายในด้านนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้หลักธรรมในพระพุึทธศาสนาเข้าถึงผู้รับสารได้ทุกช่องทางทั้งตามปกติ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทีวีออนไลน์ ยูทูป วีแชท ไวท์เบอร์ โดยใช้วิธีจัดกลุ่มพระธรรมทูตมาพัฒนาต่อยอดแต่ละประเภท” รองอธิการบดี มจร กล่าวและว่า

ทำให้ปัจจุบันนี้พระธรรมทูตสายต่างที่ผ่านการอบรมก็ใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการเผยแพร่ธรรม ควบคู่ไปกับการด้านภาษาทั้งภาษาหลักและภาษาท้องถิ่น

Leave a Reply