“พุทธศาสนา” กับการดูแลสุขภาวะระยะท้าย ภายใต้นโยบาย “สถานชีวาภิบาล”

วันที่ 10 ธันวาคม 2567 เมื่อเร็ว  ๆ  นี้ ในวงถกย่อยสมัชชาสุขภาพฯ มีการร่วมหารือบทบาท “พุทธศาสนา” กับการดูแลสุขภาวะระยะท้ายภายใต้นโยบาย “สถานชีวาภิบาล” เผยสอดคล้องตรงกันกับการเดินหน้า “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฯ” ภาคีร่วมมองภาพ “วัด” ยุคถัดไปมีส่วนจัดบริการสุขภาพ สามารถให้การดูแลประคับประคอง พร้อมเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีเสวนาการจัดบริการการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้ายของสถานชีวาภิบาลโดยองค์กรพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

พระเทพเวที  (พล อาภากโร ป.ธ.9) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า แนวคิดการดำเนินงานนโยบายสถานชีวาภิบาล นับว่ามีความสอดคล้องกันพอดีกับความก้าวหน้าของโครงสร้างต่างๆ ที่มีมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่การประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 4M คือ 1. Man มีการฝึกอบรมพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) 2. Management มีการวางระบบสร้างความรู้ให้พระสงฆ์สามารถดูแลรักษาสุขภาพตนเองได้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย รวมทั้งเป็นแบบอย่างของสังคมในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ 3. Material โครงสร้างการสาธารณสงเคราะห์และสาธารณูปการ ซึ่งคณะสงฆ์กำลังปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา การทำสถานที่วัดให้เป็น 5ส คือ สะสาง, สะดวก, สะอาด, สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย 4. Money เมื่อมีโครงการ นโยบายต่างๆ ที่จะมีงบประมาณเข้ามาร่วมสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อมีแนวคิดของสถานชีวาภิบาลเข้ามาแล้ว จึงเป็นเรื่องที่เข้ามาสอดคล้องกันได้พอดี

พระเทพเวที กล่าวต่ออีกว่า สิ่งหนึ่งที่จะต้องพึงตระหนักเสมอ เมื่อให้พระเข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้นแล้ว คืออย่างไรก็ตาม พระเองก็ไม่ใช่นักวิชาชีพ ที่จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญและสามารถปฏิบัติงานทดแทนบุคลากรทางวิชาชีพได้ จึงต้องรู้ว่าพระควรจะดูแลผู้ป่วยได้ระดับไหนอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งว่าพระไปแย่งงานสุขภาพ หรือเป็นเจ้าของสถานชีวาภิบาลเหล่านี้เสียเอง

“หากแบ่งงานเป็น 4 มิติสุขภาพ คือกาย จิต สังคม ปัญญา คนไข้ก็ต้องไปรักษาทางกายที่โรงพยาบาลก่อน หากไม่ไหวจึงกลับมาสู่การดูแลในสถานชีวาภิบาล โดยบทบาทความเชี่ยวชาญของพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระคิลานธรรม ก็อาจมีส่วนช่วยเติมการดูแลในด้านจิตใจและปัญญา” พระเทพเวที กล่าว

ทางด้าน พญ.เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง กรรมการและเลขานุการร่วม กรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาชีวาภิบาล กล่าวว่า การเข้ามาของนโยบายสถานชีวาภิบาลของรัฐบาล นับเป็นโอกาสที่เหมาะสมและสอดรับกับแนวทางการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งจะทำให้เกิดระบบการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงและผู้ป่วยระยะท้ายอย่างมีคุณภาพตลอดสายธาร นับตั้งแต่การดูแลในโรงพยาบาล ไปจนถึงการดูแลที่บ้านเมื่อเข้าสู่ช่วงชีวิตระยะท้าย อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ป่วยบางส่วนที่อาจไม่สามารถรับการดูแลที่บ้านได้ หรือกลุ่มของพระสงฆ์ที่ไม่ได้พำนักที่บ้านแล้ว สถานชีวาภิบาลในวัดก็จะเป็นสถานที่ดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต

พญ.เดือนเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อต่อไปวัดจะมีบทบาทในการเป็นสถานที่ดูแล ก็จะต้องมีองค์ประกอบของบุคคลผู้ดูแลที่สำคัญอย่างพระคิลานุปัฏฐาก เสมือนกับเป็น Caregiver ช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ในขณะเดียวกันก็ยังจะมีบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ยังลงพื้นที่ไปร่วมดูแลด้วยเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญที่เป็นเป้าหมายสูงสุดตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คือการให้ประชาชนทุกคนได้มีสิทธิในการเลือกที่จะได้รับการดูแลในระยะท้ายได้ ตามความประสงค์ของตนเองที่ได้แสดงเจตนาเอาไว้

 

ที่มา : สช.

Leave a Reply