การเปลี่ยน “ลาวอีสาน” ให้เป็นไทยผ่านพระสงฆ์อีสานสาย “ธรรมยุต”
รวมถึงการส่งคณะสงฆ์ธรรมยุตไปประกาศศาสนาภายใต้อุดมการณ์ของรัฐชาติ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ลัทธิอาณานิคมได้รุกคืบมายังฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทำให้ภาคอีสานซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกลายเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่ออำนาจ ซึ่งอาจถูกมหาอำนาจผนวกเอาดินแดนส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของลาว เนื่องด้วยชาวอีสานล้วนมีประเพณีและวิถีชีวิตแบบชาวลาว
รัชกาลที่ 4 จึงต้องการปฏิรูปหัวเมืองลาวให้กลายเป็นไทยอย่างสมบูรณ์ ผ่านการชำระประวัติศาสตร์ในลักษณะชาตินิยมด้วยพระราชนิพนธ์ต่างๆ เช่น ปฐมวงศ์ พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น ทำให้แนวคิดในการรวมหัวเมืองต่างๆเข้าเป็นรัฐชาติสยามชัดเจนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการออกประกาศเปลี่ยนแปลงนามมณฑล พ.ศ. 2442 และเมื่อมีการสำรวจสำมะโนครัวก็ได้ห้ามการระบุว่าเป็นชาติลาว เขมร ส่วย ผู้ไท ฯลฯ แต่ให้ใช้สัญชาติไทยเหมือนกันหมด
นอกจากนี้ พระสงฆ์ธรรมยุต ก็นับว่ามีบทบาทสำคัญในการทำให้กระบวนการปฏิรูปหัวเมืองลาวประสบความสำเร็จ หลังได้รับการกล่อมเกลาด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมจากสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร เหล่าพระสงฆ์จะถูกส่งไปทำหน้าที่เป็นครูสอนอุดมการณ์ของรัฐชาติผ่านภาษาบาลีและภาษาไทย (ซึ่งแสดงความเป็นไทยกลาง) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐ
รัฐยังเข้าไปควบคุมความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมของชาวอีสานอย่างเข้มข้นทั้งการออกระเบียบว่าด้วยการบรรพชาและอุปสมบท รวมถึงการห้ามพิธีกรรมแบบลาว เช่นพิธีฮดสรงซึ่งเป็นพิธียกย่องตำแหน่งพระสงฆ์แบบโบราณล้านช้างของชาวบ้าน โดยให้เหตุผลว่าการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
พระสงฆ์รุ่นใหม่ที่ทำงานภายใต้อุดมการณ์ของรัฐที่รู้จักดีในอีสานคือ “พระสายวัดป่า” ที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญในการปฏิวัติความเชื่อเป็นหลัก แต่ก็ทำงานภายใต้บริบทอุดมการณ์ของรัฐไทย โดยทำหน้าที่เทศน์สั่งสอนให้ชาวอีสานไม่เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองของประเทศ หลังชาวอีสานเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อทวงความยุติธรรมโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่อีสานถูกรัฐละเลยมานาน เช่น กรณีกบฏผู้มีบุญ
รัฐบาลจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ของคณะสงฆ์ธรรมยุตให้หันมาเน้นการปฏิวัติความเชื่อเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องผีสางเทวดา ผู้มีบุญ และโลกพระศรีอาริย์ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านอำนาจรัฐจนนำไปสู่การลุกฮือของชาวอีสานมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ซึ่งพระวัดป่าสายธรรมยุตก็ยังปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กลไกของรัฐได้เป็นอย่างดี
/////////////////////////////////////////
ขอบคุณ www.silpa-mag.com/history/article_1837 /พระป่าดอดคอม
ข้อมูลจาก “พระสงฆ์กับอำนาจรัฐไทย: บทเรียนจากอดีต-พระธรรมยุตสายอีสาน” โดย ธีระพงษ์ มีไธสง ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กุมภาพันธ์ 2557
Leave a Reply