“วัดสระเกศ” ประชุมเตรียมพร้อมรับเสด็จ “ในหลวง – ราชินี” เนื่องในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 240 ปี

วันที่ 7 เม.ย. 65  เมื่อวันอังคาร ที่ 5  เมษายน 2565 ที่ผ่านมา  เวลา 12.00 น.พระธรรมโพธิมงคล เจ้าอาวาสวัดสระเกศ  ราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะภาค 2 เป็นประธานในการประชุมเตรียมการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี  เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช  และทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน  “ใต้ร่มพระบารมี 240  ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ณ วัดสระเกศ  ราชวรมหาวิหาร   เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325 มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า “รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร”ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า”ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำ เล่า ๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า “วัดสระเกศ”

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราชเพราะมีคำจารึกอยู่

Leave a Reply