ปลัด มท. ปลื้ม ยกระดับสมาคมไหมไทยพื้นบ้าน สู่ศูนย์กลางเส้นไหมของประเทศ สอดรับ BCG mode

ปลัด มท. ปลื้ม กลุ่มผู้ประกอบการเเละเกษตรกรผ้าทอ ยกระดับสมาคมไหมไทยพื้นบ้าน สู่ศูนย์กลางเส้นไหมของประเทศ พร้อมร่วมสนองพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด ในการยกระดับผ้าไทย ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยมีบทบาทที่สำคัญคือการเสริมสร้างความเข้มเเข็งของเศรษฐกิจฐานรากซึ่งจะเป็นจุดกำเนิดความมั่นคงภายในและความเข้มเเข็งในระดับชุมชนหมู่บ้าน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายตามนโยบายเสริมสร้างความเข้มเเข็งของเศรษฐกิจฐานราก โดยหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การส่งเสริมและอนุรักษ์ รวมทั้งยกระดับมาตรฐานและการตลาดผู้ประกอบการผ้าไทย โดยคณะกรรมการศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเฉพาะกิจซึ่งมีผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหม คณะกรรมการศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ อาจารย์ณกรณ์ ตั้งหลัก ที่ปรึกษาศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ กลุ่มผู้ประกอบการผ้าไทย และพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือถึงเเนวทางการพัฒนาอาชีพ เเละส่งเสริมรายได้ ตลอดจนแนวทางการยกระดับผ้าไทยพื้นบ้าน เพื่อก้าวสู่ตลาดระดับโลก ซึ่งจะเป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญของตลาดกลางเส้นไหม ณ ที่ทำการสมาคมไหมไทยพื้นบ้าน จังหวัดสุรินทร์

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริม ตลอดจน เพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยโบราณให้กลับมาแพร่หลาย โดยในปัจจุบันสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้อยู่คู่แผ่นดินไทย พร้อมยกระดับด้วยการนำองค์ความรู้สมัยใหม่มาพัฒนาร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิมทำให้ผ้าไทยมีฐานกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขวางขึ้นไปจนถึงสายตาประชาคมโลก นับเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่ปัจจุบันผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน อีกทั้งยังทรงผลักดันส่งเสริมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพด้านการออกแบบและแฟชั่น เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยและก้าวไกลไปสู่ระดับสากล ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกมิติอย่างเเท้จริง

อาจารย์ณกรณ์ ตั้งหลัก ที่ปรึกษาศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อประมาณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 กลุ่มผู้ประกอบการผ้าทอพื้นเมือง ศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากความตั้งพระทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จะสืบสาน รักษา เเละต่อยอด ผ้าทอทุกชนิด ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าใยไผ่ ผ้าใยสับปะรด รวมไปถึงกรรมวิธีในการมัดย้อม การทอ และเทคนิคการทำลายผ้าต่าง ๆ นำมาสู่การเเสดงอัตลักษณ์อันโดดเด่นคือ เครื่องนุ่มห่มที่สามารถส่วมใส่ได้ในทุกวัน ซึ่งพระอัจฉริยภาพของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย โดยมีพระประสงค์ในการอนุรักษ์ผ้าไหมแท้ของไทย และการใช้สีจากธรรมชาติ นอกจากจะเป็นการรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิม จากบรรพบุรุษหลายรุ่นต่อหลายรุ่น สืบทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนในด้านการส่งเสริมการตลาด เช่น ได้รับการเชิญให้ไปร่วมจำหน่ายสินค้าในงาน OTOP หรือในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจเวทีต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มวัตถุดิบผู้ประกอบการและเกษตรกรได้มีโอกาสพบปะเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกลุ่มเครือข่าย รวมถึงการสนับสนุนที่จะนำมาผลิตเป็นผ้าไทย ทำให้มีเกิดการพัฒนาเทคนิค พัฒนาลวดลาย ทำให้เกิดผ้าที่มีสีสันและลวดลายที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการพัฒนาฝีมือการทอ ที่ได้รับการฝึกฝนความประณีต ละเอียด เนื้อแน่น ทำให้สามารถผลิตสินค้ามีคุณภาพออกมาจัดจำหน่ายได้อย่างมีมาตรฐานเเละเป็นที่ต้องการของกลุ่มตลาดปัจจุบัน ทั้งนี้ ส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การมุ่งเน้นไปที่การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อรักษาสิ่งเเวดล้อม อันเป็นเเนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG model ที่ได้ประโยชน์ทั้งคน เเละโลกควบคู่ไปด้วยกัน

