“ณพลเดช” ปลุกสงฆ์-เชียงใหม่” วงการพุทธบริษัท ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน “โอด” งบประมาณร.ร.พระปริยัติธรรมปีหน้ายังไม่ถึงมือสำนักงบฯ
เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ.2566 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายณพลเดช มณีลังกา เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานเกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและจัดสัมมนาเรื่อง “ทิศทางการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรมพ.ศ.2562” โดยการนำของนายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
ในการนี้ตนแสดงความเห็นว่า ปัญหาและอุปสรรคในทิศทางของโรงเรียนประปริยัติธรรมยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการผลักดันงบประมาณ ซึ่งต้องยอมรับว่าหลังจากที่ พรบ.ฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ ก็ยังคงเหมือนเป็นเพียงตัวอักษรที่เขียนเป็นกฎหมายและยังเหมือนไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากต้องตรากฎหมายลูก การต้องกำหนดบุคลากรในมิติต่างๆ ซึ่งมีทั้งพระภิกษุสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกา เวลาผ่านพ้นมาถึงขณะนี้แล้วถึง 4 ปี แต่ก็ยังไม่ได้จัดสรรงบประมาณแต่อย่างใด
นายณพลเดช กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เป็นกระบวนการที่สำนักงบประมาณร้องขอเอกสารจำนวน 11 ข้อ ซึ่งการร้องขอหนังสือดังกล่าวขณะนี้ก็ผ่านมาร่วม 3 เดือน แต่เอกสารดังกล่าวก็ยังไม่มือสำนักงบประมาณ ซึ่งต้องยอมรับว่าล้วนเป็นปัญหาในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในรูปแบบเอกสารที่จะต้องมีการรับรองโดยผู้มีอำนาจ ทั้งนี้จากที่ตนได้หารือกับสำนักงบประมาณ ภาครัฐพร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนพระปริยัติอยู่แล้ว แต่ล่าช้าในกระบวนการของเอกสาร
ทั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเอกสารที่จะของบประมาณในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งตนยังกังวลอยู่ว่าจากที่ผ่านมามีการแทรกแซงจากคณะกรรมาธิการการศาสนาเพื่อเร่งให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งหลังจากนี้ใกล้จะหมดอายุสภา ตนก็ยังมีความกังวลอยู่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ดีตนอยากให้พุทธบริษัทหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น มีเวทีการประชุมหารือกันมากขึ้น ดังพระพุทธเจ้าดำริในอปริหานิยธรรม 7 ประการ คือมีการประชุมกันเนืองนิจ และดำเนินการตามอิทธิบาท 4 เป็นทางสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน ที่สำคัญในวงการสงฆ์ การปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ เทศนา ในวงการสงฆ์ต้องเข้มข้นมากขึ้น สำหรับฝ่ายการเมืองขณะนี้มีน้อยคนเหลือเกินที่เข้าใจในพระพุทธศาสนาทำหน้าที่ในวงการพุทธศาสนาแทนประชาชนชาวพุทธ ควรมีผู้มาทำงานเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนมากขึ้น ประชาชนผู้มั่นคงในพระพุทธศาสนาควรเลือกคนที่จะมาเป็นตัวแทนที่ถูกต้องในวงการศาสนา จะเป็นสิ่งหนึ่งในการทำให้วงการพุทธศาสนาในเมืองไทยเข้มแข็งมั่นคงขึ้นก็จะมั่นคงมากกว่านี้
Leave a Reply