อย่าเข้าใจผิด!! พระขับรถได้ มติมส..ยังไม่ชี้ชัด มีเพียงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายเหมือนฆราวาส

             ใน 2 -3 วันนี้มีการเผยแพร่ข้อความข่าวว่า “มติมหาเถรสมาคมอนุญาตให้พระขับรถได้ทุกชนิด
แต่ต้องใช้กฏหมายเดียวกับฆราวาสญาติอย่างเคร่งครัด “ ซึ่งเป็นข่าวจากสถานีโทรทัศน์ข่าวช่อง 3 แต่เมื่อเข้าไปฟังรายละเอียดผู้ประกาศข่าวมิได้สื่อถึงเช่นนั่น  แต่ผู้ประกาศข่าวได้อ้างมติของมหาเถรสมาคมขึ้นมาอ้าง พร้อมกับสรุปใจความสำคัญว่า

      ” ไฟเขียว ตร.จับพระขับรถ ไม่เคารพกฎจราจร หากชนคนตาย ถือเป็นอาบัติปาราชิก บวชใหม่ไม่ได้..”

               เรื่องนี้เป็นมติมหาเถรสมาคมที่ ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่20 มีนาคม 2563 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชน กรณีพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาและความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน นั้น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ทำการรวบรวมข่าวจากสื่อสารมวลชน ที่เผยแพร่ ต่อสาธารณชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 21เหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตทั้งพระสงฆ์ และฆราวาส รวม13 ราย และบาดเจ็บ 13 ราย
ในการนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดทราบ เพื่อมีมาตรการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว รายละเอียดตามเอกสารที่แนบถวายในที่ประชุม
ที่ประชุมรับทราบ และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ ดังนี้
1. แจ้งเจ้าคณะจังหวัดทั้ง2 ฝ่าย ทราบ เพื่อแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดตามลำดับ สอดส่อง ดูแล กำชับให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณี
2. แจ้งมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 8/2563ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการตรวจตรา การขับขี่รถยนต์ และจักรยานยนต์ของพระภิกษุสามเณรเยี่ยงประชาชนทั่วไป

             นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติเห็นชอบให้แจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องของการตรวจตราการขับขี่รถยนต์ และจักรยานยนต์ของพระภิกษุ-สามเณร ให้เหมือนกับประชาชนทั่วไป โดยให้บังคับใช้กฎหมายให้เหมือนประชาชนทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมา ตำรวจเมื่อพบพระภิกษุ-สามเณร ขับขี่รถยนต์ และจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่จะไม่ดำเนินคดี อย่างมากเลยก็จะจับไปส่งให้เจ้าคณะปกครองทำการตักเตือนเท่านั้น

     “เมื่อมีมติออกมาแล้ว หากตำรวจพบเจอพระภิกษุ -สามเณรขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปในทันที ”

           นายณรงค์ กล่าวว่า ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นจริงๆไม่ควรขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เพราะอาจส่งผลให้มีความผิดทางวินัย เข้าขั้นอาบัติปาราชิกได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พศ. มีหนังสือ ที่ พศ.0006/03305 เมื่อ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา กรณีพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาและความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน พศ.จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการตรวจตราการขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของพระภิกษุสามเณร เยี่ยงประชาชนทั่วไป

             ด้านสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามมติของมหาเถรสมาคมและวัตถุประสงค์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงเห็นควรให้ดำเนินการ กรณีที่ตรวจพบพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นครั้งแรก ให้ตรวจสอบใบสุทธิ วัดที่สังกัด ใบอนุญาตขับรถแล้วถ่ายภาพและรายงาน ให้เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะจังหวัดทราบ และ ในกรณีพบการกระทำผิดซ้ำอีก ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฏหมายได้ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

             เพราะฉะนั้น มติของมหาเถรสมาคม มิได้บอกว่า “ให้พระขับรถได้หรือไม่ได้..” มีเพียงให้เจ้าคณะปกครองสอดส่อง ดูแล กำชับให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณี และให้ตำรวจตรวจตราการขับขี่รถยนต์ของพระภิกษุและสามเณรเหมือนกับประชาชาทั่วไป

 

********************

 

ขอบคุณข้อมูล สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ

– สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

Leave a Reply