จั่วหัวแบบนี้ เพราะมันคือคำบอกเล่าจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือและผ่านบทพิสูจน์จากการหาข้อมูลมานานพอสมควร ที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงคณะสงฆ์และในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง
เจ้าอาวาสหลายวัด มักไม่สนใจการบริหารจัดการวัดปล่อยให้เลขาวัดบริหารจัดการเองหมด สุดท้าย..พระสังฆาธิการในวัดและพระภิกษุ-สามเณร ก็ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำกิจวัตรของตัวเอง
เรื่องแบบนี้ผมได้รับการเล่า เกิดขึ้นหลายวัดทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค บางวัดเป็นวัดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเหลือพระจำพรรษาไม่ถึง 5 รูป จริงเท็จอย่างไรไม่ทราบ เพราะไม่เคยไปสำรวจวัดที่ถูกระบุชื่อ..สาเหตุจากคำบอกเล่าส่วนหนึ่งเพราะไม่มีใครอยู่กับเจ้าอาวาสได้
บางวัดมีผลประโยชน์ เป็นวัดแหล่งท่องเที่ยว มีผลประโยชน์ทั้งร้านกาแฟ เครื่องสังฆทาน ตู้บริจาค ที่จอดรถ เช่าที่ดิน และดีไม่ดี รวมทั้งก่อสร้าง ซ่อมแซม วัดด้วยซ้ำไป
มีวัดใหญ่แห่งหนึ่ง เลื่องลือว่า เจ้าอาวาสไม่ฟังใครเลย นอกจากเลขานุการวัด เวลาผู้ช่วยเจ้าอาวาสแนะนำอะไรหรือคณะกรรมการวัด บอกกล่าวอะไรก็ไม่ยอมรับฟัง เชื่อและฟังแต่เลขานุการวัด จนเป็นที่เอือมระอาคณะสงฆ์ภายในวัด
##จนเป็นที่มาของคำว่า “วัดใหญ่แห่งนี้ เลขาใหญ่กว่าเจ้าอาวาส” หากใครต้องการอะไรจากวัดแห่งนี้ ไม่ต้องเข้าหาเจ้าอาวาส ให้เข้าหาเลขานุการวัด ผู้มักใหญ่ใฝ่สูงคนนี้ “ผ่านทุกเรื่อง”
เรื่องแบบนี้ ผมคิดว่า เกิดขึ้นหลายวัด ยิ่งเจ้าอาวาสหากเจอเลขานุการประเภทเอาใจเก่ง “ได้ครับท่าน ดีครับผม เหมาะสมมากครับ” แล้วไปร่วมมือกับคฤหัสถ์ที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ยิ่งไปกันใหญ่
##แบบนี้เจ้าอาวาส ท่านต้องระวังตัว..วัดแม้จะมีฐานะเป็นนิติบุคคล จะทำอะไรก็ได้ตามกรอบ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505
แต่!! ในทางกฎหมายอาญา เจ้าอาวาสคือ เจ้าพนักงานปกครอง มีสิทธิถูกกล่าวหามาตรา 157 ได้ง่าย ๆ
มาตรา 157 คือ ดาบที่วงข้าราชการทั่วไป กลัวยิ่งกว่ากฎหมายใด ๆ ยิ่งตอนนี้วงการพระสงฆ์ถูกจับตา ติดตามพฤติกรรม อย่าคิดว่า..ทำอะไรก็ได้ หมดยุค ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์
เรื่องนี้ พระคุณเจ้าที่ถูกกล่าวหา “เงินทอน” รู้ซึ่งรสชาติมาตรานี้ดี
##เจ้าหน้าที่ปฎิบัติการใหญ่กว่า “ผู้บริหาร”
มีแหล่งข่าวแอบกระซิบมา ว่า ตอนนี้มี เรื่องวุ่น ๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่า เล่นการเมือง แบ่งขั้ว สลับตำแหน่ง ทำให้ระบบการบริหารจัดการภายใน “เกิดเกียร์ว่าง” ยิ่งห้วงเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด อย่าว่าแต่ เกียร์ว่าง ตามคำบอกเล่าคือ “เครื่องพัง” งานหยุดชะงัก
เพราะต่างคนต่างมีซุ้ม..ต่างคนต่างมีค่าย…ต่างคนต่างมีแบ็คดี
โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการคนหนึ่ง..เลื่องลือเรื่องพฤติกรรมเกียร์ว่าง
ผู้บริหารสั่งการอะไรลง หากไม่สั่งตรง มักไม่ได้รับตอบสนอง จากเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการคนนี้
บางเรื่องมีหนังสืออนุมัติจากผู้บริหารสูงสุดแล้ว..ยังถูกดอง
หากเรื่องสั่งผ่านระดับผู้บริหารที่มีตำแหน่งไม่สำคัญ งานมัก “ถูกกองอยู่บนโต๊ะ” งานไม่คืบหน้า โดยอ้างว่า “งานเยอะ” จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย
จนมีคำหลุดออกมาสู่ภายนอกโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการคนนี้กล่าวว่า “งานนี้หากผ่านผมจบไปนานแล้ว” เรื่องนี้จริงหรือไม่ ผมไม่ทราบ
แหล่งข่าวกล่าวว่า บางเรื่องขนาดผู้บริหารสูงสุดสั่งตรงก็ยังเกิดการล่าช้า เพราะถือว่าตนเอง คือสายตรง “บิ๊กบราเธอร์” ตัวจริง เสียงจริง ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ในขณะที่บิ๊กบราเธอร์ตัวจริง..ตอนนี้ทราบว่า “รู้พฤติกรรม” คนของตัวเองบ้างแล้ว กำลังหาทางออก..
กรณีนี้คล้ายกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แก้ปัญหาไม่รู้จบ จนต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ และต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาหลายคณะ เพื่อรื้องาน ไม่อย่างนั่น เดินต่อไม่ได้
ประวัติศาสตร์คือ บทเรียน บางเรื่องที่ไม่ดี..อย่าเดินรอยตาม
และบอกใบ้ส่งท้าย เรื่องนี้แหล่งข่าวมาจากภูมิภาค ส่วนปัญหาเกิดที่ส่วนกลางหรือภูมิภาค คนส่งข่าวไม่ได้บอก ??
##แจ้งเพื่อทราบ.
นับต่อจากนี้ไป “ริ้วผ้าเหลือง” จะมีคอลัมน์ผ่านเวปไซร์แห่งนี้ ทุกวันอาทิตย์ โดยยังคงเน้นข่าววิเคราะห์ แบบเจาะลึก เสนอแนะ บนพื้นฐานแห่งความรับผิดชอบจงรักภักดีต่อ พระพุทธศาสนา บุญคุณผ้าเหลือง และสถาบันพระมหากษัตริย์
***********************
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
ผู้เขียน : เปรียญสิบ
Leave a Reply