กมธ.ศาสนาแจงกรณี “วัดชลประทานรังสฤษฏ์” ฟันธง อนาคตประเทศไทยต้องมีกฎหมาย “คุ้มครองพุทธศาสนา-คณะสงฆ์”

วันนี้ 28 ม.ค. 2566 ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา  ไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ขอให้ตรวจสอบเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์  ในประเด็นกรณีที่เจ้าอาวาส ร่วมกับหน่วยงานของรัฐบางหน่วย จัดทำโครงการ 5 ส. เพื่อปรับปรุงสถานที่เขตกัมมัฏฐาน (บริเวณหลังวัด) โดยมีกุฏิที่พักอาศัยของสงฆ์จำนวน 71 หลัง มีการรื้อทุบทำลายกุฏิพระไปแล้วกว่า 11 หลัง และได้ให้พระออกจากกุฏิตั้งแต่กลางพรรษาที่แล้ว ทำให้พระจำนวนมากเดือดร้อน อาจขัดต่อกฎมหาเถรสมาคมนั้น

ดร.เพชรวรรต กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมาธิการการศาสนาฯ สภาฯ ได้รับการร้องเรียนได้นัดคู่กรณีมาทั้งคู่ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องคือเจ้าอาวาสวัดชลประทาน ฯ และพร้อมกับได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในข้อเท็จจริงทั้ง 5 ประเด็นที่ผู้ร้อง ๆ ให้ กมธ.ศาสนาตรวจสอบ ท่านเจ้าอาวาสก็ชี้แจงมาหมดทั้ง 5 ประเด็น  เท่าที่ กมธ.ศาสนาตรวจสอบทั้งพระวินัยและกฎหมายคณะสงฆ์แล้ว มันเป็นอำนาจของเจ้าอาวาส กฎิที่รื้อมันก็เป็นของใหม่ มิใช่ของเก่า เราไปทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากท่านเจ้าอาวาสอ้างว่าท่านต้องการปรับปรุงวัด ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัด จัดระเบียบวัด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทาง กมธ.ศาสนา ก็ได้ถวายคำแนะนำไปว่าทำอย่างไร “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” รักษาเกียรติของหลวงพ่อปัญญานันทะภิกษุเอาไว้

กรณีการร้องเรียนหรือร้องทุกข์กล่าวโทษ ในช่วงนี้มีการร้องเรียนและนำเสนอข่าวโจมตีสงฆ์ ในหลายมิติซึ่งเมื่อประชาชนไม่รู้ข้อเท็จจริง ก็ทำให้ลดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ส่งผลต่อสถาบันศาสนาอันเป็น 1 ใน 3 ของสถาบันหลักของชาติ ผู้ปฏิบัติดังกล่าวอาจเข้าข่ายต่อการทำผิดตามหลักรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตามกมธ.ศาสนาฯ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ จะเสนอกฎหมายและช่องทางพิจารณากรณีฟ้องร้องต่อสงฆ์ เพื่อป้องกันการร้องเรียนโดยไม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริง ร้องเรียนและเผยแพร่ข่าวอันอาจสร้างความเสื่อมเสียให้กับพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาหลักของชาติในภาพรวมต่อไป

ทั้งนี้มีคนถามว่าจะมีบรรทัดฐานในการเขียนกฎหมายอย่างไร ตนขอเรียนว่านอกจากพุทธศาสนาแล้ว ก็มีศาสนาอื่นมีกฎหมายเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งถือเป็นการปกป้องการทำลายศาสนาโดยผู้ไม่ประสงค์ดี

Leave a Reply