“เพชรวรรต” สายตรง” ประธานพระธรรมทูตยุโรป รับลูกปมพาสปอร์ต 10 ปีพระไทยในต่างแดน

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 เวลา 17.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้ารับเรื่องร้องเรียนจากพระวิมลศาสนวิเทศ วัดไทยนอร์เวย์ ประธานคณะกรรมการบริหารสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป โดยมอบให้พระมหาวิวัติ ฌาเนสโก ป.ธ.9 เลขาสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป มายื่นหนังสือ “ในประเด็นการออกหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต (Passport) ประเภทท่องเที่ยวขอให้มีระยะเวลา 10 ปีเหมือนประชาชนคนไทยทั่วไป”

ดร.ณพลเดช กล่าวว่า ในประเด็นพาสปอร์ตให้มีระยะเวลา 10 ปีตนเห็นว่าเป็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ที่จะเดินทางต่างประเทศ อย่างไรจะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป ทั้งนี้ตนให้ประสานให้ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาฯ ได้โทรศัพท์สายตรงกราบรับข้อมูลความเดือดร้อนจากพระวิมลศาสนวิเทศ ซึ่งมีหลายประเด็นปัญหาที่อาจต้องประสานกับรัฐบาลและภาคราชการเข้าให้การสนับสนุนการเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศให้มากขึ้น สมกับความเหน็ดเหนื่อยของพระธรรมทูต ที่จะต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อนำทั้งการศาสนา การศิลปวัฒนธรรมของไทยมาเผยแผ่ยังทั่วโลก

ด้านดร.เพชรวรรต กล่าวว่า ได้โทรศัพท์รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว มีประเด็นที่พระสงฆ์ได้รับความเดือดร้อนจากการเดินทาง ด้วยบางรูปเจ็บป่วยต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในต่างประเทศ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีหลายเหตุการณ์ที่พระไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศด้วยเงื่อนไขเพราะถูกจำกัดสิทธิ์อายุของพาสปอร์ตเพียง 5 ปี แต่เนื่องจากพาสปอร์ตเดิมหมดอายุจึงต้องมาขอพาสปอร์ตเล่มใหม่ โดยการเดินทางเพื่อขอออกพาสปอร์ตมิได้ไปด้วยเงื่อนไขไปเผยแผ่ขอบพระธรรมทูตแต่อย่างใด แต่ต้องไปซื้อแบบฟอร์มราคา 300 บาทและต้องดำเนินการเพื่อพระตามลำดับชั้นปกครองตั้งแต่ เจ้าคณะตำบลอำเภอ จังหวัด จนถึงเจ้าคณะภาคเซ็น

“อีกทั้งต้องเข้าศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.) พิจารณาซึ่งจะพิจารณาอีก 15 วัน ยิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาต้องใช้เวลาขอนานถึง 5-6 เดือน ทำให้พระภิกษุที่ได้รับความเจ็บป่วยดังกล่าวเสียชีวิต ทั้งนี้กฎระเบียบดังกล่าวใช้กับพระสงฆ์ทุกลำดับชั้นซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวแม้สมเด็จพระราชาคณะก็ต้องกระทำแบบนี้ตนจึงเห็นว่าไม่เป็นธรรม หากพิจารณาตามข้อกฎหมายถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๘ ที่กล่าวโดยมีหลักว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและการเลือกถิ่นที่อยู่ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้” ดร.เพชรวรรต กล่าวและว่า

ในความคิดเห็นของตนมองว่าน่าจะเพราะกระทรวงการต่างประเทศมีมาตรการจำกัดสิทธิ์นี้ หากมีการร้องศาลปกครองเจ้าหน้าที่รัฐอาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีโทษทางอาญา หากประเด็นการจำกัดสิทธิ์นี้มาจากฝ่ายสงฆ์ก็จะไม่เป็นเรื่องดี และถ้ากลายเป็นคดีอาญาฟ้องร้องกันก็จะยุ่งกันไปหมด อย่างไรก็ดีตนมองว่าควรแยกเป็น 2 กรณีคือ

1. พาสปอร์ต สำหรับพระธรรมทูตเพื่อการเผยแผ่ (เล่มสีน้ำเงิน) ให้สิทธิ์ 5 ปี
2. พาสปอร์ต ประเภทท่องเที่ยว (เล่มสีน้ำตาล) ให้สิทธิ์ 10 ปี

โดยพาสปอร์ต สำหรับพระธรรมทูต (เล่มสีน้ำเงิน) เป็นภาระในหน้าที่ที่เป็นพระภิกษุที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเผยแผ่ เพื่อให้สามารถกลับมารายงานต้นสังกัดตามภาระหน้าที่ก็สามารถกำหนดระยะเวลาได้ในกรอบของราชการ แต่สำหรับพาสปอร์ตประเภทท่องเที่ยว (เล่มสีน้ำตาล) ควรให้สิทธิ์ 10 ปี สำหรับพระภิกษุสงฆ์ตามแบบที่ประชาชนทั่วไปได้รับสิทธิ์รวมถึงนานาประเทศต่างให้สิทธิ์ 10 ปีเช่นนี้ ทั้งนี้ตนคิดว่าจะนำประเด็นดังกล่าวไปปรึกษาพระผู้ใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เพื่อหาทางออกและให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

Leave a Reply