“มจร”ปล่อยคาราวานรถ จัดตั้งโรงทาน 4 ภาคสู้ภัยโควิด

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 พระเทพวัชรบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระเทพปวรเมธี ประธานศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มจร นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิตในทุกภาคส่วน และผู้มีจิตศรัทธาประกอบด้วย ดร.อโนมา วิตรวิกรม ดร.ทวีศักดิ์ เผ่าบัณฑูร ดร.ศุภาชัย ผ่องสวัสดิ์ คุณไชยา มิตรชัย ดร.พรรษา พฤฒยางกูร ดร.สุรพล สุยะพรหม เป็นต้น ได้ร่วมกันรับมอบสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค พร้อมด้วยปัจจัยเพื่อนำไปจัดตั้งโรงทานสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ในการข่วยเหลือ โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ พระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิเ-19

มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งโรงทานในสังกัดวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย

1.ภาคอีสาน โรงทานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น โรงทานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ

2.ภาคเหนือ โรงทานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์น่าน เฉลิมพระเกียรติฯ โรงทานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์

3.ภาคใต้ โรงทานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช

4. ภาคกลาง โรงทานมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้ในทุกโรงทานจะได้รับสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภคประมาณแห่งละ1.5 ตัน พร้อมกับรับมอบปัจจัยสนับสนุนด้วย และวันนี้ส่วนใหญ่ จะเน้นมอบปัจจัยสนับสนุนเป็นหลักเพื่อโรงทานจะได้นำไปซื้อสิ่งของเข้าโรงครัว ตามสะดวก การนำปัจจัยไปซื้ออาหารเองในแต่ละพื้นที่จะสะดวกกว่าที่จะขนส่งสิ่งของจำนวนมากไปจากส่วนกลาง

การจัดตั้งโรงทานของมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ก็มุ่งหวังจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะโรงพยาบาลสนามที่บุคลากรได้เสียสละทำงานกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย โดยโรงทานจะเปิดให้การบริการไปเรื่อยๆจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลง โรงทานจะเป็นโรงทานเคลื่อนที่ คือเมื่อทำอาหารเสร็จแล้วจะได้นำไปเสิร์ฟให้ถึงที่

Leave a Reply