โอกาสทอง “นักแต่งเพลง” บอร์ดกวช.ไฟเขียวแต่งตั้งอนุกรรมการจัดทำบทเพลงส่งเสริมสังคมไทย รณรงค์ให้เกิดความรัก  สามัคคี และรักชาติ

วันที่ 20 ธ.ค. 64 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(กวช.)ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำบทเพลงส่งเสริมสังคมไทยในคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) คัดเลือกเพลงที่มีความหมายรณรงค์ให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความรักชาติ นำมาปรับปรุงเพื่อให้เข้าถึงเยาวชนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น  ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของวธ.ในการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ให้มีการรักษา สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน และพันธกิจในการสร้างจิตสำนึก สร้างค่านิยม และวิถีชีวิตที่ดีงามในสังคมไทย

รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับคณะอนุกรรมการจัดทำบทเพลงส่งเสริมสังคมไทยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่ปรึกษาอนุกรรมการ นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานอนุกรรมการ ส่วนอนุกรรมการประกอบด้วยผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์  กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม  ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินรางวัลศิลปาธรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรีไทย  ดนตรีร่วมสมัย และดนตรีสากล อาทิ  นายประยงค์  ชื่นเย็น นายวิรัช  อยู่ถาวร นายธนิสร์  ศรีกลิ่นดี เรือตรีไพศาล  ลุนเผ่น นายนคร  ถนอมทรัพย์ นางอติพร  เสนะวงศ์ นางศรีสุภางค์  อินทร์ไทร ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์  ธรรมบุตร และนายสถาพร นิยมทอง  เป็นต้น

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า คณะอนุกรรมการฯมีอำนาจหน้าที่ เช่น พิจารณาและคัดเลือกบทเพลงเพื่อจัดทำและผลิตสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบวีดิทัศน์บทเพลงส่งเสริมสังคมไทย กำหนดรูปแบบการผลิตสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบวีดิทัศน์บทเพลงส่งเสริมสังคมไทย ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชน เพื่อดำเนินการประชาสัมพันธ์วีดิทัศน์บทเพลงส่งเสริมสังคมไทย และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น  ซึ่งที่ประชุมได้ให้แนวทางดำเนินงานแก่อนุกรรมการฯ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.คัดเลือกเพลงเก่าที่มีเนื้อหาส่งเสริมให้เกิดความรัก สามัคคี และรักชาติมาปรับปรุงดนตรี   ให้มีความทันสมัยและสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ 2.ให้ผู้ทรงคุณวุฒิแต่งเพลงขึ้นมาใหม่โดยมีเนื้อหาเพลงและดนตรีที่ทันสมัยเข้ากับยุคใหม่ และ3.จัดประกวดเพลงเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วม 

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีร่วมสมัยและดนตรีสากล เข้ามาร่วมจัดทำเพลง ทำให้เพลงมีหลากหลายแนวดนตรี  จัดทำเพลงทั้งภาษาไทยและภาษาต่างชาติ เช่น อังกฤษ จีน เป็นต้น รวมทั้งเมื่อจัดทำเพลงส่งเสริมเกิดความรัก สามัคคี และรักชาติได้จำนวนพอสมควรแล้วให้จัดกิจกรรม เช่น มหกรรมดนตรีหรือคอนเสิร์ต เพื่อเผยแพร่บทเพลงไปสู่วงกว้างทั้งในไทยและนานาชาติ 

Leave a Reply