วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 จากกรณีที่ นายจีระพันธ์ เพชรขาว หรือ “หมอปลา” นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบ “หลวงปู่แสง ญาณวโร” ที่มีอายุ 98 ปีว่า มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ตอนหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์และกดดันจากสังคมชาวพุทธอย่างกว้างขวางจนต้องออกมาขอโทษนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนอันประกอบด้วยสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์โดยขอให้สื่อมวลชนระวังในการนำเสนอข่าวที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ต่อมาเวลาประมาณ 22.15 น.ของวันนี้(13พ.ค.) เพจจริยธรรมสื่อมวลชนได้โพสต์ข้อความเรื่องกรณีศึกษาการทำข่าวพระสุปฏิปนฺโน พร้อมภาพเหตุการณ์เป็นภาพข่าวดำประกอบ ซึ่งท้ายข้อความระบุชื่อ”บรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย” โดยมีเนื้อหาว่า
“กรณีผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าวหลวงปู่แสง ญาณวโร วัดป่าดงสว่างธรรม ตำบลโคกนาโก อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ระหว่าง ๑๑ – ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ ‘สุปฏิปนฺโน’ ซึ่งองค์กรสื่อต้นสังกัดได้ขอโทษสังคมและลงโทษผู้สื่อข่าวไปแล้วนั้น
เวลาต่อมา แหล่งข่าวซึ่งเป็นต้นเรื่องของกรณีนี้ จำเป็นต้องชี้แจงหลังถูกเปิดเผย โดยยอมรับว่าสตรีที่เข้าไปหาหลวงปู่แสง ญาณวโร คือผู้สื่อข่าวซึ่งตนชักชวนไปร่วมพิสูจน์เพื่อให้มีหลักฐานเอาผิด เนื่องจากที่ผ่านมา เป็นเพียงการร้องเรียนมาที่ตนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปกราบขอขมาหลวงปู่แสง ญาณวโร แล้ว แต่การกระทำดังกล่าว ขัดแย้งต่อจริยธรรมวิชาชีพที่ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้ สมควรนำมาพิจาณาถึงเหตุแห่งปัญหาเพื่อให้เพื่อนร่วมวิชาชีพได้ระมัดระวังในอนาคต ๒ เรื่อง ดังนี้
๑. การสนิทสนมกับแหล่งข่าว – กรณีนี้ สะท้อนจากท่าทีและถ้อยคำของแหล่งข่าวที่กล่าวถึงผู้สื่อข่าว ซึ่งผู้สื่อข่าวอาจคิดแต่เพียงว่าความสนิทสนมทำให้ได้ข่าว ขณะที่แหล่งข่าวเองก็เห็นว่าความสนิทสนมทำให้ตนเป็นข่าวสั่งสมชื่อเสียง ผลก็คือ ความสมดุลในการรายงานข่าว และความเป็นธรรมต่อแหล่งข่าวอีกฝ่ายหนึ่ง อาจหายไปหรือลดน้อยลงได้ ขณะที่ความสนิทสนมไม่ได้หมายความว่าผู้สื่อข่าวจะรู้จักแหล่งข่าวโดยถ่องแท้ทั้งบุคลิกและเบื้องหลัง ตรงกันข้าม อาจทำให้ผู้สื่อข่าวมองไม่เห็นจุดอ่อนหรือ ‘ยกข้อเสีย’ ของแหล่งข่าวไปได้อีกเช่นกัน การรักษาระยะห่างระหว่างผู้สื่อข่าวกับแหล่งข่าวในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ยังให้เกียรติซึ่งกันและกัน จะช่วยให้ผู้สื่อข่าวสามารถดำรงตนอยู่ในวิชาชีพอย่างมีศักดิ์ศรีได้
(๒) การตกเป็นเครื่องมือ – จากการยอมรับของแหล่งข่าว แม้อ้างว่าพระเรียกให้เข้าไปหา แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า ผู้สื่อข่าวตกเป็นเครื่องมือของแหล่งข่าว ไม่ว่าจะ ‘โดยยินดี’ หรือ ‘ตกกระไดพลอยโจน’ ก็ตาม กรณีนี้ หากผู้สื่อข่าวระลึกตนไว้เสมอว่า หน้าที่ที่แท้คืออะไร ก็สามารถตอบไปว่า มาทำอะไร และจะไม่คลานเข้าไปหาพระอย่างที่เกิดขึ้นในคลิปที่ถูกถ่ายไว้ อันจะช่วยให้พ้นจากเหตุเฉพาะหน้า ประการสำคัญ จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของใครและฝ่ายใด”
Leave a Reply