อาจารย์ณกรณ์ ตั้งหลัก ที่ปรึกษาศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ กล่าวต่อว่า การทอผ้าไหมถือเป็นหนึ่งในการแสดงถึงอารยธรรมเก่าแก่ มีวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา เป็นมรดกอันล้ำค่าในการประกอบอาชีพของสตรียามว่างจากงานหลักและเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน การรวมกลุ่มทอผ้าไหม เป็นกลุ่มที่มีกระบวนการผลิตผ้าไหมตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การสาวไหม ซึ่งในขั้นตอนนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมา คือ กระบวนการกลางน้ำ ได้แก่การมัดหมี่ การย้อมสีไหมมีกรรมวิธีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ การทอผ้าไหมด้วยมือ กระบวนการปลายน้ำ ได้แก่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าไหม การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่คงไว้ด้วยความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นผ่านลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายลูกแก้ว ลายมัดหมี่ ลายรูปช้าง ลายดอกมะเขือ ฯลฯ โดยในกระบวนการกลางน้ำเเละปลายน้ำนี้เอง ได้รับการสนับสนุนมาเป็นอย่างดีเเละต่อเนื่องจาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทำให้สามารถยกระดับการผลิตผ้าไหมนำไปสู่การจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี นับเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความโดดเด่น งดงาม เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศอย่างเเท้จริง

อาจารย์ณกรณ์ ตั้งหลัก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะตัวเเทน เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมรู้สึกโชคดีเเละภาคภูมิใจ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงมีพระเมตตาห่วงใยพสกนิกรชาวไทย สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระราชกรณีกิจด้านงานผ้า งานหัตถศิลป์ หัตถกรรมของคนไทยที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นยังคงอยู่ และได้รับการพัฒนายกระดับให้กลับมามีชีวิตชีวาอย่างโดดเด่นในเวทีระดับโลก นอกจากนี้ ขอขอบคุณ กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ช่วยคอยให้คำปรึกษาพร้อมวางแนวทางในการส่งเสริมการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จากจุดเริ่มต้น และรักษาภูมิปัญญาให้คงอยู่ สามารถสนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ร่วมกับกลุ่มทอผ้า ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ในการขับเคลื่อนกระบวนการ “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” สืบสาน “อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” พร้อมต่อยอดด้วยการสร้างเวทีให้เกิดการร่วมกลุ่มเเละพัฒนาองค์ความรู้ระหว่างเครือข่าย ทำให้มีพลังมวลชนเครือข่ายเกษตรกร และผู้ประกอบการที่แข็งแรง สามารถผนึกกำลังในการสร้างอาชีพแห่งภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ให้อยู่กับแผ่นดิน อีกทั้งยังบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยได้รับการยกระดับได้อย่างมั่นคง เเละยั่งยืน ซึ่งในระยะต่อไปคณะกรรมการศูนย์ไหมนครชัยบุรินทร์ จะได้หารือถึงการขยายสมาคมไหมไทยพื้นบ้านด้วยการควบรวมกับตลาดกลางเส้นไหม เพื่อเป็นศูนย์กลางเส้นไหมของประเทศ สร้างมาตรฐานสินค้าจากผ้าทอ เเละพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ เเละขยายผลเพื่อเเข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าผ้าทอพื้นบ้านมีศักยภาพที่สามารถเเข่งขันกับผ้าอุตสาหกรรมได้อย่างเเน่นอน นอกจากนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเเละเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์เเละพัฒนายกระดับผ้าไทยให้ยังคงสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นต่อไป

Leave a Reply