วันมหิดล : 24 ก.ย. 2564 ครบ 92 ปีวันคล้ายวันสวรรคต “พระบิดาแห่งการแพทย์” และความสำคัญของวันนี้

 

          “หม่อมฉันรู้สึกอยู่เสมอว่า การสาธารณสุขนั้นเปนการสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเปนเครื่องบำรุงกำลังของชาติไทย และเปนสาธารณประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย เพราะฉนั้นเมื่อมีโอกาสอันใดซึ่งหม่อมฉันพอที่จะช่วยออกกำลังกายและสติปัญญา หรือทรัพย์อันเปนผลที่จะทำนุบำรุงให้การนั้นเจริญขึ้นแล้ว หม่อมฉันยินดีปฏิบัติได้เสมอ”

           ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมสาธารณสุข เมื่อ 19 มิ.ย. 2468 ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการสาธารณสุข จากประเทศอังกฤษ

          คุณูปการที่พระองค์ทรงสร้างไว้นับตั้งแต่เป็นเจ้าฟ้าฯ จนประชวรจนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 24 ก.ย. พ.ศ. 2472 ทำให้ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และบรรดาศิษย์เก่า ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชาอนุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิด พระราชอนุสาวรีย์ เมื่อ 27 เม.ย. 2493

        สำหรับพระราชานุสาวรีย์นั้น ตั้งอยู่บริเวณลานหน้าศาลาศิริราชร้อยปี โรงพยาบาลศิริราช มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ นายสนั่น ศิลากรณ์ เป็นประติมากร มีลักษณะเป็นพระรูปหล่อโลหะสัมฤทธิ์ ความสูง 2 เมตร โดยประมาณ ประทับพระเก้าอี้ ฉลองพระองค์ครุย พระหัตถ์วางบนตำราแพทย์ซึ่งตั้งบนพระเพลา

         นับแต่นั้นเป็นต้นมาทุกวันที่ 24 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ของทุกปี จึงเป็นวัน “วันมหิดล” ในปีนี้จึงนับเป็นวันครบรอบปีที่ 70 อีกทั้งครบ 92 ปีการสิ้นพระชนม์

เจ้าฟ้าต้นราชสกุลมหิดล

         ตามจดหมายเหตุพระราชประวัติ ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือที่บุคคลากรทางการแพทย์เรียกขานกันติดปากว่า “พระบิดา” นั้น พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

         พระองค์ประสูติ เมื่อ 2 ม.ค. 2434 ณ พระตำหนักสมเด็จพระบรมราชเทวีในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมแดง”

พ.ศ. 2446 ภายหลังโสกันต์ ในหลวง รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดชฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณทราชาวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณวิจิตรพิสิฏฐ์บุรุษ ชนุดมรัตรพัฒนศักดิ์ อัครราชวรกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์”

        ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาร. 5 โปรดเกล้าพระราชทานพระสุพรรณบัฏสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุเดชขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์

        เดือนพ.ค. พ.ศ. 2447 ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนแฮร์โรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ ร.5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระองค์ศึกษาวิชาการทหารบก ที่ประเทศเยอรมนี ก่อนที่จะพระราชทานยศนายร้อยตรีทหารบกให้ในเวลาต่อมา ทรงปฏิบัตพระราชกรณียกิจทางการทหาร และกลับมาทรงรับตำแหน่งในกองอาจารย์ทหารเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

พบรักระหว่างศึกษาวิชาแพทย์

      “ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งจนคนมั่งมี และเจ้านายต่าง ๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี”

พระราชดำรัสสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ครั้งตัดสินพระทัยไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะนักศึกษาพิเศษ และทรงลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ของคณะ ถูกบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ

      ในขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2459 คณะกรรมการโรงเรียนสาธารณสุข Harvard-MIT School of Health Officers ก็ลงมติให้พระองค์มีสิทธิเข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรสาธารณสุข

      นี่เองเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ได้พบกับ นางสาวสังวาล ตะละภัฏ หรือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักเรียนทุนพยาบาลเดินทางไปศึกษาต่อ

     ในปี พ.ศ. 2463 เสด็จกลับประเทศไทย และรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ในพิธีอภิเษกสมรส ซึ่งทั้งสองพระองค์ ได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร  และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

      ตลอดระยะเวลาของการพำนักในต่างประเทศ พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางการแพทย์มากมาย เช่น การเจรจากับ ดร. จอร์จ เอดการ์ วินเซนต์ (Dr. George Edgar Vincent) ประธานมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ครั้งแรก เพื่อจัดทำข้อตกลงปรับปรุงการศึกษาแพทย์ เป็นต้น

      ขณะเดียวกันช่วงเวลาหนึ่งระหว่างการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทย พระองค์ยังได้รับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาชีววิทยาให้กับนิสิตเตรียมแพทย์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคณะกรรมการโรงพยาบาลศิริราช ทั้งทรงเปิดโรงพยาบาลที่ จ.สงขลา พระราชทานนามว่า สงขลาพยาบาล

หมอเจ้าฟ้า

        เมื่อเดินทางกลับไปศึกษาต่อจนสำเร็จ ได้ปริญญาแพทย์ศาสตร์ เกียรตินิยม ในเวลาต่อมาครอบครัวมหิดล ก็เสด็จกลับมาพำนักถาวรยังประเทศไทย และในช่วงเวลาหนึ่งก็เป็นแพทย์ประจำการในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่

           พระองค์ทรงพระราชกรณียกิจทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทย เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ จนได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์ และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”

           ก่อนที่เวลาต่อมาพระองค์จะประชวรด้วยโรคตับอักเสบ ทรงเป็นฝีบิดในตับ อาการโรคพระวักกะ (ไต) พิการกำเริบ ประชวรอยู่นานกว่า 4 เดือน และในวันที่ 24 ก.ย. มีพระอาการน้ำท่วมพระปัปผาสะ (ปอด) แล้วสิ้นพระชนม์

          ซึ่งขณะนั้นพระปกเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล มหิดล ณ อยุธยา สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์แก่ผู้สืบสายราชตระกูล

            เมื่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระโอรสขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก นับแต่นั้นวัน 24 ก.ย. จึงกลายเป็น “วันมหิดล” ซึ่งเป็นวันที่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ร่วมใจระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราโชวาทว่า

         “การที่จะได้ความไว้วางใจของคนไข้ ขอท่านถือสุภาษิตว่า ‘ใจเขาใจเรา’ ท่านคงจะคิดได้ว่า ท่านอยากได้ความสบายแก่ตัวท่านอย่างไร ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น”

        และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 มีมติให้วันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2564 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ เนื่องในวันมหิดล

******************

แหล่งข้อมูล : BBC /

ภาพ : นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม

Leave a Reply