“มหานิยม” สวน “อนุชา” ชี้ มติ มส.ไม่ถูกต้อง-ผิดขั้นตอน จวก! ฟังแต่สำนักพุทธฯไม่ดูกฎหมาย??

วันที่ 5 ต.ค. 64    ดร. นิยม  เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  ตามที่รัฐมนตรีอนุชา  กล่าวถึงการปลดเจ้าคณะจังหวัด 3 รูปว่า มส.ดำเนินการออกมติถูกต้องแล้ว ตนขอชี้แจงแทนชาวพุทธว่า มส.ปลดเจ้าคณะจังหวัดโดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายแต่อย่างใด ตามกฎหมายต้องตั้งกรรมการสอบก่อน แต่ไม่ได้มีการตั้งกรรมการสอบแต่อย่างใดทั้งสิ้น  แล้วออกมติปลดมาเลย ชาวพุทธเขาจึงสงสัยกันว่า มีการสอดไส้หรือไม่ รัฐมนตรีไปฟังแต่สำนักพุทธเขียนให้อ่าน แต่ไม่ดูข้อกฎหมาย

“มส ตั้งขึ้นตามกฎหมายสงฆ์ มาตรา 12 และให้มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 15 ตรี  เมื่อให้อำนาจมาแล้ว จะใช้อำนาจนั้นให้ถูกต้องทั้งตามกฎหมายและพระธรรมวินัย ที่กำหนดไว้ในมาตรา 15 ตรี”

ดร.นิยม กล่าวว่า ขั้นตอนการถอดถอนพระสังฆาธิการ กฎหมายสงฆ์ระบุเอาไว้ชัดเจน ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่24 (2541) หมวด 4 ส่วนที่ 1 การละเมิดจริยา ข้อ 55 การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยา อย่างร้ายแรงข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1. ทุจริตต่อหน้าที่ 2. ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรเกิดกว่า 30 วัน 3. ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์และการขัดคำสั่งเป็นให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คณะสงฆ์4.ประมาทเลินเล่อ อันเป็นเหตุความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คณะสงฆ์ และ 5. ประชั่วอย่างร้ายแรง  ซึ่งในกรณีเช่นนี้ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อสอบสวนได้ความจริงตามรายงานแล้วให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้

ดังนั้น เจ้าคณะผู้ปกครองจะปลด ต้องตั้งกรรมการสอบให้แจ้งชัดเสียก่อนว่า ท่านผิดร้ายแรงอย่างไร

เมื่อ มส มีอำนาจในการออกมติ แต่มติดังกล่าวนั้นไม่ได้ตั้งกรรมการสอบมาก่อน ก็เป็นการออกมติที่ข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ มตินั้นจึงไม่มีผลบังคับใช้ และผู้ออกมติก็อาจมีความผิดได้

“ที่รัฐมนตรีอนุชายืนยันว่า มติ มส. ปลด 3 เจ้าคณะจังหวัดถูกต้องแล้วนั้น ต้องตอบชาวพุทธให้ได้ว่า มหาเถรสมาคมดำเนินการถูกต้องอย่างไร มีการสอบหรือไม่ ถ้ามี ใครเป็นคณะกรรมการสอบบ้าง คำสั่งในการสอบว่าอย่างไร ผลการสอบเป็นอย่างไร  มีการรายงานตามลำดับชั้นการปกครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่??”

ตนขอยกตัวอย่าง หากดูตามลำดับการปกครองคณะสงฆ์หนกลาง การปลดเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีนั้น  เจ้าคณะหนกลาง วัดไตรมิตร จะต้องสั่งการให้เจ้าคณะภาคหนึ่ง วัดหงส์  ตั้งกรรมการสอบ ซึ่งคณะกรรมการสอบอาจมีรองเจ้าคณะภาค หรือ เจ้าคณะจังหวัดในภาคหนึ่ง เป็นคณะกรรมการ

หากได้ดำเนินการตามขั้นตอนนี้ครบถ้วน ก็เอาออกมาชี้แจง เชื่อว่า ชาวพุทธเรามีเหตุผล จะเข้าใจได้

       “ส่วนกรณีของนครศรีธรรมราช ยิ่งชัดแจ้งมาก  ไม่มีการถอด แต่ มส. มีมติตั้งเจ้าคณะจังหวัดรูปใหม่ทับลงไปเลยแสดงว่า ไม่มีการตรวจสอบมาก่อน หากมติ มส. ถูกต้องตามที่รัฐมนตรียืนยัน ตอนนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีเจ้าคณะจังหวัดสองรูป อย่างนี้จะเรียกว่า มส ดำเนินการออกมติถูกต้องได้อย่างไร” ดร.นิยมกล่าว

Leave a Reply