ปลัด มท. ติวเข้มผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย –  ผู้ว่า ฯ  ขอให้ขับเคลื่อนเชิงรุกงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  ในระดับพื้นที่ เน้นย้ำ ต้องส่งเสริมบทบาทนายอำเภอ และ “ทีมอำเภอ” ขับเคลื่อนงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องให้เข้าถึงประชาชน

วันที่  31 ม.ค. 66   ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส พระปัญญาวชิรโมลี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยมี คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม นายสมคิด จันทมฤก นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายปรีชา เดชพันธุ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยส่วนภูมิภาค ส่วนราชการส่วนกลางประจำภูมิภาค ผู้อำนวยการกลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบ

โดยในช่วงก่อนการประชุม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่ นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมทั้งเป็นกำลังใจในการมุ่งมั่นขับเคลื่อนการบริหารราชการจังหวัดในฐานะขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพัทลุงได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ดังปณิธานมหาดไทยที่ได้ปฏิบัติกันสืบต่อมาว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบแนวทางในการขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1) การเตรียมการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร้องขอ โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องประชุมซักซ้อมพร้อมกำชับ ข้าราชการทุกคนต้องการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น สามารถร่วมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ในช่วงนอกเวลาราชการ และต้องไม่ใช้เครื่องมือหรือวัสดุอุปกรณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปใช้ในการสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ 2) การขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนผ่านการดำเนินโครงการหมู่บ้านยั่งยืน ด้วยการเอาใจใส่ในการขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย และเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงด้านความสะอาด เพื่อประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพ ได้ปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสำคัญ และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน รวมทั้งกิจกรรมเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคี ความรัก ความอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเมื่อทุกครอบครัวมีความรัก ความอบอุ่น ก็จะส่งผลให้หมู่บ้านมีความรัก ความสามัคคี และส่งผลให้ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ และทั้งจังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีแต่คนรักกัน คนเคารพนบนอบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้รักสามัคคี เอื้ออาทรกัน เฉกเช่นที่จังหวัดสกลนคร ณ บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม ที่ได้รับการสนับสนุนการดูแลจากผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมงานช่วยทำให้หมู่บ้านมีความสะอาด สวยงาม เป็นครัวเรือนที่พัฒนาแล้วอย่างเป็นรูปธรรม โดยการใช้สอยพื้นที่รอบบ้านปลูกพืชผักสวนครัวกันอย่างเต็มที่ทุกหลังคาเรือน และมีการบริหารจัดการขยะ ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือน อันเป็นการขยายผลส่งเสริมการลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังที่ทำอย่างต่อเนื่อง และประการสำคัญ คือ การถ่ายทอดไปยังลูกหลานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

 “จุดมุ่งหมายสำคัญของการขับเคลื่อนอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอย่างยั่งยืน คือ การบูรณาการงานทุกอย่างในพื้นที่ภายใต้การบริหารงานของ “นายอำเภอ” ด้วยการมุ่งขับเคลื่อนการสร้าง “ทีมจิตอาสา” จาก 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ค้นหาผู้นำ 7 ภาคีให้ได้ เพื่อให้เกิด “ทีมอำเภอ” ที่มีความเข้มแข็ง และแม้ว่านายอำเภอจะย้ายไปรับราชการที่ใด หรือเกษียณอายุราชการ ทีมเหล่านี้จะยังคงมุ่งมั่นทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับอำเภอของพวกเขา เพราะพวกเขาคือคนที่มีจิตอาสาในพื้นที่ นอกจากนี้ นายอำเภอต้องพัฒนา “ทีมตามกฎหมาย” เช่น ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล พัฒนากร เกษตรตำบล สาธารณสุข และส่วนราชการอื่น ๆ ในพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็ง รู้จักหน้าที่และทุ่มเทปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่อย่างแข็งขัน รวมทั้งกระตุ้นปลุกเร้า “ทีมคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)” อันประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็งและเป็นผู้นำในการระดมสรรพกำลังไปทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน ตามเป้าหมายที่ชาวมหาดไทยทุกคนได้กำหนดร่วมกันที่จะเลือกหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาน้อยที่สุด ตำบลละ 1 หมู่บ้าน รวม 7,255 หมู่บ้าน ให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” และสำหรับหมู่บ้านอื่น ๆ ในพื้นที่ตำบล ก็ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วยกัน เพราะนายอำเภอต้องดูแลประชาชนทุกตำบล และผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดูแลประชาชนทุกอำเภอ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปลัด มท. กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนงานของชาวมหาดไทย คือ “การทำงานเชิงระบบ” ซึ่งพวกเราทุกคนในฐานะ “ราชสีห์ผู้มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน” และผู้ที่มีความตั้งอกตั้งใจที่จะทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้นำของจังหวัดต้องให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ในการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ด้วยการผลักดันให้ท่านนายอำเภอเป็น “ผู้นำทัพ” ในสนามรบของพื้นที่อำเภอ นั่นคือ “ต้องทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ทำให้ทุกอำเภอเป็น “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ที่แท้จริง ที่ประชาชนทุกครอบครัวอยู่ด้วยความรัก ความสามัคคี ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องปัจจัย 4 ซึ่ง “ถ้าทุกบ้านดี หมู่บ้านนั้นก็ดี  ถ้าทุกหมู่บ้านดี ตำบลนั้นก็ดี ถ้าทุกตำบลดีอำเภอก็จะดี” ดังบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ “MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน” ร่วมกับสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม “MOU การดำเนินโครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ร่วมกับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม และ “การประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย”

จากนั้น รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ได้ร่วมกันนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานในระดับพื้นที่ เช่น การบริหารงบประมาณตามแนวทางการเบิกจ่ายงบประมาณของสำนักงบประมาณ การเตรียมความพร้อมบริหารจัดการภัยแล้ง การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย การขับเคลื่อนสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก เพื่อลดภาวะคลอดก่อนกำหนด การเตรียมการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตลาดกลาง Green Market เพื่อชุมชน เป็นต้น

  “ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเอาใจใส่ช่วยเหลือและเอาจริงเอาจังในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการในระดับพื้นที่เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ด้วยการวาง timeline ในการสนับสนุนบทบาทของท่านนายอำเภอ เพื่อต่อยอดและขับเคลื่อนต่อเนื่องจากการที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดฝึกอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในที่ประชุมกรมการจังหวัดและการนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีผู้นำ คือ “นายอำเภอ” สามารถขับเคลื่อนเป็นไปอย่างประสบความสำเร็จและเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่” ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย

Leave a Reply