อนุฯกมธ.ศาสนาฯ สภาฯ เยี่ยมวัดไทยในเช็ก “แนะโมเดล” ปั้นเป็น Hub สร้างเด็กไทยโกอินเตอร์

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่วัดธรรมกิตติวงศ์ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ดร.ณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาด้านพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการดำเนินการพิจารณางบประมาณเพื่อการจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าพบคณะสงฆ์ที่วัดธรรมกิตติวงศ์ โดยมีพระมหาพยุง สารปญฺโญ พระมหามงคล มงฺคลิโก และพระมหาชนสรณ์ กิตฺติวิปุโล (ป.ธ.9) ให้การต้อนรับ

ดร.ณพลเดช กล่าวว่าจากที่ได้มาศึกษาข้อมูลวัดในพื้นยุโรป วัดธรรมกิตติวงศ์เป็นวัดหนึ่งที่ตนสนใจที่จะศึกษา ต้องยอมรับว่าสังคมไทยกับวัด แยกออกจากกันไม่ได้จริงๆ เมื่อมีสังคมไทยในต่างประเทศ หากมีวัดเข้ามาเป็นขวัญกำลังใจเป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวไทยที่มาประกอบอาชีพยังต่างประเทศ นอกจากทำให้ชาวไทยรักกันมีที่พึ่งทางใจ สร้างงานสร้างอาชีพส่งเม็ดเงินกลับประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมและศิลปะอันดีงามของไทยให้เผยแผ่มายังต่างประเทศ ต้องขอขอบคุณพระผู้ใหญ่การคณะสงฆ์ที่ให้การสนับสนุนด้วยดีเสมอมา

ดร.ณพลเดช กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่ตนเองได้เห็นความเข้มแข็งของวัดไทยและสังคมไทยในต่างประเทศมีความน่าสนใจว่าวัดไทยควรเป็น Hub เพื่อพัฒนาการศึกษา หลายครั้งที่การศึกษาดูงานในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีความขัดสนในค่าใช้จ่าย หากมาศึกษาดูงานก็สามารถมาพักที่วัดต่างประเทศได้ และที่น่าสนใจต่อการพัฒนาศักยภาพคนหากรัฐบาลไทยจัดทุนและให้นักเรียนทุนที่มีทุนทรัพย์น้อยมาเป็นเด็กวัดในต่างประเทศ เราจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพกลับไปพัฒนาประเทศได้อีกเป็นจำนวนมาก และยังลดงบประมาณประเทศชาติลงไปอีก โมเดลนี้ตนเห็นรูปแบบวัดของไต้หวันที่เปิดสาขาไปทั่วโลก และส่งคนรุ่นต่อรุ่นมาช่วยงานศาสนาในต่างแดน กลับไปก็เป็นกำลังสำคัญให้การศาสนาและเป็นกำลังหลักให้กับประเทศชาติ เมื่อหลังจากที่เรียนจบ ทำให้การศาสนาในไต้หวันปัจจุบันมีทั้งนักวิชาการชั้นสูง นักการเมืองคุณภาพ ที่เติบโตมาจากเด็กวัดในต่างประเทศ หากลองคิดเล่นเล่นในทุกทวีปทั่วโลกหากมีวัดไทยสัก 5,000 วัด เราให้นักศึกษาไทยมาเป็นเด็กวัดในต่างประเทศเพื่อเรียนไปด้วยหากส่งมาต่อหนึ่งวัด 10 คนต่อวัด เราจะได้มันสมองกลับไปพัฒนาประเทศปีละ 50,000 คนเลยทีเดียว สิบปีเราจะมีมันสมองถึง 500,000 คน ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลมีทุนจำกัดเช่น ทุน ก.พ. มีจำนวนเพียง 500 ทุนต่อปี ซึ่งหากใช้ช่องทางวัดเป็น Hub จะเพิ่มบุคลากรคุณภาพให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ตนเห็นว่ารัฐบาลควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักพุทธฯ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงแรงงานกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาหารือกันจะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง

ดร.ณพลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามจากที่ตนเองพบเห็นปัญหาการเผยแผ่ของพระสงฆ์ ที่หลายพื้นที่มีศักยภาพในการตั้งวัดแต่ไม่มีกองทุนที่จะซื้อวัด การจัดตั้งกองทุนสร้างวัดในต่างประเทศหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็จะทำให้วัดเกิดขึ้นในต่างประเทศขึ้นอีกจำนวนมากเป็น Hub ที่สำคัญในอีกหลายมิติ อีกประการหนึ่งพระสงฆ์ยังติดขัดเรื่องหนังสือเดินทางประเภทท่องเที่ยวที่จำกัดให้พระสงฆ์เพียง5 ปีนั้น นับเป็นความเดือดร้อนของพระสงฆ์จริง ด้วยการเดินทางในสายพระธรรมทูตแม้เดินทางแบบพาสปอร์ตเล่มสีน้ำเงินที่จำกัดเข้ายุโรปได้เพียง 90 วัน และต้องเดินทางกลับซึ่งโดยปกติพาสปอร์ตเล่มสีน้ำเงินจะมีอายุ 5 ปีอยู่แล้ว แต่หากพาสปอร์ตเล่มสีน้ำตาลโดยปกติที่ประชาชนทั่วไปได้รับ 10 ปี แต่สำหรับพระหากจำกัดเวลา 5 ปี เวลาหมดอายุหากหมดพร้อมกันอีกก็จะเกิดความลำบากหากเกิดเจ็บป่วยเจ็บไข้ หรือเกิดเหตุจำเป็น ตนเห็นว่าการปรับให้พาสปอร์ตเล่มสีน้ำตาลแบบท่องเที่ยว ควรปรับเป็น 10 ปีเพื่อการคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะสงฆ์ในต่างประเทศ แต่คิดว่าอาจจะให้คณะสงฆ์รับรองกันในระดับทวีป หากพบเห็นว่าอาจขัดต่อพระธรรมวินัยจะได้เร่งถอดถอนเป็นรายบุคคลได้ ซึ่งตนจะนำเสนอในชั้นกรรมาธิการ โดยอาจเสนอให้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามาหารือเพื่อหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาคอขวดอันเป็นอุปสรรคในการเผยแผ่พุทธศาสนา

Leave a Reply